คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2751/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังจากจำเลยปลดสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยลากโจทก์ร่วมไปกลางกระต๊อบเพื่อไม่ให้คนเห็น แล้วจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายโดยชกปากชกท้องโจทก์ร่วมและข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม ความผิดฐานชิงทรัพย์จึงสำเร็จตั้งแต่จำเลยปลดเอาสร้อยคำทองคำของโจทก์ร่วมไปแล้ว เจตนาข่มขืนกระทำชำเราเกิดขึ้นภายหลังการชิงทรัพย์สำเร็จแล้ว บาดแผลที่ริมฝีปากของโจทก์ร่วมตามผลการชันสูตรบาดแผลเกิดจากการข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้ายไม่ได้เกิดจากการชิงทรัพย์ส่วนที่ข้อมือทั้งสองข้างของโจทก์ร่วมมีรอยแดง ๆ เชื่อว่าเกิดจากจำเลยใช้สายกางเกงของโจทก์ร่วมมัดข้อมือทั้งสองข้างของโจทก์ร่วมไว้ถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกในการลักเอาสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วม อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แต่อาการบาดเจ็บเพียงรอยแดง ๆ ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 339และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 6,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานางสาว อ. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคแรก, 339 วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำคุก 15 ปี ฐานชิงทรัพย์ จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 25 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 6,000 บาท แก่ผู้เสียหาย (ที่ถูกโจทก์ร่วม)

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2541 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ขณะนางสาว อ. โจทก์ร่วมนอนอ่านหนังสืออยู่ในกระต๊อบเลี้ยงกุ้งห่างจากบ้านประมาณ 300 เมตร ได้มีคนร้ายขึ้นมาบนกระต๊อบ ชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท 1 เส้น ราคา 5,000 บาท และพระเครื่องเลี่ยมทองคำ 1 องค์ ราคา 1,000 บาท ของโจทก์ร่วมไป และคนร้ายได้ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนโจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บ เมื่อคนร้ายหลบหนีไปแล้วโจทก์ร่วมกลับไปบ้านร้องให้คนช่วย นาย จ. บิดาโจทก์ร่วม และนาย พ. น้องโจทก์ร่วมขับรถจักรยานยนต์ออกติดตามคนร้ายไปทางถนนสุขุมวิทสายเก่า พบจำเลยกำลังเดินข้ามถนนไปทางฝั่งคลองชลประทาน นาย จ. และนาย พ. จึงควบคุมตัวจำเลยส่งเจ้าพนักงานตำรวจปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยเป็นคนร้ายชิงทรัพย์และข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมหรือไม่ โจทก์มีโจทก์ร่วมเบิกความเป็นพยานว่าจำเลยเป็นคนร้ายชิงทรัพย์และข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม ตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมได้ความว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมใช้มือกระชากหมวกที่จำเลยสวมคลุมหน้าจนหมวกขาดถึงปลายคาง จำเลยลากโจทก์ร่วมไปกลางกระต๊อบพลิกตัวโจทก์ร่วมนอนหงาย และข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม เห็นว่า เหตุการณ์และการกระทำของจำเลยในช่วงนี้ย่อมทำให้โจทก์ร่วมมีโอกาสเห็นหน้าจำเลยในระยะใกล้ชิดนานพอสมควร ทั้งได้ความว่าโจทก์ร่วมเคยเห็นหน้าจำเลยมาก่อนนานนับสิบปี หลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมวิ่งกลับบ้านพบกับนาง ว. มารดาโจทก์ร่วม นาย จ. บิดาโจทก์ร่วม และนาย พ.น้องโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมบอกกับบุคคลทั้งสามทันทีว่าถูกจำเลยชิงทรัพย์และข่มขืนกระทำชำเรา จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมเห็นและจำหน้าจำเลยได้ นอกจากนี้โจทก์ร่วมยังเบิกความอีกว่าหลังจากจำเลยลงจากกระต๊อบไปแล้ว โจทก์ร่วมแอบดูที่รูข้างฝาเห็นจำเลยยืนอยู่ห่างกระต๊อบประมาณ 6 ถึง 7 เมตร หลังจากนั้นประมาณ 2 นาทีโจทก์ร่วมแก้มัดเท้าออกได้ จึงแอบดูอีกครั้งหนึ่ง เห็นจำเลยอยู่ห่างกระต๊อบไปประมาณ20 เมตร โจทก์ร่วมวิ่งกลับบ้านและเรียกให้มารดาช่วย นาง ว. นาย จ. และนาย พ.ออกจากบ้านมาหาโจทก์ร่วมก่อนจะถึงบ้านประมาณ 80 เมตร โจทก์ร่วมบอกว่าถูกจำเลยชิงทรัพย์และข่มขืนกระทำชำเราพร้อมทำหน้าบอกทิศทางที่จำเลยหลบหนีซึ่งขณะนั้นยังสามารถมองเห็นจำเลยได้ ตั้งแต่เกิดเหตุจนพบกับนาง ว. นาย จ. และนาย พ. จำเลยอยู่ในสายตาของโจทก์ร่วมตลอดเวลา เส้นทางที่จำเลยหลบหนีเป็นนากุ้งเป็นที่โล่งไม่มีสิ่งบังตา และเป็นเส้นทางออกสู่ถนนสุขุมวิท นาย จ. และนาย พ.เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า มองไปทางทิศที่โจทก์ร่วมบอก เห็นชายสวมเสื้อและกางเกงสีน้ำเงินสวมหมวกสีขาวเดินอยู่บนคันบ่อคนเดียวมุ่งหน้าสู่ถนนสุขุมวิทจึงขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปจนถึงถนนสุขุมวิท พบชายคนดังกล่าวกำลังเดินข้ามถนนสุขุมวิทและไปแอบที่ต้นไม้ข้างถนน นาย พ. กับนาย จ. จึงช่วยกันควบคุมตัวชายคนดังกล่าวไว้ได้ ปรากฏว่าชายดังกล่าวนั้นคือจำเลย เห็นได้ว่าเส้นทางที่จำเลยหลบหนีเป็นที่โล่งไม่มีสิ่งบังตา นาย จ. และนาย พ. เห็นและจับตามมองชายคนดังกล่าวตั้งแต่โจทก์ร่วมบอก และติดตามไปโดยไม่คลาดสายตาจนควบคุมตัวจำเลยได้ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่าบอกนาง ว. นาย จ. และนาย พ. ว่าชายที่กำลังหลบหนีนั้นคือจำเลย นาย จ. และนาย พ. ตามไปควบคุมตัวจำเลยขณะกำลังเดินข้ามถนนสุขุมวิท และจำเลยไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่ต้นไม้ข้างทางเชื่อว่าจำเลยต้องเห็นนาย จ. กับนาย พ. และรู้ว่ากำลังถูกทั้งสองคนติดตาม เมื่อนาย พ. เข้าไปหาจำเลยจำเลยได้ใช้เหล็กเกี่ยวปูตีทำร้ายนาย พ. ซึ่งหากจำเลยไม่ได้กระทำผิดแล้วจำเลยไม่จำต้องหลบซ่อนหรือทำร้ายนาย พ. พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายชิงทรัพย์ และข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมส่วนที่จำเลยอ้างว่านาย จ. ไม่พอใจจำเลยที่เดินผ่านบ่อกุ้งของนาย จ. จึงแกล้งกล่าวหาจำเลยเป็นคดีนี้นั้น เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจนั้น โจทก์ร่วมเบิกความว่า เมื่อจำเลยขึ้นมาบนกระต๊อบ จำเลยกดตัวโจทก์ร่วมให้นอนคว่ำ ใช้สายกางเกงของโจทก์ร่วมมัดมือโจทก์ร่วมไพล่หลัง และปลดสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วม เสร็จแล้วลากตัวโจทก์ร่วมไปที่กลางกระต๊อบพ้นจากช่องว่างของข้างฝาเพื่อไม่ให้คนเห็น จำเลยจับโจทก์ร่วมนอนหงาย โจทก์ร่วมร้องให้คนช่วย จำเลยจึงชกปากชกท้อง บีบคอ ใช้ผ้าขนหนูปิดปากและรัดคอโจทก์ร่วม จำเลยถอดกางเกงและกางเกงในของโจทก์ร่วมไปมัดไว้ที่เท้าโจทก์ร่วม จำเลยเปิดเสื้อยืด เสื้อชั้นในของโจทก์ร่วมขึ้น และกระทำชำเราโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บมีรอยแดง ๆ บริเวณข้อมือทั้งสองข้าง ริมฝีปากบนและริมฝีปากล่างแตก ตามผลการชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.3 เห็นว่า หลังจากจำเลยปลดสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยจึงลากโจทก์ร่วมไปกลางกระต๊อบเพื่อไม่ให้คนเห็น แล้วจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายโดยชกปากชกท้องโจทก์ร่วม และข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม ความผิดฐานชิงทรัพย์จึงสำเร็จตั้งแต่จำเลยปลดเอาสร้อยคำทองคำของโจทก์ร่วมไปแล้ว เจตนาข่มขืนกระทำชำเราเกิดขึ้นภายหลังการชิงทรัพย์สำเร็จแล้วบาดแผลที่ริมฝีปากของโจทก์ร่วมตามผลการชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2และ 3 เกิดจากการข่มขืนกระทำชำเรา โดยใช้กำลังประทุษร้าย ไม่ได้เกิดจากการชิงทรัพย์ส่วนที่ข้อมือทั้งสองข้างของโจทก์ร่วมมีรอยแดง ๆ ตามผลการชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 เชื่อว่า เกิดจากจำเลยใช้สายกางเกงของโจทก์ร่วมมัดข้อมือทั้งสองข้างของโจทก์ร่วมไว้ ถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อสะดวกในการลักเอาสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วม อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่อาการบาดเจ็บเพียงรอยแดง ๆดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339วรรคแรก จำคุก 7 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 15 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเราตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้วคงจำคุก 22 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share