แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เข้าพักในโรงแรมได้นำรถยนต์ไปจอดไว้ที่ถนนสาธารณะหน้าโรงแรมตามที่พนักงานโรงแรมบอกให้จอด เมื่อรถยนต์ของโจทก์หายไป จำเลยที่ 2ในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 674
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะนั่งส่วนบุคคลยี่ห้อโตโยต้า คันหมายเลขทะเบียน ม-3847 ชลบุรี จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของโรงแรมชัยเจริญ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าสำนักเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2529 เวลาประมาณ 21 นาฬิกาโจทก์ได้เช่าห้องพักในโรงแรมของจำเลยทั้งสองโดยจอดรถยนต์คันดังกล่าวที่หน้าโรงแรมตามที่พนักงานโรงแรมบอกให้จอดและรับฝากรับดูแลไว้ในอารักขาของโรงแรมแล้ว เนื่องจากโรงแรมไม่มีโรงเก็บรถและที่จอดรถก็ไม่เพียงพอ โจทก์ได้ปิดกุญแจ พวงมาลัยและประตูรถรวมทั้งปิดกระจกรถไว้เรียบร้อยแล้วจึงขึ้นไปในห้องพักพร้อมกับญาติและคนขับรถ แต่ปรากฏในเวลาต่อมาว่ารถยนต์ของโจทก์ได้หายไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ราคารถยนต์อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในรถและค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถรวมเป็นเงิน 209,680 บาท และค่าเสียหายวันละ 120 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ในวันเกิดเหตุโจทก์เช่าห้องพักอาศัยในโรงแรมจริง แต่โจทก์นำรถยนต์คันดังกล่าวไปจอดที่ถนนสาธารณะซึ่งมิได้อยู่ในความดูแลอารักขาของโรงแรมและมิได้บอกกล่าวฝากรถยนต์ไว้โจทก์ไม่นำไปจอดในที่จอดของโรงแรมซึ่งมีพนักงานคอยเฝ้าดูแลอยู่เมื่อรถยนต์สูญหายไปเจ้าสำนักโรงแรมจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน 190,000 บาทแก่โจทก์ยกฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2529 โจทก์กับพวกเดินทางจากจังหวัดจันทบุรีไปจังหวัดชลบุรีโดยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม-3847 ชลบุรีและได้เข้าพักในโรงแรมชัยเจริญซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 95/1หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี โดยจอดรถคันดังกล่าวไว้ที่ถนนหน้าโรงแรม รุ่งขึ้นวันที่ 4 ตุลาคม 2529 เวลาประมาณ 4 นาฬิกา ปรากฏว่ารถคันดังกล่าวหายไป
จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม-3847 ชลบุรี เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ทราบและไม่ขอรับรองว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวหรือไม่เป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์อย่างชัดแจ้งถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม-3847 ชลบุรีคดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวหรือไม่ แม้ศาลล่างทั้งสองจะรับวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อที่สองว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาให้นายอนุพันธ์ โหง่วเจริญเช่าโรงแรมชัยเจริญไปแล้วปรากฏตามสัญญาเช่าเอกสารหมายล.5 เห็นว่าสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.5 ที่จำเลยที่ 2นำสืบมานั้นเป็นสัญญาเช่าที่เขียนลงในสมุดปก อ่อน มากรอกข้อความ ด้วยหมึกต่างสีกัน ไม่ระบุชื่อผู้เขียนสัญญาและไม่มีพยานรู้เห็นการทำสัญญาข้อสัญญาต่าง ๆ ที่ระบุไว้ก็ไม่น่าจะเป็นสัญญาที่ทำขึ้นจงมีมติจะให้มีความผูกพันกันนอกจากนั้นในสัญญาระบุให้นายอนุพันธ์เป็นผู้เสียภาษีซึ่งหากมีการทำสัญญาเช่าจริงพยานหลักฐานสำคัญประการหนึ่งก็คือการชำระภาษีแต่จำเลยที่ 2 มิได้นำเข้าสืบสนับสนุน ทั้งปรากฏว่านางปิยณัติหรืออุ๋ยซึ่งอ้างว่าเป็นภริยาของนายอนุพันธ์ก็เป็นลูกจ้างของโรงแรมชัยเจริญมาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 จำเลยที่ 2 นำสืบว่า สัญญาเช่าเอกสารหมายล.5 ทำเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 ดังนั้นในวันทำสัญญาดังกล่าวนางปิยณัติก็คือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 นั่นเอง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายอนุพันธ์มีฐานะทางการเงินหรือมีความน่าเชื่อถืออย่างไร จำเลยที่ 2 จึงให้เช่าโรงแรม และนายสมยศพยานจำเลยเบิกความว่า เมื่อโจทก์เข้าพักในโรงแรมจำเลยที่ 2 เป็นผู้พามาซึ่งก็สอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบว่าเมื่อเข้าพักได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 จัดการให้โจทก์เข้าพักในโรงแรมแสดงว่าจำเลยที่ 2 ยังมีอำนาจจัดการและควบคุมโรงแรมอยู่นั่นเอง ทั้งตามแบบตรวจโรงแรมเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งทำเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2529นายทรงศักดิ์ จันทรสาขา ปลัดอำเภอเจ้าพนักงานผู้ไปตรวจโรงแรมก็ระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าสำนักโรงแรมพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ให้นายอนุพันธ์เช่าโรงแรมชัยเจริญไป จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าสำนักโรงแรมชัยเจริญเกี่ยวกับสถานที่จอดรถยนต์ที่โจทก์นำไปจอดไว้นั้น โจทก์มีตัวโจทก์ นายถนอมศักดิ์ วังศรีและเด็กหญิงพจนา แซ่คู มานำสืบว่านายถนอมศักดิ์ได้ถามนายสมยศแล้ว นายสมยศว่าให้จอดริมถนนหน้าโรงแรมเพราะที่จอดรถโรงแรมเต็มหมด ซึ่งนายสมยศพยานจำเลยก็เบิกความรับว่าโจทก์มาถามที่จอดรถ นายสมยศบอกให้จิด*ที่ถนนหน้าโรงแรม เมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายโรงแรมหมายล.2, ล.3 แล้วปรากฏว่าโรงแรมมีสภาพเป็นตึกแถวที่โจทก์นำสืบว่าที่จอดรถภายในโรงแรมเต็มจึงรับฟังได้ และข้อเท็จจริงฟังได้ต่อไปว่า โจทก์นำรถไปจอดไว้ที่ถนนหน้าโรงแรมตามที่นายสมยศพนักงานโรงแรมบอกให้จอด เมื่อรถของโจทก์หายไป จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 674”
พิพากษายืน