แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เหตุที่สิบตำรวจโท จ. เดินทางไปที่บ้านของจำเลย ก็เพราะ อ. ให้การในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนว่าร่วมกับจำเลยลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดย อ. ให้จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายหลบหนีไปที่บ้านของจำเลย แม้คำให้การของ อ. นี้มีลักษณะเป็นคำซัดทอดซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 บัญญัติให้ศาลต้องใช้ความระมัดระวังในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานดังกล่าว และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลยก็ตาม แต่คำซัดทอดของ อ. ก็มิใช่คำซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิด เพราะมีรายละเอียดของการกระทำความผิดทั้งสอง อ. และของจำเลย ทั้งยังพาไปสู่การได้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่จำเลยขับหลบหนีไปที่บ้านของจำเลยคืน นับว่าเป็นคำซัดทอดที่มีเหตุผล
พฤติการณ์ที่จำเลยรอ อ. อยู่นอกบ้านของผู้เสียหายซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุในลักษณะที่จะเข้าช่วยเหลือ อ. ได้ทันทีเมื่อมีเหตุขัดข้องในขณะที่ อ. เข้าไปลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในบ้าน แล้ว อ. เดินจูงรถจักรยานยนต์นั้นออกมานอกบ้านให้จำเลยขับหลบหนีไปที่บ้านของจำเลยเช่นนี้ นับเป็นตัวการในการกระทำความผิดด้วยกัน
แม้การกระทำของจำเลยกับ อ. จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ตามฟ้องโจทก์ และโจทก์ไม่ได้ฎีกา แต่โดยที่ความผิดฐานรับของโจรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยมา กับความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติมิให้ถือว่าเป็นข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญ ดังนั้น ศาลฎีกาจึงมีอำนาจแก้ไขบทลงโทษจำเลยในความผิดตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาเสียให้ถูกต้องได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดโทษจำเลยให้สูงกว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามา เพราะจะเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 3 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง นายอนุพงษ์ กับพวกอีก 1 คน ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กยบ สุพรรณบุรี 345 ของนายเกี่ย ผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในบ้านของผู้เสียหายไป โดยร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม 2543 เจ้าพนักงาตำรวจจับกุมนายอนุพงษ์ได้ที่บ้านของภริยานายอนุพงษ์ ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนนายอนุพงษ์ให้การรับสารภาพ วันรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ที่บ้านของจำเลยพร้อมยึดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเป็นของกลาง ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยและนายอนุพงษ์ต่อศาลชั้นต้นข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนในเคหสถาน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จำเลยให้การปฏิเสธ ส่วนนายอนุพงษ์ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษนายอนุพงษ์กับมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยออกจากสารบบความ โจทก์จึงฟ้องกล่าวหาจำเลยเป็นคดีนี้ คดีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามาหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทฉลอง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางปลาม้า เป็นพยานเบิกความว่า วันที่ 17 ธันวาคม 2543 เวลา 14.30 นาฬิกา ผู้เสียหายมาแจ้งความต่อพยานว่ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งจอดไว้ในโรงรถข้างบ้านหน้ารถบรรทุกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2543 หายไป ผู้เสียหายสอบถามนายชัย ลูกจ้างของผู้เสียหายซึ่งนอนอยู่บนรถบรรทุกดังกล่าวในคืนเกิดเหตุ แล้วทราบว่านายอนุพงษ์มาจูงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป ครั้นเวลา 17 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายอนุพงษ์ได้ที่บ้านของภริยานายอนุพงษ์ ชั้นจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหานายอนุพงษ์ว่าร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน นายอนุพงษ์ให้การรับสารภาพ ชั้นสอบสวนพยานแจ้งข้อหานายอนุพงษ์ว่าร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนในเคหสถานโดยใช้ยานพาหนะ นายอนุพงษ์ให้การรับสารภาพและให้การซัดทอดว่าร่วมกับจำเลยลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดยนายอนุพงษ์กับจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปจอดไว้ที่โรงงิ้วใกล้บ้านของผู้เสียหาย แล้วเดินไปที่บ้านของผู้เสียหาย นายอนุพงษ์บอกให้จำเลยรออยู่ข้างนอก ส่วนนายอนุพงษ์เข้าในในบ้านของผู้เสียหาย แล้วลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่จอดอยู่ในโรงรถเดินจูงออกมานอกบ้านและให้จำเลยขับหลบหนีไปที่บ้านของจำเลย จากนั้นนายอนุพงษ์ขับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งเดินทางกลับบ้าน ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ที่บ้านพร้อมยึดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเป็นของกลาง โดยโจทก์มีสิบตำรวจโทใจ ผู้จับกุมจำเลยเบิกความสนับสนุนว่า พยานกับพวกเจ้าพนักงานตำรวจให้นายอนุพงษ์พาไปที่บ้านของจำเลย พบจำเลยอยู่ในส่วนหลังบ้านกำลังจะถอดเครื่องยนต์ออกจากรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดยจำเลยถอดกระจกมองหลังทั้งสองข้าง บังโคลนหน้า และไฟส่องท้ายออกไปแล้ว พยานจึงจับกุมจำเลยพร้อมยึดรถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นของกลาง เห็นว่า เหตุที่สิบตำรวจโทใจเดินทางไปที่บ้านของจำเลย ก็เพราะนายอนุพงษ์ให้การในชั้นจับกุมและ ในชั้นสอบสวนว่าร่วมกับจำเลยลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดยนายอนุพงษ์ให้จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายหลบหนีไปที่บ้านของจำเลย แม้คำให้การของนายอนุพงษ์นี้มีลักษณะเป็นคำซัดทอดซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 บัญญัติให้ศาลต้องใช้ความระมัดระวังในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานดังกล่าว และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลยก็ตาม แต่คำซัดทอดของนายอนุพงษ์ ก็มิใช่คำซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิด เพราะมีรายละเอียดของการกระทำความผิดทั้งของนายอนุพงษ์และของจำเลย ทั้งยังพาไปสู่การได้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่จำเลยขับหลบหนีไปที่บ้านของจำเลยคืน นับว่าเป็นคำซัดทอดที่มีเหตุผล พันตำรวจโทฉลองและ สิบตำรวจโทใจเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคือง กับจำเลยมาก่อน ข้อระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยให้ต้องโทษจึงไม่มี เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะเบิกความตามความเป็นจริง เมื่อนำคำเบิกความของพันตำรวจโทฉลองและสิบตำรวจโจในมาฟังประกอบสนับสนุนคำซัดทอดของนายอนุพงษ์ดังกล่าวแล้ว ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยร่วมรู้เห็นกับนายอนุพงษ์ในการลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาแต่แรก ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลย พบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในสวนมะม่วงของผู้อื่น จึงไปแจ้งต่อนายวันชัย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ง่ายแก่การกล่าวอ้าง แม้จำเลยมีนายวันชัยมาเบิกความสนับสนุน แต่นายวันชัยเป็นพี่ชายจำเลยย่อมต้องเบิกความช่วยเหลือจำเลย จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พฤติการณ์ที่จำเลยรอนายอนุพงษ์อยู่นอกบ้านของผู้เสียหายในขณะที่นายอนุพงษ์เข้าไปลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในบ้านแล้วนายอนุพงษ์เดินจูงรถจักรยานยนต์นั้นออกมานอกบ้านให้จำเลยขับหลบหนีไปที่บ้านของจำเลย เช่นนี้ นับเป็นตัวการในการกระทำความผิดด้วยกัน มิใช่เป็นความผิดฐาน รับของโจรดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามา โดยมิพักต้องคำนึงว่าโจทก์มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยร่วมกับนายอนุพงษ์ลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย และนายชัยที่เห็นนายอนุพงษ์ลักรถจักรยานยนต์นั้นจะได้ชี้ตัวจำเลยว่าเป็นคนร้ายหรือไม่ ทั้งนี้เพราะพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ในขณะที่นายอนุพงษ์เข้าไปลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดยจำเลยเพียงแต่รออยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุในลักษณะที่จะเข้าช่วยเหลือนายอนุพงษ์ได้ทันทีเมื่อมีเหตุขัดข้อง อย่างไรก็ตาม แม้การกระทำของจำเลยกับนายอนุพงษ์จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ตามฟ้องโจทก์ และโจทก์ไม่ได้ฎีกา แต่โดยที่ความผิดฐานรับของโจรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยมา กับความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติมิให้ถือว่าเป็นข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญ ดังนั้น ศาลฎีกาจึงมีอำนาจแก้ไขบทลงโทษจำเลยในความผิดตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาเสียให้ถูกต้องได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดโทษจำเลยให้สูงกว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามา เพราะจะเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ยกฟ้องความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7