แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 เมื่อเช็คพิพาทตกมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ในฐานะผู้ถือ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนเช็คมาโดยไม่สุจริต โจทก์จึงเป็นผู้ถือ ย่อมเป็นผู้ทรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามเช็คได้ จำเลยที่ 2 ไม่อาจต่อสู้โจทก์ด้วยข้อต่อสู้อาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 257,812.50 บาท ตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ เช็คพิพาทมิได้ประทับตราห้างจำเลยที่ 1 จึงเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้จำเลยที่ 3 ยึดถือไว้เป็นประกันในการที่จำเลยที่ 3 รับจ้างจำเลยที่ 1 สร้างฝายกั้นน้ำ โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อจำเลยที่ 3 ขนย้ายเครื่องจักรและเครื่องมือก่อสร้างเข้ามายังสถานที่ก่อสร้างแล้วจึงจะมีการทำสัญญาจ้างและประทับตราห้างจำเลยที่ 1 ในเช็คพิพาทเพื่อให้เช็คมีผลสมบูรณ์ แต่จำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท โจทก์ได้รับเช็คพิพาทไปจากจำเลยที่ 3 ด้วยวิธีการหรือเหตุผลใดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่รับทราบและตกลงด้วย โจทก์ไม่เคยสอบถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 เกี่ยวกับภาระผูกพันในเช็คพิพาท หากมีหนี้ที่จะต้องรับผิดตามเช็คพิพาทก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 3 กับโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 15 มิถุนายน 2544) ต้องไม่เกิน 7,812.50 บาท กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) สาขาวารินชำราบ ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2543 จำนวนเงิน 250,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 3 มอบเช็คพิพาทให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ปรากฏตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทหรือไม่ เห็นว่า เช็คพิพาทตามฟ้องเป็นเช็คสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918 เมื่อเช็คพิพาทตกมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ในฐานะผู้ถือ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนเช็คมาโดยไม่สุจริต โจทก์จึงเป็นผู้ถือ ย่อมเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามเช็คได้ จำเลยที่ 2 ไม่อาจต่อสู้โจทก์ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 ที่จำเลยที่ 2 ให้การในทำนองว่าระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ไม่มีหนี้สินต่อกันซึ่งเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทนั้น เป็นการต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อน ๆ ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ให้การว่าเช็คพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์เพราะไม่ประทับตราห้างจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 มีเงื่อนไขในการสั่งจ่ายเช็คนั้น ก็มิใช่เป็นการต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 3 ดัวยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาคำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นที่จำเลยที่ 2 จะนำสืบในเรื่องนี้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ผู้ทรงเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 และ 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน