คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1267/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทโจทก์มีแต่ สิทธิครอบครอง เมื่อโจทก์ละทิ้ง ที่ดิน พิพาทมานานถึง 7-8 ปี ถือ ได้ ว่าโจทก์สละเจตนาครอบครองหรือ ไม่ยึดถือทรัพย์สินพิพาทต่อไปการครอบครองของโจทก์ย่อมสุดสิ้นลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 ดังนี้ เมื่อจำเลยเข้ายึดถือที่ดิน พิพาททำประโยชน์ปลูกยางพาราโดย เจตนายึดถือเพื่อตน หลังจากการครอบครองของโจทก์สุดสิ้นแล้ว ดังนี้ จำเลยได้ สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 และไม่เป็นการละเมิดต่อ โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บุกรุกเข้าไป ในที่ดินของโจทก์โดยตัดต้นยางพาราพันธุ์พื้นเมืองและปลูกยางพาราขึ้นแทนต้นยางพาราเดิมของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ และจำเลยนำรถแทรกเตอร์บุกรุกเข้าไถทำลายต้นยางพาราของโจทก์อีกประมาณ 3 ไร่ โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยกลับโต้เถียงกรรมสิทธิ์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้บุกรุกและตัดต้นยางพาราพันธุ์พื้นเมืองของโจทก์ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นของพ่อตาจำเลยพ่อตาจำเลยได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยได้ครอบครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินมือเปล่า จำเลยแย่งการครอบครองไปจากโจทก์เกินกว่าหนึ่งปีแล้วโจทก์จึงหมดสิทธิ์ที่จะฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง และจำเลยไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์สละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือทรัพย์สินพิพาทแล้ว เมื่อจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงหลังจากการครอบครองของโจทก์สุดสิ้นลงจำเลยจึงได้ซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เห็นว่าที่โจทก์เบิกความว่าโจทก์จะทิ้งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมานานถึง 7-8 ปี แล้วนั้น ถือได้ว่าโจทก์สละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือทรัพย์สินพิพาทต่อไปการครอบครองของโจทก์ย่อมสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1377 ดังนั้น เมื่อจำเลยยึดถือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงทำประโยชน์ปลูกยางพาราโดยเจตนายึดถือเพื่อตนหลังจากการครอบครองของโจทก์สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยจึงได้ซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นอีกต่อไป…”
พิพากษายืน.

Share