แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลมีข้อความว่า “VOYAGE : At and from LAEM CHABANG , THAILAND TO HOCHI MINH” แปลว่าคุ้มครองที่และจากแหลมฉบัง ประเทศไทย ถึง โฮจิมินห์ ในประเทศเวียดนาม คำว่า ที่และจากแหลมฉบังย่อมเป็นการชัดแจ้งอยู่แล้วว่าคุ้มครองภัยที่เกิดที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วย ไม่ใช่เฉพาะนับจากเรือออกจากท่าเรือแหลมฉบัง
สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไปขณะเก็บอยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 5 ที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อสินค้าที่สูญหายตามความผูกพันในกรมธรรม์ประกันภัยไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 5 ได้
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับฝากตู้สินค้าไว้แล้วสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างที่จำเลยที่ 5 รับฝาก เป็นการฟ้องให้ใช้ราคาทรัพย์ ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 กรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน ๒,๘๘๗,๒๖๑.๙๗ บาท และดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในเงินต้น ๒,๘๗๓,๖๘๐.๘๔ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๕ และจำเลยที่ ๖ ร่วมกันชำระเงิน ๒,๘๗๓,๖๘๐.๘๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ (แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๒ ต้องไม่เกิน ๑๓,๕๘๑.๑๓ บาท ตามที่โจทก์ขอ) และให้จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๒๐,๐๐๐ บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ แต่ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑๐,๐๐๐ บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว เนื่องจากคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ เท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติแล้วว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยการขนส่งทางทะเลสินค้าส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ซูซูกิ ๖๐๐ หน่วย ของบริษัทไทยซูซูกิ มอเตอร์ จำกัด โดยรวมบรรจุได้ ๒๑๐ ลัง แล้วนำเข้าบรรจุในตู้สินค้าของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพื่อส่งไปให้บริษัทเวียดนาม ซูซูกิ คอร์ปอร์เรชั่น ที่ประเทศเวียดนาม ทั้งนี้มีจำเลยที่ ๔ เป็นผู้รับขนส่งด้วยการใช้เรือเดินทะเลชื่ออินทีกราของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งในการขนส่งสินค้าลงบรรทุกเรือเดินทะเลอินทีกราดังกล่าวนั้น บริษัทไทยซูซูกิ มอเตอร์ จำกัด ได้ขนสินค้าจากโรงงานของบริษัทไทยซูซูกิ มอเตอร์ จำกัด ที่จังหวัดปทุมธานีมาเก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ ๕ ก่อน และในการรับฝากสินค้าของจำเลยที่ ๕ มีจำเลยที่ ๖ เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน ต่อมาเมื่อเรือเดินทะเลอินทีกราเดินทางไปถึงท่าเรือโฮจิมินห์และนำตู้สินค้ามาเปิดตรวจนับสินค้าแล้วพบว่าสินค้าสูญหายไปรวม ๒๐ ลัง โดยปรากฏว่าสินค้าสูญหายจากตู้สินค้าตั้งแต่อยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ ๕ ที่แหลมฉบัง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทเวียดนาม ซูซูกิ คอร์ปอร์เรชั่น ผู้รับตราส่ง เป็นเงิน ๒,๘๗๓,๖๘๐.๘๘ บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่ ที่จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ อุทธรณ์สรุปประการแรกว่า จำเลยที่ ๕ เป็นนายคลังสินค้ารับฝากสินค้าไว้ก่อนที่จะนำลงบรรทุกในเรือเดินทะเลอินทีกราที่แหลมฉบังเพื่อเดินทางไปยังท่าเรือโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม แม้โจทก์จะเป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลสินค้าจากบริษัทไทยซูซูกิ มอเตอร์ จำกัด ก็ตาม แต่กรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลก็ไม่คุ้มครองถึงสินค้าขณะที่อยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ ๕ ถึงโจทก์จะได้ชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทเวียดนามซูซูกิ คอร์ปอร์เรชั่น ผู้รับตราส่ง โจทก์ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ได้นั้น เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเล มีข้อความว่า “VOYAGE: At and from LEAM CHABANG , THAILAND TO HOCHI MINH” แปลว่าคุ้มครองที่และจากแหลมฉบังย่อมเป็นการชัดแจ้งอยู่แล้วว่าคุ้มครองภัยที่เกิดที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วย ไม่ใช่เฉพาะนับจากเรือออกจากท่าเรือแหลมฉบัง ข้อเท็จจริงได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นของพยานโจทก์ต้องกันว่าได้มีการนำตู้สินค้าเข้าไปเก็บในคลังสินค้าของจำเลยที่ ๕ ที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๑ เวลา ๙.๕๒ นาฬิกา เพื่อรอยกตู้สินค้าบรรทุกเรือเดินทะเล ต่อมาจึงได้ยกตู้สินค้าลงบรรทุกเรือเดินทะเลอินทีกราในวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๑ เวลา ๖.๔๑ นาฬิกา ดังนั้น ตามกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลที่มีผลคุ้มครองสินค้าตั้งแต่เวลาที่สินค้าอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังขณะรอบรรทุกลงเรือจึงคุ้มครองสินค้าขณะอยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ ๕ ก่อนขนสินค้าลงเรือด้วย เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่าสินค้าได้สูญหายไปขณะที่อยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ ๕ โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าตามกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเล ซึ่งได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อสินค้าที่สูญหายให้แก่ผู้รับตราส่งไปแล้วตามความผูกพันในกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลดังกล่าว จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๕ ที่รับฝากสินค้าไว้และจำเลยที่ ๖ ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนภัยของจำเลยที่ ๕ ผู้รับฝากสินค้าไว้ได้โดยชอบ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทเวียดนามซูซูกิ คอร์ปอร์เรชั่น ผู้รับตราส่ง จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๕ ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ อุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๕ ขาดอายุความ เพราะเป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๗๑ อันมีอายุความ ๖ เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญา แต่โจทก์ฟ้องเกินกว่า ๖ เดือน ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๕ จึงขาดอายุความ จำเลยที่ ๕ และจำเลยที่ ๖ จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๕ รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับฝากตู้สินค้าไว้แล้วสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างที่จำเลยที่ ๕ รับฝาก เป็นการฟ้องเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์ ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๗๑ และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ คดีนี้ข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่าผู้ขนส่งส่งมอบและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ผู้รับตราส่งรู้ว่าสินค้าหายไป จากวันดังกล่าวนับถึงวันฟ้องคือวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๒ ยังไม่ครบ ๑๐ ปี ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๕ จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ต้องรับผิดต่อโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ก็ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.