คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แม้ผู้เสียหายได้รับการผ่อนผันจากทางราชการให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวก็ตามแต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายยังมิได้ยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์ใด ๆ และผู้เสียหายกับจำเลยต่างยังแย่งกันครอบครองที่ดินดังกล่าวอยู่ ทั้งปรากฏว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินเกิดเหตุเป็นของจำเลย ดังนี้การที่จำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่เกิดเหตุแล้วจำเลยพูดกับผู้เสียหายว่า ถ้าไม่ได้ที่ดินที่เกิดเหตุจะฆ่าสามีผู้เสียหายนั้นตามพฤติการณ์แห่งคดี น่าเชื่อว่า เป็นการพูดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวมากกว่าที่จะมีเจตนาข่มขืนใจโดยขู่เข็ญผู้เสียหายอันจะเป็นความผิดฐานพยายามกรรโชก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันข่มขืนใจผู้เสียหาย ห้ามมิให้ผู้เสียหายเข้าทำกินในที่ดินที่ผู้เสียหายได้รับอนุญาตให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อยอมให้จำเลยทั้งสองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินเข้าทำกินดังกล่าวแทนโดยร่วมกันขู่เข็ญว่า หากไม่ยอมจะฆ่าทำอันตรายต่อชีวิตผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337, 80 จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์ จำเลยที่ 1 นำสืบรับกันฟังได้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งนางอั้น เกื้อมี ผู้เสียหายได้ยื่นคำขอหนังสือสิทธิทำกินไว้ตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาอธิบดีกรมป่าไม้อนุญาตให้ผู้เสียหายได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ครั้งที่ 1) เรียกว่า สทก.1 จำนวน 15 ไร่ตามเอกสารหมาย จ.2 วันเกิดเหตุผู้เสียหายใช้ให้นายนำชัย เลิศศรีนายอ้วน คุณเลิศ กับพวกรวม 4 คน ขึ้นไปถางหญ้าบนที่ดินแปลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 พบเข้าจึงบอกให้หยุด ต่อมาในวันนั้นเวลาประมาณ 17นาฬิกา จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปพบผู้เสียหายที่บ้านเกิดโต้เถียงกันขึ้น วันรุ่งขึ้นผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานกรรโชก คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่เห็นว่า หลังเกิดเหตุร้อยตำรวจตรีสมยศ แก้วบังเกิด พนักงานสอบสวนไปดูที่เกิดเหตุ บันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและถ่ายภาพประกอบคดีตามบันทึกและภาพถ่ายหมายจ.11 จ.12 จ.13 ปรากฏว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินว่างเปล่ามีการแผ้วถางมานานแล้ว มีกล้วยป่าขึ้นตามธรรมชาติ ร้อยตำรวจตรีสมยศสอบถามคู่กรณีแล้วได้ความว่า ยังไม่มีการปลูกพืชผลหรือผลประโยชน์ใด ๆ เพียงแต่คู่กรณีจับจองและแผ้วถางไว้ แสดงว่าผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ต่างแย่งการครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หาใช่ว่าผู้เสียหายเข้ายึดถือครอบครองมาก่อนตามที่โจทก์ฎีกาไม่ แม้ผู้เสียหายจะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้ให้ได้รับการผ่อนผันมีสิทธิทำกินชั่วคราวในที่ดินที่เกิดเหตุก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 พูดกับผู้เสียหายว่าถ้าผู้เสียหายได้หนังสือสิทธิทำกินชั่วคราวมาแล้ว จำเลยที่ 1ยินดีชดใช้ค่าใช้จ่ายรวมทั้งค่าคนงานที่ขึ้นไปถางป่าให้นั้นแสดงว่า จำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นของตน ปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 พบคนงานผู้เสียหายขึ้นไปแผ้วถางที่ดินที่เกิดเหตุ ก็ได้ห้ามมิให้ถางโดยแจ้งว่ารอให้จำเลยที่ 1 พบกับนายสุรีย์สามีผู้เสียหายก่อน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ได้ไปพบผู้เสียหายที่บ้านเพื่อเจรจาเรื่องที่ดินที่เกิดเหตุจนเกิดโต้เถียงกันขึ้น การที่จำเลยที่ 1 พูดกับผู้เสียหายว่าถ้าไม่ได้ที่ดินที่เกิดเหตุจะฆ่าสามีผู้เสียหายนั้นตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้วน่าเชื่อว่าเป็นการพูดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวมากกว่า จำเลยที่ 1 หาได้มีเจตนาที่จะทำตามคำพูดแต่อย่างใดไม่พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1มีเจตนาข่มขืนใจโดยขู่เข็ญผู้เสียหายอันจะเป็นความผิดฐานพยายามกรรโชกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share