แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยเข้ามาติดต่อกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศรับโอนการเสี่ยงภัยของโจทก์เพื่อเฉลี่ยความรับผิดที่อาจจะเกิดมีขึ้นต่อทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยตามความต้องการของโจทก์นั้น การกระทำของจำเลยเกินเลยกว่าหน้าที่ของนายหน้าซึ่งเป็นเพียงผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้เขาได้ทำสัญญากับบุคคลภายนอกเท่านั้น แม้ที่หัวกระดาษหนังสือตอบโต้ของจำเลยระบุว่า จำเลยเป็นนายหน้าและที่ปรึกษาประกันภัยก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยแสดงออกตั้งแต่มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งข้อกำหนดและเงื่อนไขต่าง ๆในกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศให้โจทก์ทราบ การรับเบี้ยประกันภัยจากโจทก์ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของผู้เอาประกันภัยตามจำนวนที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบและจำเลยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามที่เรียกร้องอีกทั้งเมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยจ่ายคืนเบี้ยประกันภัยส่วนที่เกินจำเลยก็แจ้งให้โจทก์ทราบว่ากำลังติดต่อเร่งรัดบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศอยู่ และในการติดต่อบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศของโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบมาทุกระยะ และเมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศดำเนินการต่าง ๆ ก็กระทำผ่านจำเลย ดังนี้ แม้ว่าบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศมิได้มีหนังสือแต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนให้กระทำในกิจการดังกล่าวแต่การปฏิบัติของบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศได้ยินยอมให้จำเลยปฏิบัติงานแทนตนตลอดมา จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศโดยปริยายตาม ป.พ.พ.มาตรา 797 วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้ตัวการไม่จำต้องแต่งตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ และไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 798 เมื่อตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยต่อแทนตัวการ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยต่อตามลำพังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ตามกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่เอสพี. 2037/83 มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่31 มกราคม 2526 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2527 สำหรับการชำระเบี้ยประกันภัยมีข้อตกลงว่า ทรัพย์สินที่เป็นสินค้าน้ำมัน (สต๊อก)นั้น เนื่องจากมีจำนวนไม่แน่นอน เพราะมีการนำน้ำมันเข้าเก็บและจำหน่ายทุกวัน ดังนั้นการกำหนดทุนประกันภัยในส่วนของสินค้าน้ำมัน(สต๊อก) จึงต้องกำหนดทุนประกันภัยขั้นสูงไว้ก่อน แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ โจทก์และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจะคำนวณหาจำนวนสินค้าน้ำมัน (สต๊อก) ที่เก็บรักษาไว้จริงในตลอดระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ ซึ่งจำนวนสินค้าน้ำมันที่คำนวณได้นี้ถือว่าเป็นทุนประกันภัยที่แท้จริงที่เอาประกันภัยไว้ รายละเอียดตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยพร้อมคำแปลท้ายฟ้องหมาย 3 โดยโจทก์ได้กำหนดทุนประกันภัยขั้นสูงในการรับประกันภัยสินค้าน้ำมัน (สต๊อก)ไว้เป็นเงิน 3,538,996,343.11 บาท และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยชำระเบี้ยประกันภัยให้โจทก์เป็นเงิน 3,966,492.58 บาท แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยทุนประกันภัยที่แท้จริงเป็นเงิน 1,752,794,758.84 บาท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจึงต้องชำระเบี้ยประกันภัยให้โจทก์เพียง 3,322,889.43 บาทซึ่งโจทก์จะต้องคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นเงิน 643,603.15 บาท เนื่องจากในการประกันภัยนี้มีทุนประกันภัยเป็นจำนวนสูง โจทก์จึงเอาความเสี่ยงภัยและเงื่อนไขข้อตกลงอย่างเดียวกันตามกรมธรรม์ที่โจทก์ได้ทำไว้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปประกันภัยต่อไว้แก่บริษัทพรีเซอร์วาตริเซฟองซิเอร์จำกัด บริษัทอริก จำกัด บริษัทนิวแฮมเชียร์ จำกัด (ปารีสและลอนดอน) บริษัทเอเฟีย จำกัด (นิวยอร์ก) และบริษัทฟาเรซจำกัด กลุ่มรอแยลอินชัวร์รันซ์ (ในประเทศฝรั่งเศส) ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยอยู่ต่างประเทศ โดยจำเลยในฐานะตัวแทนดำเนินการทำสัญญาประกันภัยต่อให้โจทก์แทนตัวการ ผู้รับประกันภัยในต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศดังกล่าว ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำสัญญาประกันภัยพร้อมคำแปลท้ายฟ้องหมาย 4ต่อมาโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยในฐานะตัวแทนผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศให้จัดการชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ตามส่วนที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ เป็นเงิน 549,181.42 บาท ตามสำเนาหนังสือลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2527 พร้อมคำแปลท้ายฟ้องหมาย 5 จำเลยรับหนังสือแล้วรับว่าจะจัดการให้ตามสำเนาหนังสือลงวันที่ 16ธันวาคม 2528 เอกสารท้ายฟ้องหมาย 6 แต่เพิกเฉย จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 549,181.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2527ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 82,377.22 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น631,558.71 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 631,558.71 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 549,181.42 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์นำเอาความเสี่ยงภัยและเงื่อนไขข้อตกลงในกรมธรรม์ที่ทำไว้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปประกันภัยต่อกับบริษัทในต่างประเทศโดยมอบให้จำเลยซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าในการประกันภัยเป็นผู้ชี้ช่องและชี้แนะบริษัทประกันภัยในต่างประเทศให้แก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้ทำประกันภัยต่อ โจทก์จึงได้ติดต่อกับบริษัทในต่างประเทศ เมื่อโจทก์กับบริษัทในต่างประเทศตกลงทำสัญญาประกันภัยต่อแล้ว โจทก์ก็จ่ายค่านายหน้าให้แก่จำเลยตามจำนวนและสัดส่วนที่ตกลงกัน ส่วนเงื่อนไขต่าง ๆ รวมทั้งอัตราเบี้ยประกันภัยเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัทต่างประเทศตกลงกันเอง จำเลยปฏิบัติงานในฐานะนายหน้ามิใช่เป็นตัวแทนของบริษัทในต่างประเทศ และการประกันภัยเป็นกิจการที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นจึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย แต่การปฏิบัติงานของจำเลยกับบริษัทในต่างประเทศดังกล่าวจำเลยเพียงแต่ชี้ช่องให้โจทก์ติดต่อกับบริษัทในต่างประเทศเท่านั้น มิได้รับมอบให้กระทำการเป็นตัวแทนหรือมีหลักฐานการเป็นตัวแทนเป็นหนังสือแต่ประการใดและเอกสารท้ายฟ้องหมาย 4 ก็ไม่ใช่หนังสือมอบฉันทะ แต่เป็นการบอกกล่าวให้ทราบว่าได้ดำเนินการให้ตามความประสงค์ของโจทก์แล้วเท่านั้น สำหรับการคิดคำนวณจำนวนน้ำมันที่มีอยู่ในคลังของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยช่วงระยะเวลาที่กรมธรรม์มีผลบังคับใช้และการคิดเบี้ยประกันภัยเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัทในต่างประเทศไม่เกี่ยวกับจำเลย อีกทั้งรายการคิดคำนวณตรวจตราความมีอยู่และความถูกต้องเอกสารท้ายฟ้องหมาย 5 จำเลยก็ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องรับรู้ด้วยเช่นเดียวกัน จึงขอปฏิเสธความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว ในการตกลงคืนเบี้ยประกันภัยเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และหนังสือลงวันที่ 16ธันวาคม 2528 ของจำเลยเอกสารท้ายฟ้องหมาย 6 ก็มิใช่เป็นหนังสือรับใช้เงิน แต่เป็นการบอกกล่าวว่าได้ช่วยเหลือโจทก์ โดยแจ้งไปยังผู้รับประกันภัยในต่างประเทศให้แล้วแต่ยังไม่ได้รับคำตอบจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 586,420.43 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 549,181.42 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 5 พฤศจิกายน 2529) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันและที่ไม่โต้เถียงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยร่วมกับโจทก์ประมูลรับประกันภัยทรัพย์สินจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้แล้ว แต่จำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัย โจทก์จึงรับประกันภัยทรัพย์สินจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยผู้เอาประกันภัยมีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2526ถึงวันที่ 31 มกราคม 2527 เนื่องจากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยส่วนที่เป็นน้ำมันซึ่งอยู่ตามคลังน้ำมันในสถานที่ต่าง ๆ มีจำนวนไม่แน่นอน จึงมีข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระเบี้ยประกันภัยว่าให้ชำระตามทุนประกันภัยที่กำหนดไว้ขั้นสูงก่อน เมื่อสิ้นระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย หากทุนประกันภัยที่คำนวณได้สูงกว่าทุนประกันภัยที่กำหนดไว้เดิมก็ให้ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยส่วนที่เพิ่มขึ้น หากทุนประกันภัยต่ำกว่าที่กำหนดไว้เดิม โจทก์จะคืนเบี้ยประกันภัยให้ผู้เอาประกันภัยในการประกันภัยครั้งนี้มีทุนประกันภัยประมาณ 3,500,000,000 บาท เพื่อกระจายการเสี่ยงภัยโจทก์ได้ติดต่อผ่านจำเลยทำการประกันภัยต่อไว้แก่บริษัทรับประกันภัยรวม 5 บริษัท ซึ่งมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างเดียวกับที่โจทก์ทำไว้กับผู้เอาประกันภัยเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ปรากฏว่าทุนประกันภัยต่ำกว่าที่กำหนดไว้เดิมซึ่งจะต้องคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย ในส่วนของบริษัทผู้รับประกันภัยต่อจะต้องคืนจำนวน 549,181.42 บาท เนื่องจากจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องในการประกันภัยระหว่างโจทก์กับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงมีหนังสือเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว แต่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระ ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยเป็นนายหน้าหรือตัวแทนของบริษัทรับประกันภัยต่อซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า โจทก์ไม่เคยติดต่อกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศโดยตรง แต่จำเลยเป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้นและมีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3เห็นว่า ข้อความในเอกสารของจำเลยดังกล่าวได้ระบุในตอนต้นว่าบริษัท (จำเลย) มีความยินดีที่จะยืนยันว่าบริษัทได้ทำประกันภัยต่อซึ่งอาจจะแปลความได้ว่าบริษัทมีความยินดีที่ได้จัดการทำประกันภัยต่อดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่หนังสือดังกล่าวยังระบุถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการประกันภัยและระบุชื่อบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศ 5 บริษัท แบ่งสัดส่วนความรับผิดในทรัพย์สินที่รับประกันภัยไว้และลงท้ายระบุชื่อบริษัทจำเลยในฐานะกระทำการแทนผู้รับประกันภัยต่ออย่างชัดเจน ซึ่งนายเจนกิจ ตันสกุล กรรมการผู้จัดการของจำเลย พยานจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านว่า เอกสารหมายจ.3 ของจำเลยเป็นการย่อเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยตามที่ได้ตกลงกับบริษัทในต่างประเทศ และหากเกิดความเสียหายขึ้นสามารถใช้ยืนยันให้บริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศชดใช้ได้ และในการคำนวณเบี้ยประกันภัยโจทก์จำเลยก็ปรึกษาร่วมกัน นอกจากนี้ในการชำระเบี้ยประกันภัยได้มีเทเล็กซ์ของบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศตามเอกสารหมาย จ.5 ถึงจำเลยให้แจ้งโจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยแก่จำเลยก่อนที่จะส่งผ่านไปยังบริษัทผู้รับประกันภัยต่อ ซึ่งจำเลยได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.4โจทก์จึงจ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยตามใบแจ้งหนี้ของจำเลยและใบสำคัญจ่ายของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 จำเลยรับเงินแล้วออกใบเสร็จรับเงินของจำเลยให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8ในระหว่างเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ปรากฏว่าทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายหลายครั้ง ผู้จัดการฝ่ายสินไหมของโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งความเสียหายและเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนรวม 4 ครั้ง ตามเอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.28 จำเลยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามใบเสร็จรับเงินของโจทก์เอกสารหมาย จ.29 ซึ่งนายเจนกิจพยานจำเลยก็เบิกความรับว่าเป็นผู้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเมื่อผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งให้ทราบถึงการคำนวณปรับปรุงยอดเบี้ยประกันภัยและจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จะต้องจ่ายคืนให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.17จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่าได้ดำเนินการเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัยต่อคืนจากผู้รับประกันภัยต่อทางลอนดอนแล้วแต่ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด และจำเลยกำลังเร่งดำเนินการติดตามเมื่อได้รับคำยืนยันจากลอนดอนแล้วจะแจ้งให้โจทก์ทราบต่อไปตามเอกสารหมาย จ.18 นอกจากนั้นการที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยแต่งตั้งจำเลยให้เป็นนายหน้าประกันภัยมีอำนาจกระทำการเป็นตัวแทนดำเนินการเจรจาและจัดการเกี่ยวกับการประกันภัยทั้งหมดของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย ล.2 นั้น จำเลยได้มีหนังสือถึงการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยชี้แจงเรื่องบริษัทผู้รับประกันภัยต่อซึ่งในหนังสือดังกล่าวก็ระบุว่า โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าจะรับประกันภัยไว้เองร้อยละ 0.47 จำเลยได้รีบแจ้งให้บริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศทราบ เพื่อขอให้ลดอัตราส่วนการรับประกันภัยต่อของแต่ละบริษัทลงตามเอกสารหมาย จ.35 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีส่วนร่วมและรู้เห็นในการที่โจทก์ทำประกันภัยต่อไว้แก่บริษัทในต่างประเทศมาตลอด และในการตรวจสอบปริมาณน้ำมันในคลังน้ำมันตามสถานที่ต่าง ๆ ของผู้เอาประกันภัยได้ความจากคำเบิกความของนายกมล มหัทธนานนท์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองทรัพย์สินและประกันภัยของผู้เอาประกันภัยในระหว่างอายุกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวว่า พยานเป็นคนแจ้งปริมาณน้ำมันให้โจทก์จำเลยทราบทุกวันสิ้นเดือน ซึ่งแสดงรายการปริมาณยอดน้ำมันในแต่ละวันตามเอกสารหมาย จ.36 ทั้งนี้เพราะต้องนำยอดน้ำมันที่แจ้งปรับปรุงเบี้ยประกันภัยให้ถูกต้อง แต่เหตุที่ไม่สามารถนำเจ้าหน้าที่ของโจทก์จำเลยตรวจสอบปริมาณน้ำมันได้ทุกวันเพราะปริมาณน้ำมันและจุดสำรวจมีมาก ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้ทักท้วง ดังนั้น จึงเห็นเจตนาของจำเลยได้ว่า ที่จำเลยเข้ามาติดต่อกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศรับโอนการเสี่ยงภัยของโจทก์เพื่อเฉลี่ยความรับผิดที่อาจจะมีขึ้นต่อทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยตามความต้องการของโจทก์นั้น การกระทำของจำเลยเกินเลยกว่านายหน้า ซึ่งเป็นเพียงผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้เขาได้ทำสัญญากับบุคคลภายนอกเท่านั้น แม้ที่หัวกระดาษหนังสือตอบโต้ของจำเลยระบุว่า จำเลยเป็นนายหน้าและที่ปรึกษาประกันภัยก็ตามแต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยแสดงออกตั้งแต่มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งข้อกำหนดและเงื่อนไขต่าง ๆ ในกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศให้โจทก์ทราบ การรับเบี้ยประกันภัยจากโจทก์ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของผู้เอาประกันภัยตามจำนวนที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบ และจำเลยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามที่เรียกร้อง เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยจ่ายคืนเบี้ยประกันภัยส่วนที่เกิน จำเลยก็แจ้งให้โจทก์ทราบว่ากำลังติดต่อเร่งรัดบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศอยู่ ในการติดต่อบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศของโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบมาทุกระยะ บริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศดำเนินการต่าง ๆ ก็กระทำผ่านจำเลย แม้ว่าบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศมิได้มีหนังสือแต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนให้กระทำในกิจการดังกล่าว แต่การปฏิบัติของบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศได้ยินยอมให้จำเลยปฏิบัติงานแทนตนตลอดมา จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศโดยปริยายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้ตัวการไม่จำต้องแต่งตั้งตัวแทนเป็นหนังสือและไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 798 เมื่อตัวการซึ่งเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยต่ออยู่ต่างประเทศ และมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยต่อแทนตัวการ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยต่อตามลำพังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824”
พิพากษายืน