คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา(ก)

ย่อสั้น

การกู้เงินกันรายเดียว แต่ทำหนังสือเป็นหลักฐานสองฉบับ โดยผู้ให้กู้ให้กู้ยืมเงิน 7,000 บาท และตกลงกันว่า ถ้าผู้กู้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดให้ผู้ให้กู้ฟ้องเอาได้ 14,000 บาทนั้น เห็นได้ว่าประโยชน์ที่ผู้ให้กู้ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรจึงเป็นการที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดขกฎหมาย การเรียกดอกเบี้ยและกำไรอื่นจึงเป็นโมฆะ ผู้กู้จึงยังคงต้องรับผิดเฉพาะเงินต้น 7,000 บาทที่กู้ไปเท่านั้น ส่วนผู้ค้ำประกันเงินกู้ 14,000 บาท มิใช่ค้ำประกันเงินกู้ 7,000 บาท จึงหาต้องรับผิดด้วยไม่

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำหนังสือกู้เงินโจทก์ไป 14,000 บาท จำเลยที่ 2 ค้ำประกัน ครบกำหนดจำเลยไม่ใช้ต้นเงินและดอกเบี้ย จึงขอให้บังคับ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงิน 14,000 บาท แต่ได้รับเงินไปเพียง 7,000 บาทสมดังจำเลยต่อสู้ จำเลยที่ 2 ค้ำประกันเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ การค้ำประกันย่อมไม่สมบูรณ์จำเลยที่ 1 ไม่ต้องใช้เงิน จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงิน 14,000 บาท ไปครบถ้วนแล้ว คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้หรือไม่ว่าสัญญากู้เงินเป็นนิติกรรมอำพราง พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินต้น 14,000 บาท กับดอกเบี้ยก่อนฟ้อง 5 ปี 4,000 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เสร็จให้โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้ก็ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นการกู้เงินกันรายเดียว โดยมีหนังสือเป็นหลักฐานการกู้ 2 ฉบับ ซึ่งเมื่ออ่านรวมกันแล้วจะได้ความว่า การกู้เงินกันนี้ จำเลยที่ 1 กู้โจทก์เป็นเงิน 7,000 บาท กำหนดใช้คืนโดยมีข้อตกลงกันว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้คืนตามกำหนด ก็ยอมให้โจทก์ฟ้องเอาเงินจากจำเลยที่ 1 ได้ 14,000บาท ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงิน 7,000 บาท ตามกำหนด โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ให้ใช้เงิน 14,000 บาท
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้เงินก็เพื่อได้ประโยชน์เป็นดอกเบี้ย ดังนั้น การที่ตกลงกันว่า ถ้าไม่ชำระเงิน 7,000 บาท ในกำหนด ก็ให้ผู้ให้กู้ฟ้องเอาได้เป็นเงิน 14,000 บาท และเมื่อจำเลยไม่ชำระต้นเงิน 7,000 บาท คืนตามกำหนด โจทก์ผู้ให้กู้ก็ฟ้องเรียกเก็บเงิน 14,000 บาทกับดอกเบี้ยเงินจำนวนนี้อัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนั้น เมื่อมิได้มีหลักฐานให้เห็นเป็นอย่างอื่นก็ต้องฟังว่า นอกจากดอกเบี้ย โจทก์ได้กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งกำไรอื่นเป็นเงินถึง 7,000 บาท จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืม จึงเป็นการที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ค) ดังนั้น การเรียกดอกเบี้ยและกำไรอื่นดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งค้ำประกันเงินกู้เฉพาะตามเอกสาร จ.1 มิใช่ค้ำประกันเงินกู้ 7,000 บาท จึงไม่ต้องรับผิดชอบในจำนวนเงิน 7,000 บาท ที่จำเลยกู้ไปนั้น คดีไม่จำต้องพิจารณาปัญหาข้ออื่นต่อไป
พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ใช้เฉพาะต้นเงินโจทก์ 7,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะตัวจำเลยที่ 2 เสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share