คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5423/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า ส.และ อ.ได้ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.1 อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างที่ทำการเกษตรตำบล จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองปลูกสร้างที่ทำการและบ้านพักเกษตรตำบลลงในที่ดินพิพาทแล้วการที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ส.และอ.ไม่ได้ทำหนังสือเอกสารหมายล.1 อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ฎีกาว่า การยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ยังไม่สมบูรณ์เพราะจำเลยที่ 1 เพิ่งได้รับการส่งมอบและเข้าครอบครองที่ดินพิพาทในปี 2523 แต่ปรากฏว่าในวันที่ 6 กรกฎาคม 2522 ส.ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของโจทก์ทันทีนับแต่วันจดทะเบียนขายฝาก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกข้อต่อสู้เรื่องการยกให้ที่ดินพิพาทมายันโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 1ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนนั้น ปัญหานี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 เพียงแต่ยกตัวอย่างสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ดูบางส่วนเท่านั้น ที่ทำการเกษตรตำบลเป็นส่วนราชการสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานของรัฐ ถือได้ว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ดังนั้น การที่ ส.และอ.ทำหนังสืออุทิศที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.1 ให้แก่จำเลยที่ 1เพื่อสร้างที่ทำการเกษตรตำบลสาลี แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็สมบูรณ์ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8351 และ 10372 จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ 1 ตำแหน่งเกษตรจังหวัด และเกษตรตำบลตามลำดับ เมื่อประมาณปี2523 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกันสร้างบ้านพักเกษตรตำบลให้จำเลยที่ 3 พักอาศัยในที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือรู้เห็นยินยอมจากโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์บอกกล่าวให้รื้อถอนออกไปแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามกับบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และร่วมกันรื้อถอนบ้านพักเกษตรตำบลออกไปจากที่ดินของโจทก์โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสามและห้ามจำเลยทั้งสามเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยทั้งสามให้การว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2520นายสัมฤทธิ์และนางสะอาด ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8351 และ 10372 ได้ทำหนังสืออุทิศที่ดินจำนวน 1 ไร่ให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อทำการปลูกสร้างที่ทำการและบ้านพักเกษตรตำบลภายหลังจำเลยที่ 1 รับการยกให้แล้ว จำเลยที่ 1 ได้เลือกเอาที่ดินบริเวณที่พิพาทเป็นสถานที่ก่อสร้างและได้ปลูกสร้างที่ทำการบ้านพักเสร็จเรียบร้อยและใช้บ้านพักดังกล่าวเป็นที่ทำการของเกษตรตำบลเพื่อสาธารณประโยชน์ ขณะดำเนินการก่อสร้างโจทก์ได้รู้เห็นแต่ไม่ทักท้วง จึงเป็นการยกที่ดินให้แก่ทางราชการนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลยที่ 1 นับแต่ยกให้โดยไม่ต้องจดทะเบียน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง สำหรับในกรณีของโจทก์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า นายสัมฤทธิ์และนางสะอาดได้ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.1 อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างที่ทำการเกษตรตำบลสาลีแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1ได้เข้าครอบครองปลูกสร้างที่ทำการและบ้านพักเกษตรตำบลสาลีลงในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ฎีกาอ้างว่านายสัมฤทธิ์และนางสะอาดไม่ได้ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.1 อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 นั้นเป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาโจทก์ที่ว่าการยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ยังไม่สมบูรณ์เพราะจำเลยที่ 1 เพิ่งได้รับการส่งมอบและเข้าครอบครองที่ดินพิพาทในปี2523 แต่ปรากฏว่าในวันที่ 6 กรกฎาคม 2522 นายสัมฤทธิ์ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของโจทก์ทันทีนับแต่วันจดทะเบียนขายฝากจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกข้อต่อสู้เรื่องการยกให้ที่ดินพิพาทมายันโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 1ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนนั้น เห็นว่าปัญหานี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยสำหรับฎีกาข้อสุดท้ายของโจทก์ที่ว่าการอุทิศที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย ล.1 ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ จึงมิใช่เป็นการอุทิศที่ดินเพื่อสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงฟ้องขับไล่จำเลยได้นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 บัญญัติว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นรวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น (1) ฯลฯ (2)ฯลฯ (3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเป็นต้นว่าป้อมและโรงทหารสำนักราชการบ้านเมือง ฯลฯ” จะเห็นได้ว่ากฎหมายเพียงแต่ยกตัวอย่างมาให้ดูบางส่วนเท่านั้น ที่ทำการเกษตรตำบลสาลีเป็นส่วนราชการสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานของรัฐ ถือได้ว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 แล้ว ดังนั้น การที่นายสัมฤทธิ์และนางสะอาดทำหนังสืออุทิศที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.1 ให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อสร้างที่ทำการเกษตรตำบลสาลีแม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็สมบูรณ์ตามกฎหมาย
พิพากษายืน

Share