คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 727/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จะทราบถึงเจตนาที่แท้จริงของคู่ความเกี่ยวกับการชำระเงิน 50,000 บาท นั้น จำต้องพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ สภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่และความเป็นไปได้ถึงที่มาของการติดต่อเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเพื่อเป็นข้อหยั่งเจตนาของคู่ความแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ โจทก์ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทติดจำนองเป็นเงินถึง 200,000 บาท แม้จะยืนยันว่าจำเลยเป็นฝ่ายเสนอขายที่ดินพิพาท แต่โจทก์เห็นว่าราคาขายเพียง 50,000 บาท ซึ่งเป็นราคาถูกจึงตกลงซื้อนั้น ย่อมเป็นพิรุธประการหนึ่ง และโจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยมิใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้ แต่โจทก์กลับติดต่อกับจำเลยโดยตรง นับว่าเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง ส่วนที่จำเลยบันทึกข้อความด้วยลายมือของตนเองลงในเอกสารท้ายสัญญาจำนองว่าได้รับเงินจำนวน 50,000 บาท ไว้เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ปรากฏมีข้อความว่าเป็นการซื้อขายแต่อย่างใด อีกทั้งโจทก์เองก็มิได้ทักท้วงถึงความไม่ถูกต้องเสียแต่แรก ดังนั้น ที่โจทก์นำสืบว่าเป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาทในราคาเพียง 50,000 บาท จึงไม่น่าเชื่อถือข้อเท็จจริงมีเหตุอันควรเชื่อว่า การที่โจทก์มอบเงิน 50,000 บาท ให้จำเลยนั้น เป็นการชำระหนี้จำนองบางส่วนแทน ร. หาใช่เป็นการชำระค่าที่ดินดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระคืนจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินกับจำเลยตามโฉนดพิพาท เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ได้ไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ แต่กลับอ้างว่าเงินจำนวน 50,000 บาท ที่โจทก์ชำระ เป็นส่วนหนึ่งของค่าไถ่ถอนจำนองที่ดินที่จำเลยรับจำนองไว้จากผู้จำนอง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ และไม่เคยทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับโจทก์ เงินจำนวน 50,000 บาท เป็นเงินที่โจทก์นำมาชำระหนี้แทนผู้จำนองบางส่วน โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางราณี ซึ่งนำไปจำนองไว้แก่จำเลยเป็นเงิน 200,000 บาท เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2548 โจทก์นำเงิน 50,000 บาท มอบให้จำเลย จำเลยรับไว้และบันทึกลงในท้ายสัญญาจำนองว่า จำเลยได้รับเงิน 50,000 บาท ไว้แล้วรายละเอียดตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ. 1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อเดียวว่า เงิน 50,000 บาท ที่โจทก์มอบให้จำเลยนั้นเป็นค่าที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันหรือเป็นการชำระหนี้ค่าจำนองที่ดินบางส่วนของนางราณีผู้จำนอง โจทก์มีโจทก์เป็นพยานปากเดียวเบิกความยืนยันว่าเป็นการชำระค่าที่ดินที่ตกลงซื้อจากจำเลย ส่วนจำเลยก็มีจำเลยเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าโจทก์นำเงินดังกล่าวมามอบให้จำเลยเป็นการชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองบางส่วนแทนนางราณี เห็นว่า พยานที่รู้เห็นเกี่ยวกับการชำระเงิน 50,000 บาท นั้น คงมีโจทก์และจำเลยเท่านั้น ไม่มีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนพยานจำเลยปากอื่นล้วนเป็นพยานแวดล้อมภายหลังเกิดเหตุ กรณีจึงเป็นลักษณะพยานยันกันปากต่อปาก การที่จะทราบถึงเจตนาที่แท้จริงของคู่ความเกี่ยวกับการชำระเงิน 50,000 บาท นั้น จำต้องพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ สภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่และความเป็นไปได้ถึงที่มาของการติดต่อเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเพื่อเป็นข้อหยั่งเจตนาของคู่ความแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ โจทก์เคยทำงานอยู่ที่ร้านค้าของนางราณีและทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทติดจำนองเป็นเงินถึง 200,000 บาท แม้จะยืนยันว่าจำเลยเป็นฝ่ายเสนอขายที่ดินพิพาท แต่โจทก์เห็นว่าราคาขายเพียง 50,000 บาท ซึ่งเป็นราคาถูกจึงตกลงซื้อนั้น ย่อมเป็นพิรุธประการหนึ่งและโจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยมิใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้ แต่โจทก์กลับติดต่อกับจำเลยโดยตรง นับว่าเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่งส่วนที่จำเลยบันทึกข้อความด้วยลายมือของตนเองลงในเอกสารท้ายสัญญาจำนองว่าได้รับเงินจำนวน 50,000 บาท ไว้เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ปรากฏมีข้อความว่าเป็นการซื้อขายแต่อย่างใด อีกทั้งโจทก์เองก็มิได้ทักท้วงถึงความไม่ถูกต้องเสียแต่แรก ดังนั้นที่โจทก์นำสืบว่าเป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาทในราคาเพียง 50,000 บาท จึงไม่น่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงมีเหตุอันควรเชื่อว่า การที่โจทก์มอบเงิน 50,000 บาท ให้จำเลยนั้น เป็นการชำระหนี้จำนองบางส่วนแทนนางราณี หาใช่เป็นการชำระค่าที่ดินดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระคืนจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share