แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง เป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของผู้ร้องตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/13 (1) ประกอบมาตรา 90/12 (4) เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ถือว่าเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/79 แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยอ้างว่า มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ทั้ง ๆ ที่คำร้องได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มูลหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ทั้งเป็นคำสั่งซึ่งกระทำโดยผู้พิพากษาคนเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด ศาลฎีกาเห็นสมควรรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 26
ผู้ร้องอ้างว่า ลูกหนี้ผิดสัญญา จึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากลูกหนี้ ย่อมเป็นกรณีที่ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน จึงต้องห้ามตามมาตรา 90/12 (4) แต่ผู้ร้องอาจมีคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนได้ตามมาตรา 90/13 หากข้อจำกัดสิทธินั้นไม่มีความจำเป็นในการฟื้นฟูกิจการ คดีนี้เมื่อมูลหนี้ระหว่างผู้ร้องและลูกหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ผู้ร้องไม่อาจขอคุ้มครองสิทธิด้วยการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/27 ถือได้ว่าการจำกัดสิทธิมิให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นกรณีที่ไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/13 (1) ศาลฎีกาเห็นสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/13 ประกอบมาตรา 90/12 (4)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๔ และมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ โดยตั้ง ส. กรรมการบริษัทลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งผู้ทำแผนแล้ว ลูกหนี้โดยผู้ทำแผนได้ก่อหนี้กับผู้ร้อง ต่อมาบริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัด และลูกหนี้ได้ประพฤติผิดสัญญาซื้อขาย โดยส่งมอบสินค้าไม่ทันตามกำหนดเวลา ผู้ร้องจึงยื่นฟ้องบริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัด และลูกหนี้กับพวกให้ร่วมรับผิดในความเสียหายต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เดิมศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับฟ้อง แต่ต่อมามีคำสั่งว่าที่รับฟ้องลูกหนี้ไว้นั้น เป็นการขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา ๙๐/๑๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ อันเป็นการสั่งไปโดยผิดหลง จึงให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องลูกหนี้ เป็นไม่รับฟ้องเฉพาะลูกหนี้ ขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เพื่อให้รับผิดชดใช้หนี้ค่าเสียหายต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลอื่นใดที่มีเขตอำนาจ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า มูลหนี้ตามคำร้องได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๒๗ ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกว่า ที่ศาลล้มละลายกลางรับอุทธรณ์ส่งมาให้ศาลฎีกานั้น อุทธรณ์ดังกล่าวต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง อันเป็นการขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพื่อแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๑๓ ประกอบมาตรา ๙๐/๑๒ (๔) เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกคำร้อง อันถือได้ว่าเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ฯ มาตรา ๙๐/๗๙ ทั้งอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางมิได้อนุญาตให้อุทธรณ์ จึงไม่อาจอุทธรณ์ได้ตามมาตรา ๙๐/๗๙ (๔) อย่างไรก็ตาม เมื่อได้พิจารณาถึงข้ออ้างตามคำร้องและคำฟ้องลูกหนี้พร้อมเอกสารแนบท้ายแล้ว เห็นว่า การขออนุญาตฟ้องของผู้ร้องหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๔) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะกรณีของผู้ร้องยังมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยให้กระจ่างชัดว่า ผู้ร้องอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ตามมาตรา ๙๐/๒๗ หรือไม่ เนื่องจากผู้ร้องกล่าวอ้างว่ามูลแห่งหนี้ของผู้ร้องได้เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หาได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการไม่ ซึ่งหากกรณีเป็นดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้ร้องก็ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ คงมีเพียงหนทางเดียวที่ผู้ร้องจะขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องได้ก็ด้วยการขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๔) ในกรณีที่ศาลเห็นว่าการจำกัดสิทธิของผู้ร้องนั้นไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา ๙๐/๑๓ (๑) การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยอ้างว่ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ทั้ง ๆ ที่คำร้องได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า มูลหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว อีกทั้งเป็นคำสั่งซึ่งกระทำโดยผู้พิพากษาคนเดียว จึงเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๖ ศาลฎีกาเห็นสมควรรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวนั้นได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สองมีว่า ผู้ร้องจะขอคุ้มครองสิทธิของตนตามมาตรา ๙๐/๑๓ (๑) ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องมีหนังสือถึงลูกหนี้ในวันก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ๑ วัน ก็ตาม แต่หนังสือดังกล่าวระบุว่า ผู้ร้องขอเชิญลูกหนี้ยื่นข้อเสนอที่แน่นอนให้ผู้ร้องพิจารณา สัญญาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัด และลูกหนี้จึงยังไม่เกิด จนกระทั่งภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ๓ วัน ลูกหนี้โดย ส. ผู้ทำแผนจึงแจ้งแก่บริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัด ว่า ผู้ร้องระบุการประกวดราคาไม่เกิน ๖๙.๕ เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ สินค้า ๒๐,๐๐๐ เมตริกตัน จึงขอให้บริษัทหาเรือที่มั่นคงมีตารางแน่นอน ครั้นวันรุ่งขึ้น ลูกหนี้โดยผู้ทำแผนจึงแจ้งแก่บริษัทดังกล่าวว่า ผู้ร้องได้ยืนยันการซื้อสินค้าตามหนังสือสั่งซื้อของผู้ร้อง เอกสารหลักฐานดังกล่าวย่อมแสดงโดยแจ้งชัดว่า มูลหนี้ระหว่างผู้ร้องและบริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัด พร้อมทั้งลูกหนี้ได้เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หาใช่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการอันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ตามมาตรา ๙๐/๒๗ ดังที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยไม่ และเมื่อพิเคราะห์ถึงการกระทำดังกล่าวของผู้ทำแผนซึ่งกระทำในนามของลูกหนี้ ตามอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วตามมาตรา ๙๐/๒๕ ก็ถือไว้ว่าเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะเป็นการดำเนินกิจการที่ต่อเนื่องมาจากการติดต่อทางการค้ากับผู้ร้องในนามของลูกหนี้ในฐานะของกรรมการลูกหนี้มาตั้งแต่ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จึงไม่ต้องห้ามมิให้ลูกหนี้ก่อหนี้ตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๙) อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าลูกหนี้ผิดสัญญา จึงดำเนินการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นกรณีที่ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งมูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน จึงต้องห้ามตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๔) แต่ผู้ร้องอาจมีคำร้องขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนได้ตามมาตรา ๙๐/๑๓ หากข้อจำกัดสิทธินั้นไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า กรณีดังกล่าวผู้ร้องไม่อาจขอคุ้มครองสิทธิด้วยการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา ๙๐/๒๗ ได้ เหตุนี้จึงถือได้ว่า การจำกัดสิทธิมิให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นกรณีที่ไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา ๙๐/๑๓ (๑) ศาลจึงต้องมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้อง ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า อนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งตามคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๑๓ ประกอบมาตรา ๙๐/๑๒ (๔) ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.