แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฯ มาตรา 63 เพียงข้อหาเดียว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธในชั้นศาล โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกคนต่างด้าวจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้ามาในราชอาณาจักรด้านอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายไม่มีหนังสือหรือเอกสารใช้แทนหนังสืออันถูกต้อง ไม่ผ่านเข้ามาทางช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่กำหนด จะนำคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมมาฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 หาได้ไม่
ทางนำสืบของโจทก์เจือสมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับคนต่างด้าวมาจากอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย โดย ด. ชาวโพนพิสัยติดต่อหาคนงานให้ ม. ภริยาของจำเลยที่ 3 ตามที่ ม. พยานโจทก์เบิกความยืนยัน แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าคนงานที่บรรทุกมาจากจังหวัดหนองคายเป็นคนต่างด้าว แต่เมื่อมิใช่นำหรือพาคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรจึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามฟ้องไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 และริบรถยนต์บรรทุกของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 (ที่ถูก มาตรา 63 วรรคหนึ่ง) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี ริบรถยนต์บรรทุกของกลางยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย คืนรถยนต์บรรทุกของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 เวลา 23.40 นาฬิกา ดาบตำรวจคงศักดิ์ และสิบตำรวจเอกพจนารถ พยานโจทก์กับพวกออกตรวจท้องที่ไปตามถนนสายชัยบาดาล – ด่านขุนทด เมื่อไปถึงที่พักสายตรวจซับตะเคียน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี พบรถยนต์บรรทุกของกลางแล่นมาจากอำเภอด่านขุนทดมุ่งหน้าไปอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี จึงเรียกให้หยุดตรวจ พบจำเลยที่ 1 เจ้าของรถเป็นผู้ขับ มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่งโดยสารมาข้างจำเลยที่ 1 กับมีผู้โดยสารคนไทยอีกคนหนึ่งนั่งข้างหลังจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ที่กระบะหลังรถซึ่งไม่มีผ้าคลุมยังพบนายสุข กับพวกรวม 115 คน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติลาว สัญชาติลาว โดยสารมาเต็มคันรถเพื่อไปเป็นคนงานรับจ้างในไร่อ้อยอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี จึงจับกุมจำเลยทั้งสามและแจ้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยทั้งสามถูกฟ้องในข้อหาดังกล่าวเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 เพียงข้อหาเดียว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธในชั้นศาล โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกคนต่างด้าวดังกล่าวจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในราชอาณาจักรทางด้านอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ไม่มีหนังสือหรือเอกสารใช้แทนหนังสืออันถูกต้อง ไม่ผ่านเข้ามาทางช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่กำหนด จะนำคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมมาฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 หาได้ไม่ แต่ทางนำสืบของโจทก์ได้ความจากดาบตำรวจคงศักดิ์ และสิบตำรวจเอกพจนารถพยานผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ที่บริเวณที่พักสายตรวจซับตะเคียน ตำบลซับตะเคียน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่งคู่ กับมีคนต่างด้าวเชื้อชาติลาว สัญชาติลาว จำนวน 115 คน และนายเคน ขาวสิงห์ คนไทย โดยสารมาเพื่อรับจ้างตัดอ้อยโดยเปิดเผยปราศจากหลังคาคลุมกระบะท้ายรถ และพยานโจทก์ทั้งสองยังเบิกความยืนยันสอดคล้องกันว่า ได้สอบถามนายสุข คนต่างด้าวคนหนึ่งแล้วรับต่อพยานว่าเป็นชาวลาวมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ลงเรือข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาในราชอาณาจักรที่จังหวัดหนองคาย ทั้งไม่ปรากฏว่าคนต่างด้าวคนอื่นจะให้การซัดทอดว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 พาพวกตนหลบหนีมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นอกจากนี้เมื่อศาลฎีกาตรวจคำให้การในชั้นสอบสวนของนายเคนตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งโจทก์มีพันตำรวจโทสุรศักดิ์ พนักงานสอบสวนเบิกความรับรองแล้ว นายเคน ให้การว่านายดวงดีหรือด้วง ชาวโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ชักชวนให้นายเคนเป็นคนงานตัดอ้อย เมื่อถึงวันเกิดเหตุมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อมารับนายเคนกับคนงานอื่นๆ ที่บ้านนายด้วง หลังจากนั้นก็เดินทางออกจากจังหวัดหนองคาย กระทั่งถึงที่เกิดเหตุจึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม เห็นได้ว่า ทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวเจือสมกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับคนต่างด้าวดังกล่าวมาจากอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย โดยนายดวงดีหรือด้วง ชาวโพนพิสัย ติดต่อหาคนงานให้นางมะหล่ำ ภริยาของจำเลยที่ 3 ตามที่นางมะหล่ำ พยานโจทก์เบิกความยืนยัน ดังนี้ แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าคนงานที่บรรทุกมาจากจังหวัดหนองคายเป็นคนต่างด้าว แต่เมื่อมิใช่นำหรือพาคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร จึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามฟ้องไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน