คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7290/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 และ ว. บุตรจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการ โดยกรรมการคนหนึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคาร และทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคาร และทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 2 จัดหาวัสดุก่อสร้างอาคาร
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 โดยผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 ส่วนใหญ่ คือ จำเลยที่ 2 กับภริยาและบุตรของจำเลยที่ 2 โจทก์ทำสัญญาสามฉบับ โดยฉบับแรกระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้าง ฉบับที่สองและฉบับที่สามระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้าง การก่อสร้างตามสัญญาทั้งสามฉบับไม่มีการแยกคนงานและอุปกรณ์ว่าเป็นของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ไม่มีผังคนงานและพนักงาน และการส่งมอบงานตามสัญญาทั้งสามฉบับรวมอยู่ในเล่มเดียวกัน โจทก์ประสงค์จะพัฒนาที่ดินให้เป็นโรงแรมและรีสอร์ท จึงประกาศหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจ เสนอตัวเข้าเป็นผู้รับเหมาตามแบบก่อสร้างตกลงราคาทั้งหมด โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อรับจ้างก่อสร้างโครงการทั้งหมดของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 มาทำสัญญารับจ้างก่อสร้างตามสัญญาจ้างเหมาชุดที่ 2 และสัญญาจ้างวัสดุก่อสร้างชุดที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการของโจทก์ ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาจ้างเหมาฉบับที่สองและฉบับที่สาม และในทำนองเดียวกันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจอาศัยสิทธิตามสัญญาดังกล่าวฟ้องแย้งโจทก์ในนามตนเองได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 (5), 246 และมาตรา 246 (เดิม) ซึ่งใช้ในขณะยื่นฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 46,535,584 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับโจทก์ชำระเงิน 39,062,393.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับโจทก์ชำระเงิน 25,381,204.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2
โจทก์ให้การฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน 172,119.31 บาท แก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไป (ฟ้องแย้งวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557) จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสอง และยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้ตกเป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 4,942,213.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 2 กันยายน 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 และนายวิชาญ บุตรจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการ โดยกรรมการคนหนึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อและปรับตราสำคัญของบริษัทผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารที่พัก 2 อาคาร 52 ห้อง อาคารลอบบี้ สระว่ายน้ำ ทูลบาร์ รวมทั้งงานอื่น ๆ พร้อมวัสดุอุปกรณ์ในราคา 151,775,598.86 บาท ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารวิลล่าชั้นเดียว 2 ห้องนอน 12 หลัง อาคารวิลล่า 3 ห้องนอน 5 หลัง รวมทั้งงานอื่น ๆ พร้อมวัสดุอุปกรณ์ในราคา 32,202,387.66 บาท และทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 2 จัดหาวัสดุก่อสร้างอาคารวิลล่าชั้นเดียว 2 ห้องนอน 12 หลัง อาคารวิลล่า 3 ห้องนอน งานภายนอกอาคารเป็นเงิน 92,489,391.58 บาท ในวันทำสัญญาโจทก์จ่ายเงินล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 16,964,823 บาท ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 โจทก์จ่ายค่าจ้างงวดที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากหักเงินค่าจ้างล่วงหน้า เงินประกันผลงานอัตราร้อยละ 9 ออกแล้ว เป็นเงิน 3,551,439.61 บาท และโจทก์จ่ายค่าจ้างงวดที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 1,325,106 บาท และจ่ายค่าวัสดุงวดที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 722,920 บาท รวมโจทก์จ่ายเงินแก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 22,566,288 บาท วันที่ 19 กันยายน 2556 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา หลังจากนั้นวันที่ 7 ตุลาคม 2556 จำเลยทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญา
สำหรับปัญหาตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ต้องชำระค่าจัดหาวัสดุงวดที่ 4 จำนวน 31,800 บาท และค่าก่อสร้างงวดที่ 4 จำนวน 586,425 บาท แก่จำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาจ้างเหมาชุดที่ 2 และสัญญาจัดหาวัสดุก่อสร้างชุดที่ 2 นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 โดยผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 ส่วนใหญ่คือจำเลยที่ 2 กับภริยาและบุตรของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์ทำสัญญา 3 ฉบับ โดยฉบับแรกระบุจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้าง ฉบับที่สองและที่สามระบุจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้าง ก็ตาม แต่ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าในการก่อสร้างไม่มีการแยกคนงานและอุปกรณ์ว่าเป็นของจำเลยที่ 1 หรือของจำเลยที่ 2 อีกทั้งนายวิชาญ บุตรจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่าผังคนงานเป็นผังคนงานของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีผังคนงานและพนักงานการส่งมอบงานตามสัญญาจ้างเหมาและสัญญาจ้างเหมาชุดที่ 2 รวมอยู่ในเล่มเดียวกัน ทั้งปรากฏว่าโจทก์ประสงค์จะพัฒนาที่ดินของโจทก์เป็นโรงแรมและรีสอร์ท ชื่อโครงการว่า ชิโนสมุย รีสอร์ท จึงประกาศหาผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจ เสนอตัวเข้าเป็นผู้รับเหมาตามแบบก่อสร้างตกลงราคาทั้งหมด 276,467,376 บาท ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อรับจ้างก่อสร้างโครงการทั้งหมดของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 มาทำสัญญารับจ้างก่อสร้างตามสัญญาจ้างเหมาชุดที่ 2 และสัญญาจัดหาวัสดุก่อสร้างชุดที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการของโจทก์ กรณีดังกล่าวจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 1 ซึ่งการที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิด ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจอาศัยสิทธิตามสัญญาดังกล่าวที่ตกเป็นตัวแทนมาฟ้องแย้งโจทก์ในนามตนเองได้ ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 246 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share