แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วิชาชีพทนายความเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะผูกขาดที่ผู้ที่เป็นทนายความได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หลายประการ รวมทั้งการห้ามมิให้ผู้ที่มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้องหรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่นอย่างผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความจึงย่อมมีพันธกรณีต่อสังคมที่จะต้องปฏิบัติและดำรงตนให้ต้องกับหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในฐานะที่ทนายความมีส่วนสำคัญในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมแก่คู่ความดุจเป็นเจ้าหน้าที่ของศาล ทนายความไม่พึงทำสัญญากับลูกความของตน ในลักษณะที่ตนเองมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีจนกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
ข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยในส่วนที่ตกลงให้สินจ้างกันอีกร้อยละ 5 ของทุนทรัพย์สินสมรสที่จำเลย จะได้รับแบ่งมานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้ทนายความเข้ามีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดี จึงไม่ต้องด้วย หลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความ ย่อมถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ที่คณะกรรมการสภาทนายความ ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มิได้บัญญัติห้ามมิให้ทนายความเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความอย่าง พ.ร.บ.ทนายความสองฉบับก่อน แต่การวางระเบียบบังคับแก่ทนายความตาม พ.ร.บ.ทนายความกับความสมบูรณ์ของสัญญาระหว่างทนายความและลูกความเป็นคนละส่วนกัน การที่ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 มิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ อย่าง พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2477 และ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2508 มีผลเพียงว่าการทำสัญญาในลักษณะนี้ไม่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอันเป็นมูลจะลงโทษตามมาตรา 52 เท่านั้น หามีผลให้ข้อสัญญาซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเนื่องจากไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความกลับมี ความสมบูรณ์แต่ประการใดไม่ สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์จำเลยในส่วนนี้จึงเป็นโมฆะ
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/2542)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างว่าความพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดวันฟ้องจนกว่าได้ชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าจ้างที่ได้รับเกินไปคืน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จนกว่าได้ชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้องและให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม ๒๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ดำเนินคดีฟ้องสามีจำเลยเพื่อขอหย่า แบ่งสินสมรสและขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรโดยตกลงให้สินจ้างเป็นค่าทนายความเบื้องต้นและค่าใช้จ่ายก่อน ๕๐๐,๐๐๐ บาท กับอีกร้อยละ ๕ ของทุนทรัพย์ที่ได้รับจากการแบ่งสินสมรส จำเลยได้จ่าย ค่าทนายความเบื้องต้นดังกล่าวและค่าขึ้นศาลอีก ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์แล้ว ส่วนที่เหลือจำเลยจะชำระเมื่อจำเลยได้รับส่วนแบ่งสินสมรสแล้ว ต่อมาโจทก์ได้มอบให้ทนายความประจำของโจทก์ยื่นฟ้อง ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามประสงค์ของจำเลยและขอแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่ง และต่อมาศาลพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งสินสมรสเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งนายธวัชชัยได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาครั้งแรกเป็นที่ดินและเงินสดจำนวน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อจำเลยได้รับชำระหนี้ดังกล่าวแล้วจำเลยได้มอบเงินค่าจ้างว่าความแก่โจทก์ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเท่ากับร้อยละ ๕ ของจำนวนเงิน ที่จำเลยได้รับชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยได้รับชำระหนี้อีก ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยไม่ชำระค่าทนายความร้อยละ ๕ คิดเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์จำเลยในส่วนข้อตกลงให้สินจ้างกันอีกจำนวนร้อยละ ๕ ของทุนทรัพย์สินสมรสที่จำเลยจะได้รับแบ่งมานั้นเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า วิชาชีพทนายความเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะผูกขาดที่ผู้ ที่เป็นทนายความได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหลายประการ รวมทั้งการห้ามมิให้ผู้ที่มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้องคำให้การ ฟ้องอุทธรณ์แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้องหรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่นอย่างผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๓๓ ผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ จึงย่อมมีพันธกรณีต่อสังคมที่จะต้องปฏิบัติและดำรงตนให้ต้องกับหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในฐานะที่ทนายความมีส่วนสำคัญในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม แก่คู่ความดุจเป็นเจ้าหน้าที่ของศาล ทนายความไม่พึงทำสัญญากับลูกความของตนในลักษณะที่ตนเองมีส่วนได้เสีย โดยตรงในคดีจนกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยในส่วนที่ตกลงให้สินจ้างกันอีกร้อยละ ๕ ของทุนทรัพย์สินสมรสที่จำเลยจะได้รับแบ่งมานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้ทนายความเข้ามีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดี จึงไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความ ย่อมถือว่าเป็นข้อสัญญา ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. ๒๕๒๙ ที่คณะกรรมการสภาทนายความออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๒๘ มิได้บัญญัติห้ามมิให้ทนายความเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความอย่างพระราชบัญญัติทนายความสองฉบับแรก ในข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การวางระเบียบบังคับแก่ทนายความ ตามพระราชบัญญัติทนายความกับความสมบูรณ์ของสัญญาระหว่างทนายความและลูกความเป็นคนละส่วนกัน การที่ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. ๒๕๒๙ มิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญา เอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอย่างพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๔๗๗ และพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๐๘ มีผลเพียงว่าการทำสัญญาระหว่างทนายความและลูกความในลักษณะนี้ไม่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอันเป็นมูลจะลงโทษตามมาตรา ๕๒ เท่านั้น หามีผลให้ข้อสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเนื่องจากไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความกลับมีความสมบูรณ์แต่ประการใดไม่ สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์จำเลยในส่วนนี้จึงเป็นโมฆะ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.