แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกรมเจ้าท่ากำหนดว่า “สารหรือสิ่งของใดจัดอยู่ในชั้นและประเภทใดให้เป็นไปตาม INTERNATIONAL MARITIME DANGEROUS GOODS CODE (IMDG CODE) ขององค์การทางการค้าระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL MARITIME ORGANIZATION หรือ IMO)” ดังนั้น สิ่งของใดจะเป็นสิ่งของอันตรายบ้างนั้น ก็ต้องเป็นไปตามที่ IMDG CODE กำหนดไว้ที่ประเทศไทยต้องยอมรับในฐานะที่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วย ความปลอดภัยแก่ชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 (THE INTERNATIONAL CONVENTION FOR THE SAFETY OF LIFE AT SEA 1974) เมื่อ IMDG CODE ระบุว่า ถ่านที่มาจากพืชเป็นของที่ลุกไหม้ได้โดยธรรมชาติ เพราะสามารถร้อนตัวขึ้นช้า ๆ และติดไฟได้เองในอากาศ ดังนั้น ถ่านไม้โกงกางสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งของที่อาจเกิด อันตรายได้
ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 33 กำหนดให้ผู้ส่งของมีหน้าที่ต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายหีบห่อบรรจุตามสมควรเพื่อให้ผู้ขนส่งได้รู้ว่าเป็นของอันตราย ทั้งต้องแจ้งถึงสภาพอันตรายของสิ่งของ นั้นด้วย ก็โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะให้ผู้ขนส่งได้มีโอกาสดูแลรักษาสินค้าด้วยความระมัดระวังและถูกต้อง อันจะเป็น การปกป้องผู้ขนส่งและบุคคลอื่นมิให้ได้รับอันตรายหรือต้องเสียหายจากสิ่งของอันตรายดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นจากตัวสิ่งของนั้นเองได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ผู้ส่งของมิได้ทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายหีบห่อที่บรรจุถ่านไม้โกงกาง ตามสมควรเพื่อให้โจทก์ผู้ขนส่งได้รู้ว่าเป็นของอันตราย ทั้งมิได้แจ้งถึงสภาพอันตรายของถ่านไม้โกงกางให้โจทก์ทราบด้วย คงแจ้งให้โจทก์ทราบแต่เพียงว่าเป็นถ่านไม้โกงกาง เช่น เมื่อถ่านไม้โกงกางเกิดติดไฟขึ้นเองในตู้สินค้าที่บรรจุหีบห่อถ่านไม้โกงกางสินค้าของจำเลยที่ 1 จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าในตู้สินค้าอื่น ๆ ที่โจทก์รับขน ไปด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ย่อยาว
คดีนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาพิพากษารวมกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ก.ค. ๒๐๐/๒๕๔๑ ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่มีอุทธรณ์ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเฉพาะคดีนี้เท่านั้น คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ก.ค. ๒๐๐/๒๕๔๑ ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๒,๐๓๑,๕๗๐.๒๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของเงินต้นจำนวน ๑,๙๘๒,๒๘๔.๖๖ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๙๘๒,๒๘๔.๖๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ เป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน ๔๙,๒๘๕.๕๗ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ว่าจ้างโจทก์ขนส่งถ่านไม้โกงกางจำนวน ๖๘๗ กล่อง ที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้าหมายเลข จีเอสทียู ๘๐๗๗๘๑๑ ไปให้แก่ผู้ซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น โจทก์ใช้เรือเดินทะเล ชื่อ “กูยุ” บรรทุกสินค้าของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวร่วมกับตู้สินค้าอื่นออกเดินทางจากท่าเรือกรุงเทพไปถึงท่าเรือเมืองฮ่องกงในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๗ เพื่อจะขนถ่ายตู้สินค้าที่บรรจุถ่านไม้ของจำเลยที่ ๑ ไปบรรทุกเรือลำอื่นเดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๗ ในระหว่างขนถ่ายได้เกิดไฟไหม้ตู้สินค้าบรรจุถ่านไม้ของจำเลยที่ ๑ และลุกลามไหม้ตู้สินค้าอื่นเสียหายอีก ๒ ตู้ มีสินค้าเสียหายด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ถ่านไม้สินค้าของจำเลยที่ ๑ เป็นสินค้าอันตรายหรือไม่ เห็นว่า ตามประกาศกรมเจ้าท่าที่ ๓๕๓/๒๕๒๙ เรื่องการกำหนดชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ กำหนดไว้ว่า “สารหรือสิ่งของใดจัดอยู่ในชั้นและประเภทใดให้เป็นไปตาม INTERNATIONAL MARITIME DANGEROUS GOODS CODE (IMDG CODE) ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL MARITIME ORGANIZATION หรือ IMO)” ดังนั้น สิ่งของใดจะเป็นสิ่งของอันตรายบ้างนั้นก็ต้องเป็นไปตามที่ IMDG CODE กำหนดไว้ที่ประเทศไทยต้องยอมรับในฐานะที่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. ๑๙๗๔ (THE INTERNATIONAL CONVENTION FOR THE SAFETY OF LIFE AT SEA ๑๙๗๔) ซึ่ง IMDG CODE ก็ระบุไว้ว่า ถ่านที่มาจากพืชเป็นของที่ลุกไหม้ได้โดยธรรมชาติ สามารถร้อนตัวขึ้นช้า ๆ และติดไฟได้เองในอากาศ ดังนั้น ถ่านไม้โกงกางสินค้าของจำเลยที่ ๑ จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งของที่อาจเกิดอันตรายได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ถ่านไม้ของจำเลยที่ ๑ เป็นสินค้าอันตรายนั้นจึงชอบแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้แจ้งเหตุว่าถ่านไม้โกงกางเป็นสินค้าอันตรายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มิได้เป็นกฎหมายที่ประชาชนทุกคนต้องรับรู้ เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ทราบข้อเท็จจริงมาก่อนว่า ถ่านไม้โกงกางเป็นสินค้าอันตรายก็ถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๑ กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓๓ ได้กำหนดให้ผู้ส่งของมีหน้าที่ต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายหีบห่อบรรจุตามสมควรเพื่อให้ผู้ขนส่งได้รู้ว่าเป็นของอันตราย ทั้งต้องแจ้งถึงสภาพอันตรายของสิ่งของนั้นด้วย นั้น ก็โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะให้ผู้ขนส่งได้มีโอกาสดูแลรักษาสินค้าด้วยความระมัดระวังและถูกต้องอันจะเป็นการปกป้องผู้ขนส่งและบุคคลอื่นมิให้ได้รับอันตรายหรือต้องเสียหายจากสิ่งของอันตรายดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นจากตัวสิ่งของนั้นเองได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ถ่านไม้โกงกางสินค้าของจำเลยที่ ๑ เป็นทรัพย์อันตรายและจำเลยที่ ๑ ก็มิได้ทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายหีบห่อบรรจุถ่านไม้โกงกางตามสมควรเพื่อให้โจทก์ผู้ขนส่งได้รู้ว่าเป็นของอันตราย ทั้งจำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้แจ้งถึงสภาพอันตรายของถ่านไม้โกงกางให้โจทก์ทราบด้วย คงแจ้งให้โจทก์ทราบแต่เพียงว่าเป็นถ่านไม้โกงกางเช่นนี้ เมื่อถ่านไม้ป่าไม้โกงกางเกิดติดไฟขึ้นเองในตู้สินค้าที่บรรจุหีบห่อถ่านไม้โกงกางสินค้าของจำเลยที่ ๑ จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าในตู้สินค้าอื่นที่โจทก์รับขนไปด้วย จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นนี้ให้.