คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2599/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน การที่จำเลยนำที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงไม่ชอบ ศาลมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 และตราบใดที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ยังไม่ถูกเพิกถอนย่อมถือว่าการละเมิดยังมีอยู่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 63 ตำบลตาดทอง อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันอำเภอเมืองยโสธรจังหวัดยโสธร) ระบุเนื้อที่ในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) จำนวน 13 ไร่ แต่มีเนื้อที่จริงประมาณ 20 ไร่ โจทก์แบ่งที่ดินดังกล่าวทางด้านทิศใต้ให้นางสมศรี แสงอุ่นภริยาจำเลย นางบังอร วัตรสาร และนางอุดม ดงบัง บุตรโจทก์ทั้ง 3 คน ใช้เป็นที่นาทำกินคนละประมาณ 2 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลือโจทก์ใช้ทำกินกับภริยา ประมาณปี 2521ทางราชการได้ประกาศให้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ สำหรับผู้ครอบครองที่ดินมือเปล่า โจทก์จึงไปยื่นเรื่อง เจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 941 ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ให้โจทก์ โดยโจทก์เข้าใจว่าได้ออกให้ตามจำนวนเนื้อที่จริงของที่ดินซึ่งรวมที่ดินพิพาท ส่วนที่โจทก์ให้บุตรทั้ง 3 คน ทำกินไว้ด้วย โจทก์มาทราบเมื่อปี 2539 ว่าจำเลยได้นำที่ดินพิพาทไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตั้งแต่ปี 2521 คือหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 942 ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ในนามของจำเลยโดยโจทก์ไม่ทราบมาก่อนและไม่เคยยกที่ดินพิพาทให้จำเลย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทจำนวน 6 ไร่ 47 ตารางวา ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 942 ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เป็นของโจทก์ ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 942 ดังกล่าว ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามเกี่ยวข้องรบกวนต่อไป

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 63 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 941 ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ไม่ใช่ที่ดินแปลงเดียวกันเพราะตั้งอยู่คนละหมู่บ้าน ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 942 ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 47 ตารางวา นั้นเดิมเป็นของโจทก์จริงแต่ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินไว้ และโจทก์ยกที่ดินพิพาทดังกล่าวให้จำเลยแล้วเมื่อปี 2513 ขณะที่จำเลยมาแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภริยากับนางสมศรี แสงอุ่น บุตรสาวโจทก์โดยจำเลยได้มอบเงินจำนวน 10,000 บาท ให้โจทก์เป็นการตอบแทน หลังจากนั้นจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอด ไม่มีผู้ใดเข้ามาเกี่ยวข้องรบกวนและได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา ในปี 2521 ที่ทางราชการประกาศให้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยได้ยื่นเรื่องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2521 ซึ่งโจทก์เองก็ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินที่ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินไว้ในวันดังกล่าวเช่นกัน และทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 941 ให้โจทก์ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 942 ให้จำเลยสำหรับที่ดินพิพาทโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านและจำเลยได้ครอบครองเรื่อยมา ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยไม่ใช่ของโจทก์ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 942 ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร อีกต่อไป

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 63 ตำบลตาดทอง อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันจังหวัดยโสธร) กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 941 ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน เหตุที่ที่ตั้งที่ดินอยู่คนละหมู่บ้านเพราะทางราชการเปลี่ยนแปลงภายหลัง จำเลยไม่เคยมอบเงิน 10,000 บาท ให้โจทก์และโจทก์ไม่เคยยกที่ดินพิพาทให้จำเลยแต่ได้แบ่งให้นางสมศรี แสงอุ่น บุตรโจทก์ซึ่งเป็นภริยาจำเลยกับนางบังอร วัตรสาร และนางอุดม ดงบัง บุตรโจทก์อีก 2 คน ทำนาคนละ 2 ไร่ โจทก์เพิ่งทราบเรื่องที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อปี 2539 ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางลี วัตรสาร ภริยาโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 942 ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธรส่วนที่อยู่ทางด้านทิศเหนือที่มีคันนาเป็นแนวเขตตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.2เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ เป็นของโจทก์ และส่วนที่อยู่ทางด้านทิศใต้ที่มีคันนาเป็นแนวเขตตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.2 เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เป็นของจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนของโจทก์และห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนของจำเลย ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 942 ดังกล่าวข้างต้นเฉพาะส่วนทางด้านทิศเหนือเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ที่มีคันนาเป็นแนวเขตอยู่ตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.2 คำขออื่นของโจทก์และของจำเลยนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์มีที่ดิน 1 แปลงโดยได้รับมรดกมาจากบิดามารดา โจทก์มีบุตร 7 คน นางสมศรีแสงอุ่น ภริยาจำเลยเป็นบุตรคนหนึ่งของโจทก์ โจทก์ให้จำเลยและนางสมศรีปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ เมื่อประมาณปี 2514 โจทก์แบ่งที่ดินบางส่วนทางด้านทิศใต้ซึ่งเป็นที่นาให้จำเลยกับนางสมศรีทำนา ต่อมาในปี 2521 ทั้งโจทก์และจำเลยได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 941 เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 55 ตารางวา จำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 942 เนื้อที่ 6 ไร่ 47 ตารางวา คือที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยและกรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 942หรือไม่ สำหรับที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยครอบครองอยู่ทางด้านทิศใต้เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าเป็นที่ดินของจำเลยโดยโจทก์ยกให้ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะที่ดินพิพาทส่วนที่เหลืออีกประมาณ 4 ไร่ ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์โดยโจทก์ยกให้จำเลยและนางสมศรีภริยาด้วยหรือไม่ ได้ความจากโจทก์ว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยและนางสมศรี นางอุดมและนางบังอรบุตรโจทก์ทำนาทำกินในที่ดินคนละประมาณ 2 ไร่ โดยมีคันนากั้นเป็นแนวเขตที่ดินของแต่ละแปลงไว้ ต่างคนต่างทำนาในเขตของตนตลอดมา ต่อมาปี 2521 จำเลยนำที่ดินของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นเนื้อที่ 6 ไร่ 47 ตารางวาโดยโจทก์ไม่ทราบ ส่วนจำเลยและนางสมศรีอ้างว่าโจทก์ยกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่นาให้จำเลยและนางสมศรีทำกิน หลังจากนั้นจำเลยได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วจำเลยใช้ประโยชน์ทำกินในที่ดินพิพาทตลอดมา โดยโจทก์ไม่เคยโต้แย้งแต่ประการใดเมื่อได้พิเคราะห์คำเบิกความของจำเลยและนางสมศรีภริยาจำเลยแล้ว เห็นว่า จำเลยและนางสมศรีเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า นางบังอรและนางอุดมได้ทำกินในที่ดินพิพาทโดยมีคันนากั้นเป็นแนวเขตที่ดินตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.2 จำเลยเพิ่งเข้าทำกินในที่ดินพิพาทส่วนที่นางบังอรและนางอุดมทำกินอยู่ในปี 2540โดยไม่ยอมให้นางบังอรและนางอุดมเข้าทำนาได้อีกต่อไป ข้อเท็จจริงดังกล่าวเจือสมตามทางนำสืบของโจทก์ว่า นางบังอรและนางอุดมได้ทำนาทำกินในที่ดินพิพาทอยู่คนละประมาณ 2 ไร่ โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทส่วนที่นางบังอรและนางอุดมทำนาทำกินอยู่ประมาณ 4 ไร่ ตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.2 นั้น เป็นการครอบครองแทนโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยและภริยาคงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 942เฉพาะส่วนที่อยู่ทางด้านทิศใต้เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ โดยมีคันนาเป็นแนวเขตตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.2 ส่วนที่ดินพิพาทส่วนที่อยู่ทางด้านทิศเหนือเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งนางบังอรและนางอุดมทำกินอยู่ จำเลยไม่มีสิทธิครอบครอง แต่ยังคงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ การที่จำเลยนำที่ดินส่วนนี้ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ด้วยจึงไม่ชอบ ศาลมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 และโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ในส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวได้เพราะตราบใดที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ยังไม่ถูกเพิกถอนย่อมถือว่าการละเมิดยังมีอยู่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share