คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 937/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2499 เป็นกฎหมายที่ออกมาล้างมลทินให้แก่ผู้ที่มีมลทินอยู่ก่อนแล้ว คือ ผู้ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษที่ได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คือ วันที่ 13 พ.ศ. 2500 หาใช่จะล้างมลทินให้แก่ผู้ที่มีมลทินต่อๆไปจนกว่า พระราชบัญญัตินี้จะยกเลิกไม่ จำเลยต้องโทษและพ้นโทษเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2500 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่ พระราชบัญญัติ นี้ใช้บังคับ กรณีย่อมไม่เข้าเกณฑ์ตาม มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว จำเลยจึงไม่ได้รับผลแห่งการล้างมลทินประการใด

ย่อยาว

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 จำคุก 2 ปี เพิ่มโทษจำเลยตาม มาตรา 93 กึ่งหนึ่งเป็นจำคุก 3 ปี จำเลยรับสารภาพ เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ลดโทษ 1 ใน ตาม มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยแรงไป และว่าจำเลยได้รับการล้างมลทินแล้วเพิ่มโทษไม่ได้

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า กำหนดโทษ 2 ปี ไม่รุนแรง ส่วนเรื่องเพิ่มโทษนั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติ ล้างมลทินฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 2500 เป็นต้นไป คดีที่จำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกตามใบแดงแจ้งโทษท้ายฟ้องปรากฏว่า จำเลยพ้นโทษเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2500 ซึ่งเป็นวันภายหลังที่ พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับจำเลยย่อมไม่ได้รับผลตามมาตรา 3 แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าว พิพากษา จำเลยฎีกาว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 2500 เป็นต้นไป จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2501 และ 2502 จนกว่าจะประกาศยกเลิก แต่ศาลอุทธรณ์ถือเสียว่า พระราชบัญญัตินี้ใช้ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 2500 ย้อนหลังไปจึงคลาดเคลื่อน

ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติ ล้างมลทินฯ พ.ศ. 2499 เป็นกฎหมายที่ออกมาล้างมลทินให้แก่ผู้ที่มีมลทินอยู่ก่อนแล้ว คือ ผู้ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษที่ได้พ้นโทษไปแล้วก่อน หรือในวันที่ พระราชบัญญัติ นี้ใช้บังคับ คือ วันที่ 13 พ.ค. 2500 ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 2 และ 3, ผลของ พระราชบัญญัตินี้ หาใช่จะล้างมลทินให้แก่ผู้ที่มีมลทินต่อ ๆไป จนกว่า พระราชบัญญัติ นี้ จะยกเลิกดังจำเลยฎีกาไม่ เมื่อจำเลยในคดีนี้ต้องโทษและพ้นโทษเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2500 ซึ่งเป็นวันหลังจากวัน พระราชบัญญัติ นี้ใช้บังคับ กรณีก็ย่อมไม่เข้าเกณฑ์แห่ง มาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยจึงไม่ได้รับผลแห่งการล้างมลทินประการใดถูกต้องตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้ว

พิพากษายืน

Share