แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
วัตถุประสงค์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันด้วยการที่จำเลยจะโอนที่ดินให้แก่โจทก์ภายใน 6 เดือน ส่วนโจทก์ก็จะชำระราคารวมทั้งภาระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอื่นๆ ให้แก่จำเลย เมื่อคู่สัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีวัตถุประสงค์ดังกล่าว การกำหนดระยะเวลา 6 เดือนไว้จึงเป็นการกำหนดระยะเวลาให้โจทก์จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเท่านั้น หากไม่ปฏิบัติก็บังคับคดีกันไปเพื่อให้สมวัตถุประสงค์แห่งการทำสัญญาที่ต้องการให้ข้อพิพาทระหว่างกันระงับไปด้วยวิธีดังกล่าว หาใช่ว่าหากไม่ปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจะทำให้ข้อกำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความสิ้นผลไปโดยคู่สัญญาไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใด เนื่องจากไม่เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างกันตามที่โจทก์จำเลยมีเจตนาในการเข้าทำสัญญามาตั้งแต่ต้น ดังนั้น เมื่อโจทก์วางเงินจำนวน 200,000 บาท ต่อศาลแล้วแม้จะเกินเวลา 6 เดือน จำเลยจึงต้องรับเงินและมีหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติโจทก์ก็ชอบที่จะขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2542 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินจำนวนสองแปลงแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์จะชำระเงินให้แก่จำเลยจำนวน 200,000 บาท ในวันที่เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงให้โจทก์เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ส่วนค่าภาษีอากรและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน โจทก์จะเป็นผู้รับภาระเองทั้งสิ้น หากผิดนัดตามข้อตกลงดังกล่าวจำเลยยินยอมให้โจทก์ถือเอาสัญญาประนีประนอมความและคำพิพากษาตามยอมไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินแทน ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 ภายหลังพ้นกำหนด 6 เดือน ตามที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ยื่นคำร้องขอวางเงิน 200,000 บาท ต่อศาลเพื่อให้จำเลยรับไป กับขอให้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินให้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่โจทก์แทน โดยอ้างว่าจำเลยผัดผ่อนและผิดนัดการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์วางเงินดังกล่าวเพื่อชำระแก่จำเลยและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโดยผิดนัดไม่ไปรับโอนที่ดินภายในกำหนด จำเลยจึงไม่จำต้องโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สำนักงานที่ดินจังหวัดสระแก้วออกใบแทนกับจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์และจำเลยได้ทำกันไว้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความเนื่องจากไม่รับโอนที่ดินภายในกำหนดเวลา 6 เดือนหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2542 ข้อ 1 ระบุให้จำเลยจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์ตกลงชำระเงินให้จำเลยจำนวน 200,000 บาท ในวันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทหากจำเลยผิดนัด จำเลยยินยอมให้โจทก์ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองได้ทันทีและถือเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ดังนี้ วัตถุประสงค์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันด้วย การที่จำเลยจะโอนที่ดินให้แก่โจทก์ส่วนโจทก์ก็จะชำระราคารวมทั้งภาระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอื่นๆ ให้แก่จำเลย เมื่อคู่สัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีวัตถุประสงค์ดังกล่าว การกำหนดระยะเวลา 6 เดือนไว้ จึงเป็นกำหนดระยะเวลาให้โจทก์จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเท่านั้น หากไม่ปฏิบัติก็บังคับกันไปเพื่อให้สมวัตถุประสงค์แห่งการทำสัญญาที่ต้องการให้ข้อพิพาทระหว่างกันระงับไปด้วยวิธีการดังกล่าว หาใช่ว่าหากไม่ปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจะทำให้ข้อกำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความสิ้นผลไปโดยคู่สัญญาไม่จำต้องปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใด เนื่องจากไม่เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างกันตามที่โจทก์จำเลยมีเจตนาในการเข้าทำสัญญามาแต่ต้น ฉะนั้น เมื่อโจทก์วางเงินจำนวน 200,000 บาท ต่อศาลแล้วแม้จะเกินเวลา 6 เดือน จำเลยจึงต้องรับเงินและมีหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติ โจทก์ก็ชอบที่ขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ คำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในข้อนี้ชอบแล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเหตุผลตามฎีกาข้ออื่นๆ ของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน