แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินที่จัดสรรโดยเฉพาะ มิได้มุ่งหมายให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรร ภาระจำยอมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง พันเอก ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิในการใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทที่เป็นภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณูปโภค เพียงแต่ต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งหก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้เท่านั้น ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้ต่อมา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ยังคงมีบทบัญญัติกำหนดให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ และมาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า “การพ้นจากความรับผิดชอบในการบํารุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 หรือผู้รับโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นํามาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บํารุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 เมื่อได้ดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกําหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบ การบํารุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลําดับ ดังต่อไปนี้…(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้…ดําเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์” ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองว่า ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนถนนให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาถนนอันเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกัน การที่ พ. ผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอก ว. โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทายาทโดยธรรมผู้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทต้องการจะพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาที่ดินพิพาทย่อมมีอำนาจที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 6 เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ และเพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรร รวมทั้ง พ. และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 70 วรรคสาม ประกอบมาตรา 44 (2) จึงไม่ใช่การกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริต ไม่ใช่การกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก และไม่เป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 13005 ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ระหว่างนางไพเวช ในฐานะทายาทโดยธรรมและผู้จัดการมรดกของพันเอกวัง กับจำเลยที่ 5 และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอกวังและนางไพเวชร่วมกันดำเนินการจดทะเบียนให้ที่ดินดังกล่าวตกอยู่ในภาระจำยอม เรื่อง ทางเดิน ทางรถยนต์ การวางท่อระบายน้ำ ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ และสาธารณูปโภคอื่น ๆ แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งหก หากจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า โดยให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด วังไพเวช โดยพันเอกวัง หุ้นส่วนผู้จัดการ จัดสรรที่ดินโฉนดเลขที่ 13005 เนื้อที่ 106 ไร่ 2 งาน 51 ตารางวา ที่มีชื่อพันเอกวังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แบ่งแยกเป็นแปลงย่อยออกจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ที่ดินส่วนที่เหลือทำเป็นถนนและสาธารณูปโภคภายในโครงการจัดสรรโดยผู้ซื้อที่ดินในโครงการจะต้องชำระเงินค่าทำถนนและสาธารณูปโภคดังกล่าว โจทก์ทั้งหกเป็นผู้ซื้อที่ดินในโครงการจัดสรรและได้ชำระค่าทำถนนและค่าสาธารณูปโภคดังกล่าว ถนนในโครงการตกอยู่ในภาระจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง เมื่อพันเอกวังถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางไพเวชเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 นางไพเวชในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอกวังยื่นคำขอโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่เป็นสาธารณูปโภคเป็นทางสาธารณประโยชน์ โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของพันเอกวังที่เกิดกับนางไพเวชและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอกวัง ปัจจุบันจำเลยที่ 5 โดยสำนักงานเขตดอนเมืองเป็นผู้ดูแลและรักษาที่ดินพิพาทที่เป็นทางสาธารณประโยชน์ คือ ซอยสรงประภา 22
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกว่า นางไพเวชในฐานะผู้จัดการมรดกของพันเอกวังมีอำนาจโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 5 เพื่อให้เป็นทางสาธารณประโยชน์หรือไม่ เห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้” และข้อ 32 บัญญัติว่า “ผู้ใดทำการจัดสรรที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และได้จำหน่ายที่ดินจัดสรรบางส่วน หรือได้จัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะ หรือได้ปรับปรุงที่ดินจัดสรรให้เป็นที่อยู่อาศัยที่ประกอบการพาณิชย์หรือที่ประกอบการอุตสาหกรรมไปแล้วบางส่วนของผู้นั้น ได้ยื่นรายการและแสดงหลักฐานตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ ก็ให้ทำการจัดสรรที่ดินนั้นต่อไปได้ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ เว้นแต่กิจการอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อ 30 ด้วย” ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด วังไพเวช ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน เพื่อประโยชน์ในการสัญจรและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินที่จัดสรรโดยเฉพาะ มิได้มุ่งหมายให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรตามบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นสิทธิโดยเฉพาะของเจ้าของสามยทรัพย์รวมทั้งโจทก์ทั้งหกและบุคคลที่อยู่อาศัยในสามยทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินจัดสรรเท่านั้นที่จะใช้สอยถนนซึ่งเป็นภาระจำยอมดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากพันเอกวังผู้เป็นเจ้าของภารยทรัพย์ บุคคลภายนอกจะใช้สอยถนนดังกล่าวได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพันเอกวังผู้เป็นเจ้าของภารยทรัพย์เท่านั้น เว้นแต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด วังไพเวช ผู้จัดสรรและพันเอกวังจะมีข้อตกลงกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรว่า เจ้าของภารยทรัพย์ไม่มีอำนาจอนุญาตให้บุคคลภายนอกใช้สอยถนนดังกล่าว การที่โจทก์ทั้งหกชำระเงินค่าทำถนนและค่าสาธารณูปโภคดังกล่าวด้วย แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด วังไพเวช และพันเอกวังตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้เป็นของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรวมทั้งโจทก์ทั้งหก ประกอบกับพันเอกวังยังมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จึงหาใช่พันเอกวังสละสิทธิในที่ดินพิพาทหรือที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งหกตั้งแต่วันทำสัญญาและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่อย่างใดไม่ ภาระจำยอมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง จึงไม่จำต้องจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ทั้งหกและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอีก แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด วังไพเวช ผู้จัดสรรหรือผู้รับโอนกรรมสิทธ์ที่ดินพิพาทจากพันเอกวังมีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาถนนอันเป็นสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป ตามปกติแล้ว เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทย่อมมีอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 อย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อที่ดินพิพาทตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแล้ว อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์นั้นจะถูกจำกัดลง แต่อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์นั้นไม่ได้หมดสิ้นไป ดังนั้น พันเอกวังในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ยังคงมีสิทธิอันชอบธรรมในการใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทที่เป็นภาระจำยอม ซึ่งเป็นเรื่องอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณูปโภคนั้น เพียงแต่ทำให้พันเอกวังต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งหกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้เท่านั้น ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้พันเอกวังมีสิทธิจำหน่ายที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่น ภาระจำยอมก็หาได้หมดสิ้นไป เว้นแต่กรณีจะต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น ภาระจำยอมจึงจะระงับ ดังนั้น ไม่ว่าผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจะสุจริตหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจจะยกขึ้นต่อสู้กับสิทธิภาระจำยอมของเจ้าของสามยทรัพย์ได้ เมื่อพันเอกวังถึงแก่ความตาย นางไพเวชในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอกวังรวมทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของพันเอกวังในฐานะผู้รับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมในการใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทที่เป็นภาระจำยอมได้เช่นเดียวกับพันเอกวัง และภาระจำยอมก็หาได้หมดสิ้นไป ประกอบกับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ข้อ 30 วรรคสอง บัญญัติว่า “หน้าที่ในการบำรุงรักษาตามวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีที่ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปได้อุทิศทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ หรือได้โอนให้แก่เทศบาล สุขาภิบาลหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งท้องที่ที่ที่ดินจัดสรรอยู่ในเขต” ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองว่า ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปมีสิทธิที่จะอุทิศถนนอันเป็นสาธารณูปโภคตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาถนนอันเป็นสาธารณูปโภคดังกล่าว ไม่เป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย และไม่เป็นละเมิดต่อเจ้าของที่ดินที่จัดสรรหรือเจ้าของสามยทรัพย์ แม้ต่อมาพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ยังคงมีบทบัญญัติกำหนดให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ แล้วยังมีบทเฉพาะกาลในมาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า “การพ้นจากความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 หรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นำมาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 เมื่อได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบ การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลำดับ ดังต่อไปนี้… (2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้… ดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์” ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองว่า ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปมีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนถนนอันเป็นสาธารณูปโภคตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาถนนอันเป็นสาธารณูปโภคดังกล่าวเช่นเดียวกัน อีกทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด วังไพเวช ผู้จัดสรรดำเนินการจัดสรรที่ดินตั้งแต่ก่อนปี 2515 และเมื่อพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มีผลใช้บังคับแล้วเป็นเวลานานหลายปี ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนแปลงย่อยมีมติให้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 45 รับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนอันเป็นสาธารณูปโภคมาเป็นของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเพื่อทำหน้าที่บำรุงรักษาแต่อย่างใด เมื่อที่ดินพิพาทมีอยู่มานานประมาณ 41 ปีแล้ว การที่นางไพเวชในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอกวังโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของพันเอกวัง ซึ่งเป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินพิพาท ต้องการจะพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาที่ดินพิพาท ก็ย่อมมีอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 6 เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ และเพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด วังไพเวช ผู้จัดสรร รวมทั้งนางไพเวชและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคนั้น ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ข้อ 30 วรรคสอง และพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 70 วรรคสาม ประกอบมาตรา 44 (2) จึงไม่ใช่การกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริต ไม่ใช่การกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก และไม่เป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกดังที่โจทก์ทั้งหกฎีกา โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณประโยชน์ระหว่างนางไพเวช ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของพันเอกวัง กับจำเลยที่ 5 ได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งหกอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหกมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งหกฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ