คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันประดิษฐ์คำว่า ของโจทก์แม้จะไม่ปรากฏความหมายทั่วไปในพจนานุกรม แต่ปรากฏชัดตามรูปลักษณะเสียงอ่านและคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.2 ว่าเป็นการนำอักษรโรมันคำว่า “Color” และ “Plus” มารวมกันนั่นเอง แม้โจทก์จะใช้รูปแบบ (Font) ของตัวอักษรเป็นลักษณะลวดลายการเขียน ก็ไม่ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำประดิษฐ์ อย่างไรก็ดีเมื่อนำอักษรโรมันดังกล่าวมารวมกันแล้ว ก็มีความหมายทั่วไปเพียงว่า “บวกสี”, “เพิ่มสี” ซึ่งเห็นได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าจำพวก 25 ตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนเพื่อให้กับเครื่องหมายการค้าของตน หรือหากจะพิจารณาตามที่จำเลยให้ความหมายว่า “เพิ่มบุคลิกภาพ” แล้ว ก็เป็นเพียงคำแนะนำ (Suggestive word) เท่านั้น ยังไม่ใช่คำพรรณนา (Descriptive word) ซึ่งจะทำให้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติสินค้าโดยตรง เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำขอเลขที่ 560021 เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันจะพึงรับจดทะเบียนได้ ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า กับให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวต่อไป
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำขอเลขที่ 560021 มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/257 ลงวันที่ 10 มกราคม 2548 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 73/2549 (ที่ถูก 673/2549) กับให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันประดิษฐ์ เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้า เครื่องแต่งกายต่างๆ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนให้เพราะเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 โจทก์อุทธรณ์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 คำว่า “Color” มีความหมายว่า ” สี ” และคำว่า “Plus” มีความหมายว่า “บวก”
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ โดยโจทก์มีนางสาวสุนิสา และนายสืบสิริ มาเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า อักษรโรมันประดิษฐ์คำว่า เป็นคำประดิษฐ์ ไม่มีความหมายในพจนานุกรม ไม่ได้เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย ส่วนจำเลยมีนางสาวนิดา และนางสาวทัศไนย์ มาเบิกความเป็นพยานว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ใช่คำประดิษฐ์ เป็นการนำอักษรโรมันคำว่า “Color” และ “Plus” มารวมกันซึ่งต่างมีความหมาย และเมื่อรวมกันแล้วได้ความหมายว่า “เพิ่มบุคลิกภาพ” เมื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้า เครื่องแต่งกายที่ขอจดทะเบียน จึงทำให้เข้าใจได้ถึงสรรพคุณหรือการใช้งานของสินค้าว่าเมื่อสวมใส่แล้วจะช่วยเสริมบุคลิกภาพ อันเป็นการเล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันประดิษฐ์คำว่า ของโจทก์แม้จะไม่ปรากฏความหมายทั่วไปในพจนานุกรม แต่ปรากฏชัดตามรูปลักษณะ เสียงอ่านและคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.2 ว่าเป็นการนำอักษรโรมันคำว่า “Color” และ “Plus” มารวมกันนั่นเอง แม้โจทก์จะใช้รูปแบบ (Font) ของตัวอักษรเป็นลักษณะลวดลายการเขียนก็ไม่ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำประดิษฐ์ อย่างไรก็ดี เมื่อนำอักษรโรมันดังกล่าวมารวมกันแล้วก็จะมีความหมายทั่วไปเพียงว่า “บวกสี, เพิ่มสี” ซึ่งเห็นได้ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าจำพวก 25 ตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าของตนหรือหากจะพิจารณาตามที่จำเลยให้ความหมายว่า “เพิ่มบุคลิกภาพ” แล้ว ก็เป็นเพียงคำแนะนำ (Suggestive word) เท่านั้น ยังไม่ใช่คำพรรณนา (Descriptive word) ซึ่งจะทำให้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share