คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง ซื้อขาย หนี้ ++
++ ทดสอบทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++
++
++ โจทก์ฎีกา
++
++ ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายสินค้าประเภทปุ๋ยเกษตรกรรม จำเลยที่ 2ใช้นามแฝงในทางการค้าว่า นายกิจจา บุญนำ ประกอบอาชีพรับซื้อปุ๋ยจากบริษัทผู้ค้าปุ๋ยรายอื่นเพื่อนำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายปุ๋ยเกษตรกรรม โดยซื้อปุ๋ยจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอีกทอดหนึ่ง
++ เมื่อปี 2536 จำเลยที่ 1 ขายปุ๋ยให้แก่จำเลยที่ 2 คิดเป็นเงินจำนวน 20,359,400 บาท โดยจำเลยที่ 1 ออกใบสั่งจ่ายสินค้าระบุประเภทจำนวน น้ำหนัก และชื่อที่จำเลยที่ 2 ใช้ในทางการค้า ให้แก่จำเลยที่ 2เพื่อนำไปเบิกปุ๋ยจากโกดังของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2ชำระราคาปุ๋ยด้วยการสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้า
++ ต่อมาจำเลยที่ 2 ขายปุ๋ยด้วยการส่งมอบใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวบางส่วนให้แก่โจทก์ ตามใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจ่ายสินค้าตามใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวโดยอ้างว่าเช็คชำระค่าปุ๋ยของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ซื้อปุ๋ยดังกล่าวไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้
++
++ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่
++ ที่โจทก์ฎีกาว่า การซื้อขายปุ๋ยในคดีนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดเพราะมีการชำระราคาตั้งแต่แรก และเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งคือปุ๋ยตามใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 กำหนดจำนวนน้ำหนักและขนาดบรรจุแน่นอน ไม่จำเป็นต้องนับ ชั่ง ตวงใหม่ และไม่จำต้องมากำหนดราคาที่แน่นอนใหม่
++ เห็นว่า ปุ๋ยที่จำเลยที่ 2 ตกลงซื้อจากจำเลยที่ 1เก็บอยู่ที่โกดังเก็บสินค้าของจำเลยที่ 1 ยังมิได้มีการคัดเลือกออกมาว่าปุ๋ยถุงใดจะขายให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นที่แน่นอนแล้วแต่อย่างใด กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายกันยังไม่โอนไปยังจำเลยที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460 วรรคหนึ่ง จึงมิใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
++ ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 นั้น
++ เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ขายปุ๋ยให้แก่จำเลยที่ 2 หาได้อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 ไม่ ทั้งข้ออ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนนั้นก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
++ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า เอกสารใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 เป็นทรัพยสิทธิ ไม่ใช่บุคคลสิทธิ จึงสามารถโอนเปลี่ยนมือได้ การซื้อปุ๋ยระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เป็นการโอนหนี้อันพึงต้องชำระแก่โจทก์ผู้ถือใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 313 ประกอบมาตรา 312 จำเลยที่ 1 จะยกข้อต่อสู้อันมีต่อจำเลยที่ 2 ขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริตหาได้ไม่นั้น
++ ในข้อนี้ปรากฏข้อความในใบจ่ายสินค้าด้านหน้าทุกฉบับเอกสารหมาย จ.1 ว่า “บริษัทเวิลด์เฟอท จำกัด…ใบสั่งจ่ายสินค้าเลขที่…วันที่…ใบส่งของเลขที่…เรียนหัวหน้าคลังสินค้าบริษัทเวิลด์เฟอท จำกัด (บางยอ) โปรดจ่ายสินค้าให้คุณกิจจา บุญนำ สินค้าปุ๋ยสูตร … ขนาด… กกง จำนวน…กระสอบน้ำหนัก…ตัน ได้รับสินค้าตามรายการข้างบนนี้ไว้ถูกต้องเรียบร้อยแล้วผู้รับสินค้า…ผู้ซื้อ… ผู้ตรวจสอบ…ผู้อนุมัติ…” ส่วนที่ด้านหลังใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวระบุข้อความเป็นคำเตือนของบริษัทจำเลยที่ 1และมีข้อความว่า “ลงชื่อ…ผู้โอน”
++ เมื่อได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าการซื้อขายปุ๋ยระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในปุ๋ยที่ขายยังไม่โอนมาเป็นของจำเลยที่ 2 ใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวจึงมิใช่ตราสารแสดงกรรมสิทธิ์ในสินค้าปุ๋ยอันเป็นทรัพยสิทธิจำเลยที่ 2 มีเพียงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1ส่งมอบปุ๋ยชนิด ขนาดบรรจุ จำนวน และน้ำหนักตามที่ระบุในใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวอันเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ผูกพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2เท่านั้น
++ ทั้งใบสั่งจ่ายสินค้าตามเอกสารหมาย จ.1 ก็เป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1ได้ระบุไว้ชัดเจนให้หัวหน้าคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 จ่ายสินค้าตามใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่บุคคลผู้มีชื่อคือจำเลยที่ 2 ใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวจึงมิใช่ตราสารอันพึงต้องชำระแก่ผู้ถือ ตามนัยของมาตรา 313 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
++ ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้โอนสิทธิเรียกร้องตามใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่โจทก์ไว้ที่ด้านหลังใบสั่งจ่ายสินค้าทุกฉบับตามเอกสารหมาย จ.1 หรือได้ทำเป็นหนังสือโอนหนี้อันพึงต้องชำระแก่โจทก์เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด การที่โจทก์นำใบสั่งจ่ายสินค้าตามเอกสารหมาย จ.1 ไปขอรับสินค้าจากจำเลยที่ 1ย่อมเป็นได้เพียงการทำการแทนจำเลยที่ 2 เท่านั้น โจทก์และจำเลยที่ 1จึงมิได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน
++ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยอมจ่ายสินค้าตามใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 นั้น โจทก์ก็ไม่อาจอ้างว่าถูกจำเลยที่ 1 โต้แย้งสิทธิและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ส่งมอบสินค้าตามใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดได้ขายปุ๋ยประเภทและชนิดต่าง ๆ รวมน้ำหนักทั้งสิ้นจำนวน ๑,๒๐๗ ตัน ให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยวิธีการออกใบสั่งจ่ายสินค้าจำนวน ๒๘๓ ฉบับ เพื่อนำไปเบิกปุ๋ยจากโกดังเก็บสินค้าของจำเลยที่ ๑ต่อมาระหว่างเดือนมกราคม ๒๕๓๖ ต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๒ได้ขายปุ๋ยประเภทชนิดและจำนวนดังกล่าวอันมีมูลค่าขณะฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน ๓,๘๐๓,๗๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ โดยวิธีการส่งมอบการครอบครองใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์ เรียกการค้าประเภทนี้ตามประเพณีหรือพิธีการซื้อปุ๋ยทั่วไปว่า ซื้อตั๋วหรือใบสั่งจ่ายสินค้าแทนการรับสินค้าโดยตรงและสามารถซื้อขายต่อไปได้โดยวิธีการส่งมอบการครอบครองใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวอีกต่อไปเช่นกัน ซึ่งการรับสินค้าปุ๋ยขึ้นอยู่กับผู้ถือใบสั่งจ่ายสินค้าเป็นหลัก ต่อมาโจทก์ขายปุ๋ยแต่ละชนิดแต่ละจำนวนดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นโดยวิธีการส่งมอบการครอบครองใบสั่งจ่ายสินค้าและเมื่อนำใบสั่งจ่ายสินค้าไปขอรับปุ๋ยจากจำเลยที่ ๑ ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมจ่ายปุ๋ยให้อ้างว่าลูกค้าไม่ชำระเงินตามเช็ค ทำให้โจทก์และหรือบุคคลภายนอกผู้ซื้อโดยสุจริตได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ส่งมอบปุ๋ยสูตร ๔๖-๐-๐ จำนวน ๔๒ ตัน ราคาตันละ๔,๖๐๐ บาท ปุ๋ยสูตร ๑๖-๒๐-๐ จำนวน ๑๕๐ ตัน ราคาตันละ ๔,๕๐๐ บาทปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ จำนวน ๗๘ ตัน ราคาตันละ ๕,๒๐๐ บาท และปุ๋ยสูตร๒๑-๐-๐ จำนวน ๙๓๗ ตัน ราคาตันละ ๒,๗๐๐ บาท แก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๑ส่งมอบไม่ได้หรือไม่ยอมส่งมอบปุ๋ยดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระราคาค่าปุ๋ยแทนเป็นเงินจำนวน ๓,๘๐๓,๗๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑เนื่องจากโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันเพราะไม่เคยซื้อขายสินค้าระหว่างกัน และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้เพราะโจทก์ไม่เคยซื้อหรือชำระราคาและรับโอนสิทธิในการซื้อสินค้าปุ๋ยจากจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องส่งมอบสินค้าหรือชำระราคาค่าสินค้าแก่โจทก์เนื่องจากการซื้อขายสินค้าปุ๋ยระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ นั้น กรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวยังมิได้โอนไปเพราะยังมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนโดยยังมิได้มีการนับ ชั่ง ตวงวัด หรือคัดเลือก เพื่อบ่งตัวสินค้าออกเป็นที่แน่นอน และจำเลยที่ ๑มีสิทธิยึดหน่วงสินค้าดังกล่าวไว้ได้เพราะจำเลยที่ ๒ ไม่ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลยที่ ๑ โจทก์เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิจึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้โอน สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ไม่ชอบด้วยกฎหมายและใช้บังคับจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ เนื่องจากจำเลยที่ ๑มิได้ยินยอมด้วยในการโอนสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และสัญญาซื้อขายสินค้าเป็นบุคคลสิทธิบังคับได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒เนื่องจากโจทก์กักตุนปุ๋ยเคมีไว้ในรูปของใบสั่งจ่ายสินค้าเพื่อเก็งกำไรแต่ราคาปุ๋ยไม่เพิ่มขึ้น โจทก์ไม่มีสถานที่เก็บปุ๋ย จึงนำคดีมาฟ้องอันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี คำฟ้องของโจทก์ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ เคลือบคลุม เนื่องจากโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ ๒ร่วมกับจำเลยที่ ๑ อย่างไร เมื่อใด และร่วมกันกระทำการอย่างไรอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้จำเลยที่ ๒ ไม่เข้าใจข้อหาและคำฟ้องของโจทก์ โจทก์กับจำเลยที่ ๒ ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันเนื่องจากจำเลยที่ ๒ไม่เคยร่วมกับจำเลยที่ ๑ กระทำการใดอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์และจำเลยที่ ๒ มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๑ เฉพาะในการซื้อขายระหว่างกันในฐานะที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จำหน่ายสินค้าปุ๋ยเคมีการเกษตรเท่านั้นจำเลยที่ ๒ รับว่าได้ขายสินค้าให้แก่โจทก์จริง ซึ่งเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและส่งมอบสินค้าแก่โจทก์เรียบร้อยแล้ว โจทก์กับจำเลยที่ ๒ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันอีก การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑อายัดสินค้าไว้และไม่จ่ายสินค้าแก่โจทก์โดยอ้างว่าลูกค้าไม่ชำระเงินตามเช็คและโจทก์เข้าใจเองว่าผู้ไม่ชำระเงินตามเช็คคือจำเลยที่ ๒เป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย และจำเลยที่ ๑ ก็ชอบที่จะใช้สิทธิในการดำเนินคดีต่อผู้สั่งจ่ายเช็ค การอายัดสินค้าจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเพราะจำเลยที่ ๑ ทราบดีอยู่แล้วว่าใบสั่งจ่ายสินค้าสามารถเปลี่ยนมือกันได้ในท้องตลาดและมีราคาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจำเลยที่ ๑ จึงต้องผูกพันและรับผิดชอบต่อใบสั่งจ่ายสินค้าที่ตนเป็นผู้ออกจนกว่าจะส่งมอบสินค้าตามตราสารนั้น จำเลยที่ ๒ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกใบสั่งจ่ายสินค้าและการที่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมส่งมอบปุ๋ยให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ ๒ ถูกศาลจังหวัดปฐมมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ประสงค์จะเข้าว่าคดีแทนศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า โจทก์มีชื่อเป็นภาษาจีนว่าแต้หั่งเม้ง หรือนายหั่งเม้งแซ่แต้ โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายสินค้าปุ๋ยทางเกษตรกรรม ใช้ชื่อทางการค้าว่า ร้านเกษตรไทรงามและเม่งเซียงเส็ง จำเลยที่ ๑เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ค้าขายปุ๋ยเกษตรกรรมตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.๒ จำเลยที่ ๒ ประกอบอาชีพเป็นตัวแทนขายปุ๋ยและรับซื้อปุ๋ยจากบริษัทขายปุ๋ยต่าง ๆ เพื่อนำไปขายอีกทอดหนึ่ง โดยใช้นามแฝงในทางการค้าว่า นายกิจจา บุญนำโจทก์ติดต่อในทางการค้ากับจำเลยที่ ๒ มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ เพื่อซื้อปุ๋ยของจำเลยที่ ๑ และบริษัทขายปุ๋ยรายอื่น ๆ โดยผ่านจำเลยที่ ๒แล้วนำมาจำหน่ายให้แก่ลูกค้าหรือผู้ซื้อรายอื่นอีกทอดหนึ่ง ซึ่งการซื้อขายปุ๋ยนั้นในทางปฏิบัติเมื่อโจทก์สั่งซื้อปุ๋ยของจำเลยที่ ๑ หรือบริษัทผู้ขายปุ๋ยรายอื่น ๆ ก็จะออกตั๋วหรือใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่โจทก์ผู้ซื้อและโจทก์ก็จะชำระราคาปุ๋ยให้แก่ผู้ขายนั้นไป หากโจทก์ต้องการปุ๋ย ก็จะนำตั๋วหรือใบสั่งจ่ายสินค้าไปเบิกจ่ายจากโกดังเก็บสินค้าของผู้ออกตั๋วหรือใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวแล้วนำปุ๋ยไปขายให้แก่ลูกค้าหรือผู้ซื้อรายอื่นต่อไปหรือโจทก์จะขายตั๋วหรือใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวให้แก่ลูกค้าหรือผู้ซื้อรายอื่นเพื่อนำไปเบิกปุ๋ยจากโกดังเก็บสินค้าของผู้ออกตั๋วหรือใบสั่งจ่ายสินค้าอีกทอดหนึ่งก็ได้ เมื่อระหว่างเดือนมกราคม ๒๕๓๖ ถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๖ โจทก์ซื้อปุ๋ยหรือซื้อสิทธิในการรับปุ๋ยจากจำเลยที่ ๑โดยผ่านจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ ได้ส่งมอบการครอบครองใบสั่งจ่ายสินค้าปุ๋ยของจำเลยที่ ๑ ที่ออกให้จำเลยที่ ๒ ในนามนายกิจจา บุญนำแก่โจทก์ ซึ่งใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวไม่ได้ระบุราคาไว้ แต่ระบุประเภทขนาด จำนวน น้ำหนัก และคิดราคาขณะฟ้องคดีนี้ดังนี้คือ ปุ๋ยสูตร ๔๖-๐-๐รวมจำนวน ๔๒ ตัน ราคาตันละ ๔,๖๐๐ บาท ปุ๋ยสูตร ๑๖-๒๐-๐รวมจำนวน ๑๕๐ ตัน ราคาตันละ ๔,๕๐๐ บาท ปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕รวมจำนวน ๗๘ ตัน ราคาตันละ ๕,๒๐๐ บาท และปุ๋ยสูตร ๒๑-๐-๐รวมจำนวน ๙๓๗ ตัน ราคาตันละ ๒,๗๐๐ บาท ตามใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.๑ โจทก์ได้ชำระราคาค่าปุ๋ยให้แก่จำเลยที่ ๒ แล้วโดยจ่ายรวมไปกับค่าปุ๋ยของผู้ขายสิทธิการรับปุ๋ยรายอื่นที่โจทก์สั่งซื้อมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ซึ่งโจทก์ชำระราคาค่าปุ๋ยดังกล่าวด้วยการสั่งจ่ายเช็คเงินสดหรือเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือ เป็นเช็คของธนาคารนครหลวงไทยจำกัด สาขาบางเลน รวมเป็นเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินได้เรียบร้อยแล้ว ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.๘ สำหรับการสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวนั้นโจทก์มีเงื่อนไขข้อตกลงกับธนาคารเจ้าของเช็คว่า หากโจทก์สั่งจ่ายเช็คไม่เกินวงเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์จะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเป็นภาษาไทย แต่ถ้าเกินวงเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์จะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเป็นภาษาจีน ตามสำเนาตัวอย่างลายมือชื่อเอกสารหมาย จ.๗และ ป.จ.๑ (ศาลจังหวัดนครปฐม) ก่อนที่โจทก์จะซื้อใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวจากจำเลยที่ ๒ โจทก์ได้โทรศัพท์ไปถามนายประคอง บุญวิวัฒน์กรรมการบริษัทจำเลยที่ ๑ ว่าซื้อได้หรือไม่ ซึ่งนายประคองแจ้งว่าถ้าไม่ใช่ตั๋วเขียน ให้ซื้อได้ โจทก์จึงตกลงซื้อใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวและซื้อเพราะเชื่อว่าสามารถเบิกปุ๋ยจากบริษัทผู้ขายได้ ซึ่งตามปกติในทางการค้าปุ๋ยแล้วใบสั่งจ่ายสินค้าสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ โดยไม่เคยมีการลงลายมือชื่อชื่อสลักหลังใบสั่งจ่ายสินค้า แต่ก็สามารถนำไปเบิกปุ๋ยจากบริษัทผู้ขายได้ตลอดมาผู้ใดถือใบสั่งจ่ายสินค้าก็สามารถเบิกปุ๋ยจากโกดังของผู้ขายได้ ซึ่งบริษัทผู้ขายจะดูใบสั่งจ่ายสินค้าเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงว่าจะมีผู้สลักหลังหรือไม่และแม้ระยะเวลาจะนานเป็น ๒ ถึง ๓ ปี ก็สามารถเบิกได้ การซื้อขายปุ๋ยดังกล่าวไม่มีสัญญาซื้อขายแต่อย่างใด ต่อมาโจทก์ได้ขายใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวให้แก่ลูกค้าไปทั้งหมด แต่ปรากฏว่าลูกค้าไม่สามารถเบิกปุ๋ยจากจำเลยที่ ๑ได้ จำเลยที่ ๑ อ้างว่ายังไม่ได้รับเงินค่าปุ๋ยตามใบสั่งจ่ายสินค้าลูกค้าจึงคืนใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวทั้งหมดแก่โจทก์ และโจทก์คืนเงินให้แก่ลูกค้าไปโจทก์สอบถามจำเลยที่ ๒ และได้รับแจ้งจากจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ได้ชำระเงินค่าปุ๋ยแก่จำเลยที่ ๑ แล้ว หลังจากนั้นโจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ส่งมอบปุ๋ยแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองต่างก็บ่ายเบี่ยงว่าให้ทวงถามเอาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง ซึ่งก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามพร้อมแนบสำเนาใบสั่งจ่ายสินค้าไปยังจำเลยที่ ๑ แล้วตามหนังสือทวงถามพร้อมใบตอบรับภายในประเทศ ใบรับฝาก และสำเนารายการใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.๓ จ.๕ จ.๖ และ จ.๙ จำเลยที่ ๑มีหนังสือตอบกลับมายังทนายโจทก์ว่า ลูกค้าไม่ปฏิบัติตามสัญญาคือลูกค้าไม่ชำระเงินตามเช็ค จึงใช้สิทธิอายัดใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าว ตามหนังสือขอชี้แจงใบสั่งจ่ายสินค้า (ปุ๋ย) ของบริษัทจำเลยที่ ๑ เอกสารหมาย จ.๔ ส่วนจำเลยที่ ๒ นั้นโจทก์ทวงถามเป็นวาจาด้วยตนเองเพราะขณะนั้นจำเลยที่ ๒ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำจังหวัดธัญบุรี ปัจจุบันจำเลยที่ ๒ ถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับเช็ค ตามสำเนาคำฟ้อง สำเนาคำให้การพยานโจทก์และพยานเอกสารในคดีดังกล่าวเอกสารหมาย จ.๑๐ ถึง จ.๑๔
จำเลยที่ ๑ นำสืบว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีนายประคอง บุญวิวัฒน์ เป็นกรรมการ ๑ ใน ๕ คนมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตลาด ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.๒จำเลยที่ ๒ ใช้นามแฝงในทางการค้าว่า นายกิจจา บุญนำ และเป็นลูกค้าที่มาสั่งซื้อปุ๋ยจากจำเลยที่ ๑ เมื่อจำเลยที่ ๒ สั่งซื้อปุ๋ยจากจำเลยที่ ๑จะให้จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อไว้ในใบสั่งสินค้าเพื่อรับใบสั่งจ่ายสินค้าจากจำเลยที่ ๑ ไป ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการส่งมอบปุ๋ยให้แก่กัน แต่ออกใบสั่งจ่ายสินค้าให้เพื่อความสะดวกในการรับสินค้าโดยต้องนำไปแสดงที่โกดังเก็บสินค้าของจำเลยที่ ๑ เพื่อขอรับสินค้าตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวซึ่งสั่งจ่ายให้ในนามนายกิจจา บุญนำ สำหรับการซื้อขายปุ๋ยนั้นจำเลยที่ ๑ จะให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ ๒ มีระยะเวลา ๖๐ วัน ๔๐ วัน และ๑๒๐ วัน แล้วแต่กรณี นับแต่วันที่จำเลยที่ ๒ รับใบสั่งจ่ายสินค้าไปเมื่อประมาณปี ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๒ ซื้อสินค้าปุ๋ยจากจำเลยที่ ๑ เป็นเงินจำนวน๒๐,๓๕๙,๔๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๑ ได้ออกใบสั่งจ่ายสินค้าปุ๋ยให้แก่จำเลยที่ ๒ เพื่อเป็นหลักฐานในการไปขอรับสินค้าจากโกดังของจำเลยที่ ๑และจำเลยที่ ๒ ได้ชำระค่าปุ๋ยด้วยการสั่งจ่ายเช็คลงวันที่สั่งจ่ายล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๒ นำใบสั่งจ่ายสินค้าไปเบิกปุ๋ยจากจำเลยที่ ๑ คิดเป็นเงินจำนวน ๙,๕๕๓,๙๙๒ บาท แต่เมื่อเช็คที่จำเลยที่ ๒สั่งจ่ายชำระหนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระสามารถเรียกเก็บเงินได้จำนวนเพียง๕,๑๕๐,๙๐๐ บาท ส่วนอีกจำนวน ๔,๔๐๓,๐๙๒ บาท ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้อันเป็นราคาค่าปุ๋ยที่จำเลยที่ ๒ ยังคงค้างชำระอยู่ ต่อมาจำเลยที่ ๑ได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ และนางอมรวรรณ ชูกิตติวิบูลย์ ภริยาจำเลยที่ ๒ที่ศาลแพ่งเพื่อให้ชำระหนี้ส่วนที่ค้างชำระดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.๑๐สำหรับใบสั่งจ่ายสินค้าปุ๋ยส่วนที่จำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้นำมาเบิกปุ๋ยจากจำเลยที่ ๑ คิดเป็นเงินจำนวน ๑๐,๘๕๐,๔๐๘ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๒ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อชำระค่าสินค้าแก่จำเลยที่ ๑นั้น เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ ๑ จึงอายัดปุ๋ยจำนวนดังกล่าวนั้นไว้ แล้วนำเช็คดังกล่าวไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ ๒ ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ เป็นคดีอาญาที่ศาลจังหวัดปทุมธานีและศาลแขวงนนทบุรีและคดีอยู่ระหว่างพิจารณา สำหรับรายการค้างชำระราคาค่าปุ๋ยของจำเลยที่ ๒ นั้น จำเลยที่ ๑ ได้จัดทำบัญชีแสดงรายการไว้ ตามรายการค้างชำระค่าปุ๋ยเอกสารหมาย ล.๓ หลังจากจำเลยที่ ๑ อายัดปุ๋ยตามใบสั่งจ่ายสินค้าส่วนที่เหลือดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ ๒ ได้นำใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวไปมอบให้แก่โจทก์ส่วนหนึ่งซึ่งได้แก่ใบสั่งจ่ายสินค้าตามเอกสารหมาย จ.๑ และมอบให้แก่นายประสิทธิ์ โรจนภานุกรอีกส่วนหนึ่งซึ่งนายประสิทธิ์ก็ได้นำใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวไปฟ้องจำเลยที่ ๑และที่ ๒ ให้ร่วมกันรับผิดที่ศาลแพ่งและคดีอยู่ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๑เคยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบถึงเหตุที่ต้องอายัดใบสั่งจ่ายสินค้าไว้ตามหนังสือขอชี้แจงใบสั่งจ่ายสินค้า (ปุ๋ย) ของบริษัทจำเลยที่ ๑เอกสารหมาย จ.๔ จำเลยที่ ๑ มีสิทธิยึดหน่วงสินค้าไว้จนกว่าจำเลยที่ ๒จะชำระค่าสินค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๑ และกรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวยังเป็นของจำเลยที่ ๑ เพราะยังไม่มีการนับ ชั่ง ตวง วัด สำหรับการนำใบสั่งจ่ายสินค้ามาเบิกปุ๋ยที่โกดังสินค้าของจำเลยที่ ๑ นั้นในทางปฏิบัติหากจะให้ผู้อื่นมาขอรับสินค้าแทน ไม่จำต้องสลักหลังใบสั่งจ่ายสินค้า แต่ถือว่าผู้มีชื่อในใบสั่งจ่ายสินค้าเป็นผู้มารับสินค้าดังกล่าวเองต่อมาศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ ๒ แล้วตามสำเนาคำสั่งศาลจังหวัดนครปฐมในคดีหมายเลขแดงที่ ล.๘/๒๕๓๙เอกสารหมาย ล.๔
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ตามที่โจทก์และจำเลยที่ ๑ ไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายสินค้าประเภทปุ๋ยเกษตรกรรม จำเลยที่ ๒ใช้นามแฝงในทางการค้าว่า นายกิจจา บุญนำ ประกอบอาชีพรับซื้อปุ๋ยจากบริษัทผู้ค้าปุ๋ยรายอื่นเพื่อนำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายปุ๋ยเกษตรกรรม โดยซื้อปุ๋ยจากจำเลยที่ ๒ เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอีกทอดหนึ่ง เมื่อปี ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๑ ขายปุ๋ยให้แก่จำเลยที่ ๒ คิดเป็นเงินจำนวน ๒๐,๓๕๙,๔๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๑ ออกใบสั่งจ่ายสินค้าระบุประเภทจำนวน น้ำหนัก และชื่อที่จำเลยที่ ๒ ใช้ในทางการค้า ให้แก่จำเลยที่ ๒เพื่อนำไปเบิกปุ๋ยจากโกดังของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ชำระราคาปุ๋ยด้วยการสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ต่อมาจำเลยที่ ๒ ขายปุ๋ยด้วยการส่งมอบใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวบางส่วนให้แก่โจทก์ ตามใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.๑ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมจ่ายสินค้าตามใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวโดยอ้างว่าเช็คชำระค่าปุ๋ยของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ซื้อปุ๋ยดังกล่าวไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า การซื้อขายปุ๋ยในคดีนี้ระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดเพราะมีการชำระราคาตั้งแต่แรก และเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งคือปุ๋ยตามใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.๑ กำหนดจำนวนน้ำหนักและขนาดบรรจุแน่นอน ไม่จำเป็นต้องนับ ชั่ง ตวงใหม่ และไม่จำต้องมากำหนดราคาที่แน่นอนใหม่ เห็นว่า ปุ๋ยที่จำเลยที่ ๒ ตกลงซื้อจากจำเลยที่ ๑เก็บอยู่ที่โกดังเก็บสินค้าของจำเลยที่ ๑ ยังมิได้มีการคัดเลือกออกมาว่าปุ๋ยถุงใดจะขายให้แก่จำเลยที่ ๒ เพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นที่แน่นอนแล้วแต่อย่างใด กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายกันยังไม่โอนไปยังจำเลยที่ ๒ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๖๐ วรรคหนึ่ง จึงมิใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ ๑ นั้น เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ ขายปุ๋ยให้แก่จำเลยที่ ๒ หาได้อ้างว่าจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ ๑ ไม่ ทั้งข้ออ้างว่าจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนนั้นก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า เอกสารใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.๑ เป็นทรัพยสิทธิ ไม่ใช่บุคคลสิทธิ จึงสามารถโอนเปลี่ยนมือได้ การซื้อปุ๋ยระหว่างจำเลยที่ ๒ กับโจทก์เป็นการโอนหนี้อันพึงต้องชำระแก่โจทก์ผู้ถือใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๑๓ ประกอบมาตรา ๓๑๒ จำเลยที่ ๑ จะยกข้อต่อสู้อันมีต่อจำเลยที่ ๒ ขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริตหาได้ไม่นั้น ในข้อนี้ปรากฏข้อความในใบจ่ายสินค้าด้านหน้าทุกฉบับเอกสารหมาย จ.๑ ว่า “บริษัทเวิลด์เฟอท จำกัด…ใบสั่งจ่ายสินค้าเลขที่…วันที่…ใบส่งของเลขที่…เรียนหัวหน้าคลังสินค้าบริษัทเวิลด์เฟอท จำกัด (บางยอ) โปรดจ่ายสินค้าให้คุณกิจจา บุญนำ สินค้าปุ๋ยสูตร … ขนาด… กกง จำนวน…กระสอบน้ำหนัก…ตัน ได้รับสินค้าตามรายการข้างบนนี้ไว้ถูกต้องเรียบร้อยแล้วผู้รับสินค้า…ผู้ซื้อ… ผู้ตรวจสอบ…ผู้อนุมัติ…” ส่วนที่ด้านหลังใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวระบุข้อความเป็นคำเตือนของบริษัทจำเลยที่ ๑และมีข้อความว่า “ลงชื่อ…ผู้โอน” เมื่อได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าการซื้อขายปุ๋ยระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในปุ๋ยที่ขายยังไม่โอนมาเป็นของจำเลยที่ ๒ ใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวจึงมิใช่ตราสารแสดงกรรมสิทธิ์ในสินค้าปุ๋ยอันเป็นทรัพยสิทธิดังที่โจทก์อ้างในฎีกา จำเลยที่ ๒ มีเพียงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ส่งมอบปุ๋ยชนิด ขนาดบรรจุ จำนวน และน้ำหนักตามที่ระบุในใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวอันเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ผูกพันกันระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒เท่านั้น ทั้งใบสั่งจ่ายสินค้าตามเอกสารหมาย จ.๑ ก็เป็นเอกสารที่จำเลยที่ ๑ได้ระบุไว้ชัดเจนให้หัวหน้าคลังสินค้าของจำเลยที่ ๑ จ่ายสินค้าตามใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่บุคคลผู้มีชื่อคือจำเลยที่ ๒ ใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวจึงมิใช่ตราสารอันพึงต้องชำระแก่ผู้ถือ ตามนัยของมาตรา ๓๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้โอนสิทธิเรียกร้องตามใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่โจทก์ไว้ที่ด้านหลังใบสั่งจ่ายสินค้าทุกฉบับตามเอกสารหมาย จ.๑ หรือได้ทำเป็นหนังสือโอนหนี้อันพึงต้องชำระแก่โจทก์เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด การที่โจทก์นำใบสั่งจ่ายสินค้าตามเอกสารหมาย จ.๑ ไปขอรับสินค้าจากจำเลยที่ ๑ย่อมเป็นได้เพียงการทำการแทนจำเลยที่ ๒ เท่านั้น โจทก์และจำเลยที่ ๑จึงมิได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมจ่ายสินค้าตามใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.๑ นั้น โจทก์ก็ไม่อาจอ้างว่าถูกจำเลยที่ ๑ โต้แย้งสิทธิและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้ส่งมอบสินค้าตามใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.๑ ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share