แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดี มีข้อความว่า “โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้า บริษัท น. โดย ท. กรรมการผู้มีอำนาจ ขอมอบอำนาจให้ ก. และ / หรือ ข. เป็นผู้รับมอบอำนาจ โดยให้มีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญาต่อศาลที่มีอำนาจกับบริษัท อ. ธนาคาร ก. และ ส. จนคดีถึงที่สุด และในการนี้ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
เป็นการมอบอำนาจให้มีอำนาจกระทำการได้หลายครั้ง กล่าวคือ ฟ้องคดีแพ่งได้หลายคดี และยังฟ้องคดีอาญาได้อีกหลายคดีทั้งผู้ถูกฟ้องที่ระบุไว้ 3 ราย อาจถูกฟ้องแยกคดีจากกันได้ด้วย ในส่วนของผู้รับมอบอำนาจมี 2 คน เชื่อมด้วยสันธาน “และ / หรือ” จึงอยู่ในบังคับทั้งข้อ 7 (ข) และ (ค) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ต้องปิดแสตมป์ ตามข้อ 7 (ค) ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่า คำนวณได้เป็นเงิน 60 บาท โจทก์ปิดแสตมป์มาเพียง 30 บาท โจทก์จึงใช้ใบมอบอำนาจฉบับนี้เป็นหลักฐานในคดีนี้ไม่ได้ ตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 118
จำเลยให้การต่อสู้ในเรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีว่า ท. ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ ในขณะทำหนังสือมอบอำนาจ และตราประทับในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ จึงเกิดภาระแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ว่าการมอบอำนาจกระทำโดยชอบแล้ว
ท.จะใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนโจทก์หรือไม่ ใบมอบอำนาจย่อมไม่ใช่พยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ปัญหาข้อนี้ แต่ตราประทับในหนังสือมอบอำนาจใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้หรือไม่ โจทก์จำเป็นต้องใช้ ใบมอบอำนาจเป็นพยาน เพื่อการเปรียบเทียบตราประทับในใบมอบอำนาจกับตราสำคัญที่จดทะเบียนไว้ เมื่อใบมอบอำนาจต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเสียแล้ว และตามหนังสือรับรองมีเงื่อนไขว่าการกระทำในนามบริษัทโจทก์จะต้องประทับตราสำคัญด้วย จึงรับฟังไม่ได้ว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยได้กระทำโดยชอบแล้ว
เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะฟ้องเฉพาะผู้ค้ำประกันโดยไม่ฟ้องลูกหนี้ก็ได้ แม้ผู้ค้ำประกันจะไม่ได้เป็นลูกหนี้ร่วมกับ ลูกหนี้ก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายประเสริฐ ภัทรเจริญชัยและ / หรือ นายสุรชัย เตรียมชนะ ฟ้องคดีแทน เมื่อระหว่างวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๓๗ ถึงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ ซื้อสินค้าประเภทสังกะสีแผ่นเรียบจากโจทก์ ๒๒ ครั้ง รวมเป็นค่าสินค้าทั้งสิ้น ๔,๔๘๘,๑๖๙.๕๘ บาท จำเลยที่ ๑ ได้รับสินค้าไปครบถ้วนแล้ว และจะต้องชำระค่าสินค้าภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ส่งสินค้าแต่ละครั้ง ครั้นถึงกำหนดจำเลยที่ ๑ ชำระค่าสินค้าบางส่วนเป็นเงิน ๔๓๑,๖๔๙.๔๗ บาท คงค้างชำระเป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๓๗๓,๙๔๒.๐๔ บาท ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๑ ออกเช็ค ๗ ฉบับ ชำระหนี้ แต่เช็คทั้งหมดถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ และเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ค่าสินค้า ที่จำเลยที่ ๑ สั่งซื้อสิ้นเชิง จำเลยที่ ๓ ออกหนังสือค้ำประกันให้โจทก์ไว้ว่าหากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าสินค้า จำเลยที่ ๓ จะชำระแทนในวงเงินไม่เกิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามให้ชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี รวมค่าเสียหายถึงวันฟ้อง ๑,๔๕๓,๘๗๐.๕๒ บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงิน ๕,๘๒๗,๘๑๒.๕๖ บาท พร้อมค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ในต้นเงิน ๔,๓๗๓,๙๔๒.๐๔ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยที่ ๑ หรือที่ ๒ ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ ๓ ชำระแทนจำเลยที่ ๑ ในวงเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า นายทาคาโอะ โนดะ ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ในขณะทำหนังสือมอบอำนาจ ทั้งตราประทับในหนังสือมอบอำนาจ ก็ไม่ใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ต่อ กรมทะบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ นายประเสริฐ ภัทรเจริญชัย และนายสุรชัย เตรียมชนะ จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ซื้อสินค้าจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละ ๑๘ ต่อปี เพราะเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นโมฆะ หากจำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดคงรับผิดไม่เกิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๔,๓๗๓,๙๔๒.๐๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันที่ถึงกำหนดชำระค่าสินค้าเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้จำเลยที่ ๓ ชำระหนี้แทน โดยให้รับผิดในต้นเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๙ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระค่าสินค้าที่ซื้อจากโจทก์รวม ๔,๓๗๓,๙๔๒.๐๔ บาท
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเอกสารหมาย จ.๒ ปิดแสตมป์บริบูรณ์หรือไม่ ใบมอบอำนาจดังกล่าวมีข้อความว่า “โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้าบริษัทโนมูระเทรดดิ้ง (ไทย) จำกัด โดยนายทาคาโอะ โนดะ กรรการผู้มีอำนาจ ขอมอบอำนาจให้นายประเสริฐ ภัทรเจริญชัย และ / หรือ นายสุรชัย เตรียมชนะ เป็นผู้รับมอบอำนาจของข้าพเจ้า โดยให้มีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่ง และคดีอาญาต่อศาลที่มีอำนาจ กับบริษัท เอส. เอ็น. วี เมทอล (๑๙๘๖) จำกัด ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสำเพ็ง และนายสมชาย เอื้อเกษมสิน จนคดีถึงที่สุด และในการนี้ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจ ดังต่อไปนี้” ฯลฯ ข้อความเช่นนี้เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการได้กว้างมาก โดยให้มีอำนาจกระทำการได้มากมายหลายครั้ง กล่าวคือ ฟ้องคดีแพ่งได้หลายคดีและยังฟ้องคดีอาญาได้อีกหลายคดี ทั้งผู้ถูกฟ้องที่ระบุไว้ ๓ ราย อาจถูกฟ้องแยกคดีจากกันได้ด้วย ในส่วนของผู้รับมอบอำนาจมี ๒ คน เชื่อมด้วยสันธาน “และ / หรือ” แสดงว่า “และ” ก็ได้ “หรือ” ก็ได้ กรณี “และ” หมายความว่า ๒ คน ร่วมกันกระทำ ต้องด้วยข้อ ๗ (ข) ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด ๖ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีความว่า “มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียว” ต้องปิดแสตมป์ ๓๐ บาท กรณี “หรือ” ย่อมกระทำแยกกันได้ คือนายประเสริฐอาจฟ้องคดีหนึ่ง นายสุรชัยอาจฟ้องอีกคดีหนึ่ง จึงต้องด้วยข้อ ๗ (ค) ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ดังกล่าว ซึ่งมีความว่า “มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้” ต้องปิดแสตมป์ตามรายตัวบุคคลที่รับมอบ คนละ ๓๐ บาท ผู้รับมอบ ๒ คน ก็ต้อง ปิดแสตมป์ ๖๐ บาท ข้อความในใบมอบอำนาจของโจทก์ไม่อาจตีความว่า เมื่อนายประเสริฐกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนแล้ว นายสุรชัยจะกระทำการใด ๆ ไม่ได้เลย หรือเมื่อนายสุรชัยกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนแล้ว นายประเสริฐจะกระทำการใด ๆ ไม่ได้เลย กล่าวคือ กรณีเชื่อมด้วย “หรือ” หาได้มีความหมายว่า คนใดคนหนึ่งเป็น ผู้รับมอบอำนาจเพียงคนเดียว สุดแต่ผู้รับมอบอำนาจจะเลือกในระหว่างกันเอง เมื่อวินิจฉัยดังนี้ ใบมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.๒ จึงอยู่ในบังคับทั้งข้อ ๗ (ข) และ (ค) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ต้องปิดแสตมป์ตามข้อ ๗ (ค) ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่า คำนวณได้เป็นเงิน ๖๐ บาท โจทก์ปิดแสตมป์มาเพียง ๓๐ บาท เป็นการไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามนิยามในประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๐๓ โจทก์จะใช้ใบมอบอำนาจฉบับนี้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ไม่ได้ ตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การต่อสู้ในเรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีว่า นายทาคาโอะ โนดะ ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ในขณะทำหนังสือมอบอำนาจ และตราประทับในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ จึงเกิดภาระแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ว่าการมอบอำนาจกระทำโดยชอบแล้ว เห็นว่า กรณีนายทาคาโอะ โนดะ ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนโจทก์หรือไม่ โจทก์ย่อมนำสืบด้วยพยานหลักฐานอื่นใบมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.๒ ไม่ใช่พยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ปัญหาข้อนี้ แต่กรณีตราประทับในหนังสือ มอบอำนาจใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้หรือไม่ โจทก์จำเป็นต้องใช้ใบมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.๒ เป็นพยาน เพื่อการเปรียบเทียบตราประทับในใบมอบอำนาจกับตราสำคัญที่จดทะเบียนไว้ เมื่อใบมอบอำนาจเอกสาร หมาย จ.๒ ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเสียแล้ว การที่โจทก์จะนำสืบโดยวิธีเปรียบเทียบดังกล่าวย่อมกระทำไม่ได้ และตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.๑ มีเงื่อนไขว่าการกระทำในนามโจทก์จะต้องประทับตราสำคัญด้วย ส่งผลให้รับฟังไม่ได้ว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ กระทำโดยชอบแล้ว การที่นายประเสริฐผู้รับมอบอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้แต่งนายบรรพต ไชยนันทน์ เป็นทนายความ แล้วนายบรรพตลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้อง จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ คดีสำหรับจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้ให้การปฏิเสธในเรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเท่ากับว่าจำเลยที่ ๓ ยอมรับว่ามีการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยถูกต้องแล้ว โจทก์ไม่จำต้องพิสูจน์ใด ๆ เกี่ยวกับการมอบอำนาจ แม้จะมีผลเป็นว่าการตั้งตัวแทนไม่ได้ทำเป็นหนังสือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๘ เนื่องจากใบมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ. ๒ รับฟังเป็นพยานไม่ได้ ก็ไม่ทำให้การที่นายประเสริฐฟ้อง จำเลยที่ ๓ แทนโจทก์เสียไป เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว เท่ากับว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓ ผู้ค้ำประกันซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้ร่วม แต่ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นลูกหนี้โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ผิดนัดแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ฟ้องเช่นนี้ได้ หรือไม่ เห็นว่า เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะฟ้องเฉพาะผู้ค้ำประกันโดยไม่ฟ้องลูกหนี้ด้วยได้ แม้ผู้ค้ำประกันจะไม่ได้เป็นลูกหนี้ ร่วมกับลูกหนี้ก็ตาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๓ ชำระเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๙) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒