คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5076/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ของศาลแรงงานกลางจำเลยมอบอำนาจให้ พ. มาชี้แจงข้อเท็จจริงแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์ แต่ พ. มีความจำเป็นต้องไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจจำเลยจึงมอบให้ ส.ถือหนังสือมอบอำนาจและหนังสือของพ.ที่ขอเลื่อนการให้การมายื่นต่อศาลแรงงานกลาง เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่โดยได้แถลงให้ศาลทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ ศาลแรงงานกลางก็ชอบที่ดำเนินการไต่สวนเพื่อจะได้ทราบว่าจำเลยมีเหตุจำเป็นจริงหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 41

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 30,600 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 2,890 บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน30,600 บาท
จำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าชดเชยจำนวน 30,600 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2,890 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเงินเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 30,600 บาท แก่โจทก์
จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 ว่า ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ จำเลยมอบอำนาจให้นายไพศาล สุขอร่ามมาศาลเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง แต่นายไพศาลมาศาลไม่ได้เพราะต้องไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดหรือมีเจตนาที่จะประวิงคดี ขอให้มีการพิจารณาใหม่
ศาลแรงงานกลางพิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าพิเคราะห์แล้ว ไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ของศาลแรงงานกลาง จำเลยมอบอำนาจให้นายไพศาล สุขอร่าม มาชี้แจงข้อเท็จจริงแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์ แต่นายไพศาลมีความจำเป็นต้องไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยจึงมอบให้นายสมพงษ์ นิ่มสุด ถือหนังสือมอบอำนาจและหนังสือของนายไพศาลที่ขอเลื่อนการให้การมายื่นต่อศาลแรงงานกลาง ถือได้ว่าจำเลยได้แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลแรงงานกลางทราบแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยขาดนัดนั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 40 วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา 37 แล้ว ไม่มาตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุที่ไม่มา ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว และมาตรา 41 บัญญัติเป็นใจความว่าในกรณีที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดตามมาตรา 40 วรรคสอง หากจำเลยมาแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่ง ศาลแรงงานมีอำนาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นนั้นได้ และหากเห็นเป็นการสมควรให้ศาลแรงงานมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำภายหลังจากที่มีคำสั่งตามมาตรา 40 นั้นใหม่กรณีของจำเลย เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่โดยได้แถลงให้ศาลทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ ศาลแรงงานกลางก็ชอบที่ดำเนินการไต่สวนเพื่อจะได้ทราบว่าจำเลยมีเหตุจำเป็นจริงหรือไม่ ตามมาตรา 41
พิพากษายกคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งยกคำร้องของจำเลย ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 และให้ดำเนินการไต่สวนคำร้องของจำเลยแล้วมีคำสั่งตามรูปคดี

Share