คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการหารายได้ให้แก่จำเลย การที่โจทก์มีคำสั่งโดยพลการเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยแล้วยังเห็นได้อย่างชัดแจ้งอีกว่าจำเลยจะต้องได้รับความเสียหาย เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยโจทก์มีคำสั่งให้พนักงานขับรถซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของโจทก์ขับรถนำพนักงานขายของจำเลยไปชมการสาธิตเครื่องดูดฝุ่นของบริษัท ฮ. อันเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าที่จำเลยจำหน่าย โดยฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่มีคำสั่งให้พนักงานขับรถดังกล่าวขับรถนำพนักงานขายสินค้าของจำเลยไปขายที่อื่น โดยโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบอยู่ก่อนแล้วหรือเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่จำเลยและหลังจากที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์ก็ได้ไปทำงานที่บริษัท ฮ. โดยมีพนักงานขายของจำเลยที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ลาออกจากจำเลยไปทำงานกับโจทก์อีกด้วยการกระทำของโจทก์จึงเป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 75,578 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 385,381 บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน 9,000,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ยุยงและชักชวนพนักงานของจำเลยที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ให้ไปทำงานที่บริษัทอื่นซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของจำเลย และยังทุจริตต่อเวลาทำงานและใช้บุคลากรกับยานพาหนะของจำเลยไปปฏิบัติงานให้แก่บริษัทอื่นเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยหมวดที่ 8 ข้อ 3.2.2 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า เมื่อปี 2535 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2541 โจทก์ได้มีคำสั่งให้นายสุกีร์ จันทรวิชิต นายไพรัตน์ ไกรแสงและนายพิษณุ เอื้อมจิตต์เมต พนักงานขับรถซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของโจทก์ขับรถนำพนักงานขายของจำเลยไปที่บริษัทไฮโดรแอร์ ซิสเท็ม จำกัด ที่อยู่บริเวณแยกลำสาลี ถนนรามคำแหง เพื่อชมการสาธิตใช้เครื่องดูดฝุ่นยี่ห้อเรนโบว์ของบริษัทดังกล่าวอันเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าที่จำเลยจำหน่ายทั้งนี้เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่มีคำสั่งให้พนักงานขับรถทั้งสามขับรถนำพนักงานขายของจำเลยไปขายสินค้าของจำเลยบริเวณฝั่งธนบุรี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะสาเหตุดังกล่าว เห็นว่า โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยซึ่งถือได้ว่า เป็นตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการหารายได้ให้แก่จำเลยการที่โจทก์มีคำสั่งให้นายสุกีร์ นายไพรัตน์ และนายพิษณุ พนักงานขับรถซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของโจทก์ขับรถนำพนักงานขายของจำเลยไปชมการสาธิตเครื่องดูดฝุ่นยี่ห้อเรนโบว์ของบริษัทไฮโดรแอร์ ซิสเท็ม จำกัด อันเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าที่จำเลยจำหน่าย โดยฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่มีคำสั่งให้พนักงานขับรถทั้งสามนำพนักงานขายสินค้าของจำเลยไปขายสินค้าที่บริเวณฝั่งธนบุรี อีกทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบอยู่ก่อนแล้วหรือเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่จำเลยแต่อย่างใด ประกอบกับภายหลังจากที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์ก็ได้ไปทำงานที่บริษัทไฮโดรแอร์ ซิสเท็ม จำกัด โดยมีพนักงานขายของจำเลยที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ลาออกจากจำเลยไปทำงานกับโจทก์อีกด้วย การที่โจทก์มีคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยพลการเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยแล้วยังเห็นได้อย่างชัดแจ้งอีกว่าจำเลยจะต้องได้รับความเสียหาย เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทน การกระทำของโจทก์จึงเป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)

พิพากษายืน

Share