คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16007/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 62 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา 28 มาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราดังต่อไปนี้ (1) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย” และมาตรา 63 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย” ดังนั้น การที่จำเลยให้ลูกจ้างและโจทก์ทำงานในวันหยุด โดยจ่ายค่าอาหาร ค่าจ้างโดยคำนวณจากยอดขายสินค้า และจัดให้ลูกจ้างหยุดชดเชยในวันอื่น โดยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 30,666.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าล่วงเวลา 43,121.11 บาท ค่าล่วงเวลาในวันหยุด 12,571.58 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 3,066.67 บาท ค่าชดเชย 138,000 บาท และค่าจ้างค้างจ่าย 14,567 บาท เงินประกันการทำงาน 4,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดจำนวน 10,361 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 มกราคม 2549) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2545 โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 23,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน และจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 รวมระยะเวลาที่โจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2548 จำเลยกำหนดเวลาทำงาน คือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8.30 ถึง 17.30 นาฬิกา พักเที่ยงเวลา 12.30 ถึง 13.30 นาฬิกา และวันเสาร์เวลา 8.30 ถึง 13.00 นาฬิกา โดยไม่มีพักเที่ยง ต่อมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 เป็นต้นไป จำเลยกำหนดเวลาทำงาน คือ วันจันทร์ ถึงวันเสาร์ เวลา 8.30 ถึง 17.30 นาฬิกา พักเที่ยงเวลา 12.30 ถึง 13.30 นาฬิกา และตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นเอกสารที่โจทก์คำนวณค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามอัตราเงินเดือนที่โจทก์ได้รับกับจำนวนวันและชั่วโมงที่ทำงาน โดยแยกเป็นค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นเงิน 3,068 บาท ค่าล่วงเวลาเป็นเงิน 45,913.50 บาท ค่าทำงานในวันหยุดเป็นเงิน 2,436 บาท และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นเงิน 10,425 บาท จำเลยได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงินจำนวน 2,500 บาท โจทก์ทำบัญชีให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดธรณ์ธัญย์ ในระหว่างเวลาทำงาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ กระดาษและอุปกรณ์สำนักงานของจำเลย การที่โจทก์รับงานนอกเข้ามาทำในระหว่างทำงานโดยอุปกรณ์ของจำเลยเป็นการเบียดบังทั้งเวลาและทรัพย์สินของจำเลย จำเลยย่อมได้รับความเสียหาย ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ไม่ได้ทำงานล่วงเวลาให้แก่จำเลยโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา เมื่อโจทก์มาทำงานในวันหยุดและได้มีการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่จำเลยให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด โดยจำเลยจ่ายค่าอาหาร ค่าจ้างคำนวณจากยอดขายสินค้า และจัดให้ลูกจ้างหยุดชดเชยในวันอื่นโดยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 62 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตาม มาตรา 28 มาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราดังต่อไปนี้ (1) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย” และมาตรา 63 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย” บทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้นายจ้างปฏิบัติในการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดโดยเคร่งครัดตามอัตราที่กำหนดไว้ เพราะบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างในเรื่องค่าแรงงาน จึงกำหนดอัตราค่าแรงงานไว้มิให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง ถือว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบังคับเด็ดขาด ซึ่งจะตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยให้ลูกจ้างและโจทก์ทำงานในวันหยุด โดยจ่ายค่าอาหาร ค่าจ้างโดยคำนวณจากยอดขายสินค้า และจัดให้ลูกจ้างหยุดชดเชยในวันอื่นโดยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่อาจใช้บังคับได้ จำเลยต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share