คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 729/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ต้องหาถูกจับกุมขณะบังคับใช้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ซึ่งตามมาตรา 50 กำหนดให้เจ้าพนักงานผู้รับเด็กหรือเยาวชนมีหน้าที่ต้องแจ้งการจับกุมไปยังผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยไม่ชักช้า ดังนั้น ผู้อำนวยการสถานพินิจย่อมมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการจัดทำรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนได้ โดยไม่จำต้องรอรับตัวเด็กหรือเยาวชนมาควบคุมภายหลังการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่พอใจ และพนักงานสอบสวนก็ต้องดำเนินการสอบสวนโดยกระทำควบคู่ไปพร้อมกับกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องขอผัดฟ้องบัญญัติว่า เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรีบดำเนินการสอบสวนและส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้ทันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุม แต่หากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องได้ทันตามวรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในวรรคสองและวรรคสาม จึงเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่ต้องการเร่งรัดให้มีการสอบสวนและฟ้องเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนให้ได้รับการพิจารณาคดีโดยเร็ว นอกจากนั้น พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคสี่ บัญญัติว่า ในระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนคดีต่อไป เมื่อการสอบสวนเสร็จให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาไปด้วย แม้มาตรา 19 วรรคท้าย บัญญัติว่า ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.นี้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมายก็ตาม แต่การที่ไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือผัดฟ้องดังกล่าวย่อมหมายถึงว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอฝากขังหรือผัดฟ้องเฉพาะช่วงระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยไม่ต้องนำระยะเวลาระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมารวมเข้ากับระยะเวลาที่ต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องหรือฝากขังเท่านั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องระบุว่า พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ต้องหาไม่เป็นที่พอใจตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 นับถึงวันที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอผัดฟ้องเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่ถูกจับกุม ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 51

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2554 มีใจความว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และพนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหาไปส่งศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดพะเยา ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องหาไม่เป็นที่พอใจ หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาให้ผู้ร้องเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 ผู้ร้องไม่สามารถฟ้องได้ทัน จึงขออนุญาตผัดฟ้องมีกำหนด 30 วัน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องเกินกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องบัญญัติว่า “เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรีบดำเนินการสอบสวนและส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้ทันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุม” แต่หากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อศาลให้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในวรรคสองและวรรคสาม จึงเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่ต้องการเร่งรัดให้มีการสอบสวนและฟ้องเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนให้ได้รับการพิจารณาคดีโดยเร็ว นอกจากนั้นพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคสี่ บัญญัติว่า ในระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้พนักงานสอบสวนดำเนินกระบวนการสอบสวนคดีต่อไป เมื่อสอบสวนเสร็จให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาไปด้วย แม้มาตรา 19 วรรคท้าย บัญญัติว่า ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมายก็ตาม แต่การที่ไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือผัดฟ้องดังกล่าวย่อมหมายถึงว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอฝากขังหรือผัดฟ้องเฉพาะช่วงระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยไม่ต้องนำระยะเวลาระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมารวมเข้ากับระยะเวลาที่ต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องหรือฝากขังเท่านั้น เมื่อตามคำร้องระบุว่าพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ต้องหาไม่เป็นที่พอใจตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 นับถึงวันที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอผัดฟ้องเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่ถูกจับกุม ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 51 ที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่า เมื่อผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่พอใจ พนักงานสอบสวนต้องแจ้งการควบคุมตัวและส่งผู้ต้องหาไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อให้สถานพินิจทำรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนก่อนฟ้องคดีนั้น เห็นว่า ขณะที่ผู้ต้องหาถูกจับกุมอยู่ระหว่างการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 50 ซึ่งกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้จับเด็กหรือเยาวชนมีหน้าที่ต้องแจ้งการจับกุมไปยังผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยไม่ชักช้า ดังนั้น ผู้อำนวยการสถานพินิจย่อมมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการจัดทำรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนได้โดยไม่จำต้องรอรับตัวเด็กหรือเยาวชนมาควบคุมภายหลังจากการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่พอใจ และพนักงานสอบสวนก็ต้องดำเนินการสอบสวนคู่ขนานไปกับกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด นอกจากนั้นหากต้องเริ่มนับวันที่จับกุมผู้ต้องหาใหม่เมื่อใดก็ได้ภายหลังจากผลการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่พอใจดังที่ผู้ร้องฎีกาแล้ว ย่อมเป็นการกระทบถึงสิทธิของเด็กหรือเยาวชนที่อาจต้องถูกควบคุมตัวตั้งแต่ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและยังถูกควบคุมภายหลัง ผลการที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่พอใจต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา อีกทั้งยังเป็นการขยายระยะเวลาการสอบสวนและการฟ้องคดีอาญาแก่เด็กหรือเยาวชนอันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการเร่งรัดให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องเด็กหรือเยาวชนต่อศาลเยาวชนและครอบครัวโดยเร็ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น ที่ยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share