แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140(3) ศาลจะอ่านคำพิพากษาต่อหน้าคู่ความที่มาศาลเท่านั้น
การที่คู่ความมาศาล หมายถึงการมาแสดงตัวต่อศาลโดยแถลงต่อศาลให้ทราบหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานศาลเพื่อให้แจ้งให้ศาลทราบในห้องพิจารณา มิใช่มาศาลแล้วแต่ไปอยู่ที่อื่น หรือมิได้แถลงต่อศาลหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานศาลดังกล่าว เมื่อคู่ความมาศาลพร้อมแล้วจึงจะอ่านคำพิพากษาต่อหน้ากันได้ ไม่ใช่ถึงเวลานัดศาลต้องอ่านคำพิพากษาทันทีโดยที่ยังไม่ทราบว่ามีคู่ความมาศาลหรือไม่
ทนายความโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาและลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งศาล เสมียนทนายย่อมถือว่าเป็นตัวแทนของทนายความโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดี โดยมีตราประทับของงานรับฟ้องของศาลชั้นต้นลงวันเวลาในใบมอบฉันทะว่า 25 สิงหาคม 2540 เวลา 13.55นาฬิกา เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งแสดงตัวต่อศาล การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้เสมียนทนายความโจทก์ฟังฝ่ายเดียวและเสมียนทนายความโจทก์ลงลายมือชื่อไว้เช่นนี้ แม้จะอ่านล่าช้าไปบ้างเล็กน้อย ก็เป็นการอ่านคำพิพากษาโดยชอบแล้ว ส่วนการที่จำเลยมาแสดงตนว่าเป็นคู่ความหลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ศาลชั้นต้นจึงให้จำเลยลงลายมือชื่อรับทราบการอ่านอีกชั้นหนึ่งโดยให้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาต่อ กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นไม่จำต้องอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังอีก
ถ้าจำเลยมาแสดงตัวเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันเวลาที่ศาลชั้นต้นนัดไว้ แล้วศาลชั้นต้นไม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ฟังหรือศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ฟัง จำเลยก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ฟังอีกได้ ซึ่งถ้าศาลชั้นต้นไม่ได้อ่านให้ฟังจึงจะถือได้ว่าเป็นการอ่านที่ไม่ชอบ
ฎีกาโต้แย้งประเด็นในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลฎีกาในคดีหมายเลขแดงที่ 4432/2536 ของศาลฎีกา พิพากษาให้จำเลยทั้งแปดโอนขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 5574แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 25 ไร่ ตามพื้นที่ที่เช่าทำนาอยู่เดิม ในราคาไร่ละ10,000 บาท หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งแปด
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านคำพิพากษาศาลฎีกาและขอทุเลาการบังคับไว้ก่อนจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยคดีนี้ตามที่ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาไว้แล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขแดงที่ 2892/2540ของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 สิงหาคม2540 ว่านัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา เสมียนทนายโจทก์ทั้งสองมาศาลจำเลยที่ 3 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้เสมียนทนายโจทก์ทั้งสองฟัง โดยถือว่าจำเลยที่ 3 ทราบคำพิพากษาตามกฎหมายแล้ว และมีรายงานกระบวนพิจารณาต่อว่า หลังอ่านคำพิพากษาจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 มาศาลจึงได้ให้รับทราบการอ่าน
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องลงวันที่ 2 กันยายน 2540 ว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไม่ชอบ ขอให้แก้ไข
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นไปโดยชอบแล้วให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 ขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น เห็นว่าไม่จำเป็น จึงให้งด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 140(3) หรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นออกหมายนัดให้มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 25 สิงหาคม 2540 เวลา 13.30 นาฬิกาจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 มารอฟังคำพิพากษาให้ห้องพิจารณาที่ 10 แต่ไม่มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คงมีแต่บันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาต่อซึ่งทำภายหลังที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ลงลายมือชื่อในบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาแล้ว และจำเลยที่ 3 ได้รับทราบเมื่อได้เห็นสำเนาในภายหลังเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 การอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจึงมิใช่การอ่านตามหมายนัดของศาลในวันเวลาที่กำหนด มิได้อ่านต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใด เพราะมิได้อ่านต่อหน้าจำเลยที่ 3 ทั้งเสมียนทนายความโจทก์ทั้งสองมิใช่คู่ความ และมิได้อ่านข้อความทั้งหมดโดยเปิดเผย เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140(3) บัญญัติว่า”การอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้อ่านข้อความทั้งหมดในศาลโดยเปิดเผยตามเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้ต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลจดลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งหรือในรายงาน ซึ่งการอ่านนั้นและให้คู่ความที่มาศาลลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ” เห็นได้ว่า ศาลจะอ่านคำพิพากษาต่อหน้าคู่ความที่มาศาลเท่านั้นการที่คู่ความมาศาลหมายถึงการมาแสดงตัวต่อศาล โดยแถลงต่อศาลให้ทราบหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานศาลเพื่อให้แจ้งให้ศาลทราบในห้องพิจารณามิใช่มาศาลแล้วแต่ไปอยู่ที่อื่นหรือมิได้แถลงต่อศาลหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานศาลดังกล่าว เมื่อคู่ความมาศาลพร้อมแล้วจึงจะอ่านคำพิพากษาต่อหน้ากันได้ไม่ใช่ถึงเวลานัดศาลต้องอ่านคำพิพากษาทันทีโดยที่ยังไม่ทราบว่ามีคู่ความมาศาลหรือไม่ มิฉะนั้นจะไม่อยู่ในความหมายของคำว่าศาลต้องอ่านคำพิพากษาต่อหน้าคู่ความที่มาศาลดังกล่าว ปรากฏในสำนวนว่า ทนายความโจทก์ทั้งสองมอบฉันทะให้นายประสิทธิ์ คลังพหล เสมียนทนายมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาและลงลายมือชื่อทราบคำสั่งศาล เสมียนทนายย่อมถือว่าเป็นตัวแทนของทนายความโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความในคดี โดยมีตราประทับของงานรับฟ้องของศาลชั้นต้นลงวันเวลาในใบมอบฉันทะว่า 25 สิงหาคม2540 เวลา 13.55 นาฬิกา แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้แจ้งแสดงตัวต่อศาลแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้เสมียนทนายความโจทก์ทั้งสองฟังฝ่ายเดียวและเสมียนทนายความโจทก์ทั้งสองลงลายมือชื่อไว้เช่นนี้ แม้จะอ่านล่าช้าไปบ้างเล็กน้อยก็เป็นการอ่านคำพิพากษาโดยชอบ เมื่ออ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 มาแสดงตนว่าเป็นคู่ความ ศาลชั้นต้นจึงให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ลงลายมือชื่อรับทราบการอ่านอีกชั้นหนึ่งโดยให้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาต่อกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นไม่จำต้องอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ฟังอีก เพราะได้มีการอ่านคำพิพากษาโดยชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ลงลายมือชื่อรับทราบการอ่านไว้นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 3 แล้ว การที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาครั้งแรก ส่วนรายงานกระบวนพิจารณาต่อไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้นั้นฟังไม่ได้ เพราะปรากฏในสำนวนว่าจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอถ่ายสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนั้น ซึ่งมีตราประทับของงานเก็บสำนวนลงเวลาในคำร้องว่า 15 นาฬิกา แสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้รับทราบแล้วว่ามีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยที่ 3 ได้เห็นสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 28 สิงหาคม 2540 ก็มิได้ทำให้อ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมิชอบแต่อย่างใด กรณีนี้ถ้าจำเลยที่ 3 มาแสดงตัวเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันเวลาที่ศาลชั้นต้นนัดไว้ แล้วศาลชั้นต้นไม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ฟังหรือศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ฟัง จำเลยที่ 3 ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ฟังอีกได้ ซึ่งถ้าศาลชั้นต้นไม่ได้อ่านให้ฟังจึงจะถือได้ว่าเป็นการอ่านที่ไม่ชอบดังความเข้าใจของจำเลยที่ 3 แต่ก็มิได้มีหลักฐานให้ปรากฏเช่นนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาในข้ออื่น ๆ ในฎีกาข้อ 2.2 ข้อ 2.3 เรื่องการจดแจ้งเหตุที่ผู้พิพากษามิได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลฎีกาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎบัตรสหประชาชาติ เป็นฎีกาโต้แย้งประเด็นในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4432/2536 และ2892/2540 ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายืน