คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4207/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายนำมูลหนี้ตามเช็คพิพาทไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งแล้วต่อมาผู้เสียหายกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องของแต่ละฝ่ายที่ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 ดังนั้น หนี้ตามเช็คพิพาทจึงเป็นอันระงับสิ้นความผูกพัน คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกตามเช็คฉบับแรก(ฟ้องข้อ ก.) 3 เดือน ตามเช็คฉบับที่ 2 และที่ 3 (ฟ้องข้อ ข.และ ข้อ ค.) ฉบับละ 2 เดือน รวมสามกระทง เป็นจำคุก 7 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78) คงจำคุก 3 เดือน 15 วัน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามเช็คฉบับแรกและเช็คฉบับที่ 2ตามฟ้องข้อ (ก) และ (ข) ในบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์และให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามเช็คฉบับที่ 3 ตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในบันทึกคำฟ้องฯ แบบพิมพ์ (ข.4) ฉบับเดียวโดยให้จำคุก1 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 15 วันและปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสงขลาทุก 3 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทนายจำเลยยื่นคำร้องว่าผู้เสียหายกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเกี่ยวกับมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ ในคดีแพ่งซึ่งผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสงขลาและศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3117/2540 ของศาลจังหวัดสงขลา หนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ จึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(3) จึงขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่า มูลหนี้ตามเช็คพิพาทคดีนี้ทั้ง 3 ฉบับนั้นนางสาวระวิวรรณ ทองบัว ผู้เสียหาย ได้นำไปฟ้องจำเลยให้ชดใช้เงินตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3117/2540 ของศาลจังหวัดสงขลาผู้เสียหายและจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลจังหวัดสงขลาได้พิพากษาคดีตามยอมถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่27 สิงหาคม 2540 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 ดังนั้น หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คตามฟ้องเพื่อใช้หนี้เงินนั้นจึงเป็นอันระงับสิ้นผลผูกพัน คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7สิทธิของโจทก์ในการนำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้และเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์อีกต่อไป”
เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

Share