คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้ง 3 แบบ ปรากฏอยู่ที่กระป๋องบรรจุขนมปังกรอบกับที่กล่องบรรจุขนมปังกรอบของโจทก์ เมื่อนำกล่องบรรจุขนมปังกรอบของจำเลยมาเปรียบเทียบกับกล่องบรรจุขนมปังกรอบของโจทก์ กับนำกระป๋องบรรจุขนมปังกรอบของจำเลยมาเปรียบเทียบกับกระป๋องบรรจุขนมปังกรอบของโจทก์จะเห็นได้ว่ากล่องและกระป๋องดังกล่าวของจำเลยมีขนาดเท่ากับกล่องและกระป๋องดังกล่าวของโจทก์ทั้ง 6 ด้าน รูปร่างลักษณะของกล่องและกระป๋องตลอดจนฝาก็เหมือนกันสีและภาพต่าง ๆ ในตำแหน่งเดียวกันก็เหมือนกัน ขนาดของภาพและตัวอักษรที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันก็เท่ากัน นอกจากนี้ยังมีตัวอักษรที่เหมือนกันคือคำว่า “CREAMCRACKERS” และคำว่า “EXTRALIGHT”ด้วย ส่วนตัวอักษรที่ต่างกันก็คือของโจทก์ใช้คำว่า “JACOB&COS”ส่วนของจำเลยใช้คำว่า “CHITCHATCO.,LTD.” ของโจทก์ใช้คำว่า”JACOB’S” ของจำเลยใช้คำว่า “DRAGONBRAND” สำหรับผู้ที่อ่านอักษรโรมันไม่ได้ หากได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยในขณะเดียวกันก็ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีอะไรแตกต่างกันบ้าง แม้ผู้ที่อ่านอักษรโรมันได้ หากไม่พิจารณาให้รอบคอบหรือได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่างเวลากัน ก็น่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าได้เลย เครื่องหมายการค้าที่ปรากฏที่กล่องขนมปังกรอบและกระป๋องขนมปังกรอบของจำเลยจึงมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เริ่มมีการจดทะเบียนในประเทศไทยไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะเริ่มดำเนินกิจการ จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง มิใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่สามารถได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ณ ประเทศอังกฤษประกอบการค้าในการผลิตและจำหน่ายสินค้าจำพวกขนมปังกรอบสำเร็จรูปจำหน่ายทั่วโลก โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังต่อไปนี้(ก) เครื่องหมายการค้าในลักษณะที่เป็นรูปและคำซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ สัญลักษณ์รูปรวงข้าวสาลี มีคำภาษาโรมัน คำว่า”JACOB & COS” “EXTRA LIGHT” และ “CREAM CRACKERS” ซึ่งอ่านออกเสียงว่า “ยาก๊อบแอนด์โก” “เอกซตร้าไลท์” และ”ครีมแครกเกอร์” โดยคำว่า “CREAM CRACKERS” จะอยู่ในแถบโค้งรูปเสี้ยววงกลมทับบนรูปรวงข้าวสาลี สัญลักษณ์รูปรวงข้าวสาลีมีคำว่า “JACOB & COS” “EXTRA LIGHT” และ “CREAM CRACKERS”โดยคำว่า “JACOB & COS” นั้นจะอยู่ในแถบโค้งรูปครึ่งวงกลมทับบนรูปรวงข้าวสาลี กับ (ข) เครื่องหมายการค้าในลักษณะที่เป็นรูปและคำ ประกอบด้วยรูปวงรีปลายแหลมพื้นสีดำ ภายในมีคำภาษาโรมันพื้นสีขาวซึ่งเป็นชื่อย่อบริษัทคำว่า “JACOB’S” ซึ่งอ่านออกเสียงว่า “ยาคอบ” หรือ “จาค๊อบ” หรือ “เจค๊อบ” และ (ค) เครื่องหมายการค้ารูปแผ่นขนมปังกรอบสี่เหลี่ยมจตุรัส มีอักษรโรมันคำว่า”JACOB & CO” และ “CREAM CRACKER” ที่รูปขนมปัง ในประเทศไทยเองสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้มีเข้ามาจำหน่ายและเป็นที่รู้จักนิยมแพร่หลายต่อสาธารณชนคนไทยสืบเนื่องกันมานานกว่า 50 ปีแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามข้อ (ก)และ (ข) ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว ณ กองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า เมื่อ 6-7 เดือนมานี้โจทก์พบว่าจำเลยผลิตสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนแบบโจทก์ออกจำหน่ายในท้องตลาด ก่อให้เกิดความสับสนหลงผิดทั่วไปในหมู่สาธารณชนว่าสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนแบบนี้เป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย เป็นการลวงขายสินค้าของตนโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าซึ่งมีรูปและคำเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าโจทก์ พร้อมทั้งจัดการมิให้มีการจำหน่ายสินค้าตามเครื่องหมายการค้าเลียนแบบนี้ในท้องตลาดอีกต่อไป ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามที่โจทก์ฟ้อง เครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้ จำเลยเป็นผู้ประดิษฐ์คิดขึ้น เครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้ไม่เป็นการเลียนและไม่ทำให้มีลักษณะเหมือนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างเห็นได้ชัด โจทก์ไม่เสียหายหากมีก็ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาทจำเลยใช้เครื่องหมายการค้ามาเป็นเวลากว่า 40 ปี โดยชอบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าโดยอายุความปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ กับเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามหมายเลขทะเบียนที่ 28121 ถ้าโจทก์ไม่ไปเพิกถอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุมการใช้เครื่องหมายการค้าเลียนแบบไม่อาจจะได้มาโดยทางครอบครองปรปักษ์ได้ โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าโดยชอบ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าพิพาท ซึ่งมีรูปและคำคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และห้ามมิให้จำเลยจำหน่ายสินค้า ซึ่งเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในท้องตลาด ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าพิพาท คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์นำสืบว่า เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมายจ.1 หรือเอกสารท้ายฟ้องหมาย 2 ตามเอกสารหมาย จ.2 หรือเอกสารท้ายฟ้องหมาย 3 และตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 4 เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยโจทก์จดทะเบียนไว้เกือบทุกประเทศตามเอกสารหมาย จ.7นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2474 เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจดทะเบียนไว้ในประเทศไทยในนามบริษัทดับบลิวแอนด์อาร์ยาก๊อบแอนด์กัมปนีลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ปรากฏตามคำขอจดทะเบียนที่ 3431 ทะเบียนที่ 643 ตามสำเนาทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.8 และได้ต่ออายุ 10 ปี ต่อครั้ง ครั้งที่ 2 ต่ออายุเมื่อปี พ.ศ. 2494 ต่อมาบริษัทในเครือดังกล่าวได้โอนเครื่องหมายการค้าให้บริษัทดับบลิวแอนด์อาร์จาค๊อบแอนด์โก (ลิเวอร์พูล) ลิมิเต็ดซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์เช่นเดียวกันตามหลักฐานท้ายเอกสารหมาย จ.8 บริษัทนี้จึงได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อปี พ.ศ. 2505 ตามเอกสารหมาย จ.1 ครั้นในปี พ.ศ. 2513 บริษัทนี้จึงโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้มาให้โจทก์ ปรากฏตามรายการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 โจทก์จดทะเบียนต่ออายุเมื่อปี พ.ศ. 2525 ตามรายการต่ออายุทะเบียนในเอกสารหมายจ.4 แผ่นที่ 3 สำหรับเครื่องหมายการค้าแบบที่ 2 นั้น โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียน เมื่อ พ.ศ. 2514 ตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาได้ต่ออายุการจดทะเบียนในปี พ.ศ. 2524 ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 4การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแบบที่ 1 และแบบที่ 2 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 42 ประเภทขนมปังกรอบซึ่งนายทะเบียนได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้ง 2 แบบนี้ให้โจทก์ และโจทก์ได้ต่อทะเบียนจนถึงขณะฟ้องคดีนี้ ส่วนเครื่องหมายการค้าแบบที่ 3 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 4 นั้น โจทก์ใช้กับสินค้าขนมปังกรอบของโจทก์มาช้านานประมาณ 50-60 ปี จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามฟ้องทั้ง 3 แบบเป็นของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ในปัญหาที่ว่า เครื่องหมายการค้าซึ่งปรากฏที่กล่องขนมปังกรอบ หมาย จ.9 และกระป๋องขนมปังกรอบหมาย จ.11 ของจำเลยมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์หรือไม่นั้นเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามฟ้องทั้ง 3 แบบนั้นปรากฏอยู่ที่กระป๋องบรรจุขนมปังกรอบของโจทก์หมาย จ.4 และ จ.5 กับที่กล่องบรรจุขนมปังกรอบหมาย จ.6 เมื่อนำกล่องบรรจุขนมปังกรอบหมายจ.9 ของจำเลยมาเปรียบเทียบกับกล่องบรรจุขนมปังกรอบหมาย จ.6 ของโจทก์ กับนำกระป๋องบรรจุขนมปังกรอบของจำเลยหมาย จ.11 มาเปรียบเทียบกับกระป๋องบรรจุขนมปังกรอบหมาย จ.4 และ จ.5 ของโจทก์แล้ว จะเห็นได้ว่า กล่องและกระป๋องดังกล่าวของจำเลยมีขนาดเท่ากับกล่องและกระป๋องดังกล่าวของโจทก์ทั้ง 6 ด้าน รูปร่างลักษณะของกล่องและกระป๋องตลอดจนฝาก็เหมือนกัน สีและภาพต่าง ๆ ในตำแหน่งเดียวกันก็เหมือนกัน ขนาดของภาพและตัวอักษรที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันก็เท่ากัน นอกจากนี้ยังมีตัวอักษรที่เหมือนกันคือคำว่า”CREAM CRACKERS” และคำว่า “EXTRA LIGHT” ด้วย ส่วนตัวอักษรที่ต่างกันก็คือ ของโจทก์ใช้คำว่า “JACOB & COS” ส่วนของจำเลยใช้คำว่า “CHIT CHAI CO., LTD.” ของโจทก์ใช้คำว่า “JACOB’S”ของจำเลยใช้คำว่า “DRAGON BRAND” สำหรับผู้ที่อ่านอักษรโรมันไม่ได้ หากได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยในขณะเดียวกันก็ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีอะไรแตกต่างกันบ้าง แม้ผู้ที่อ่านอักษรโรมันได้ หากไม่พิจารณาให้รอบคอบหรือได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และของจำเลยต่างเวลากันก็น่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าได้เลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่ว่า เครื่องหมายการค้าที่ปรากฏที่กล่องขนมปังกรอบหมาย จ.9 และกระป๋องขนมปังกรอบหมาย จ.11 ของจำเลยมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่า สินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เริ่มมีการจดทะเบียนในประเทศไทยไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474ดังปรากฏตามเอกสารหหมาย จ.8 แผ่นที่ 2 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะเริ่มดำเนินกิจการ จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ สำหรับค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นก็เหมาะสมแล้วเพราะขนมปังกรอบที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ มีจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานและจำนวนมาก การที่จำเลยจำหน่ายสินค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์เสียหายโดยต้องสูญเสียยอดจำหน่ายในการตลาดไปบ้างบางส่วน
สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 หรือไม่นั้น เห็นว่า เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง หาใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่สามารถได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรานี้ไม่ ดังจะเห็นได้ว่าขณะที่จำเลยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นโจทก์ก็ยังคงใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่เสมอมา จำเลยหาได้แย่งการครอบครองเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่ประการใดไม่
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่า ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยที่ศาลอื่นชอบหรือไม่นั้น จำเลยอ้างว่าจุดประสงค์ของจำเลยในการขอส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่นก็เพื่อจำเลยจะพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาเป็นเวลานานจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าตามบทมาตราดังกล่าวดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ทั้งศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะเริ่มดำเนินกิจการเสียอีก เช่นนี้ การส่งประเด็นไปสืบตามความประสงค์ดังกล่าวของจำเลยจึงไม่อาจเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยที่ศาลอื่นจึงชอบแล้ว
อนึ่งที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโดยกลั่นแกล้งจำเลยนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อป้องกันสิทธิของโจทก์เอง จึงหาเป็นการกลั่นแกล้งจำเลยไม่ ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share