แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ที่พิพาทมีชื่อของจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 2 ตกลงยอมแบ่งที่พิพาทให้เป็นของผู้ร้องตามข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2513 ผู้ร้องได้ครอบครองตลอดมา โดยจำเลยที่ 2 ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่พิพาทเลย การที่จำเลยที่ 2 นำที่พิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินซึ่งได้มาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 ยอมแบ่งที่พิพาทให้เป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียวแล้ว เห็นได้ชัดว่า การขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาทของจำเลยที่ 2 มิได้กระทำไปในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองอยู่ด้วยแล้ว พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานที่ว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นยันแก่โจทก์เจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษาผู้นำยึดได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้ปล่อยที่พิพาท
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจกท์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 308 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ขอให้บังคับคดี โดยยึดที่ดินจำนองดังกล่าวขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้แล้วบางส่วน ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2548 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 13263 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาเป็นเงิน 860,620 บาท โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 2
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการยึด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองฟังได้ว่า ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2513 โดยมีบันทึกตกลงแบ่งทรัพย์สินท้ายทะเบียนหย่าว่าให้ที่พิพาทตาม น.ส.3 เลขที่ 132 เป็นของผู้ร้อง และต่อมาได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 13263 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 โดยมีชื่อผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และหลังจากหย่าขาดจากกันผู้ร้องได้ครอบครองที่พิพาทซึ่งมีบ้านเลขที่ 67 ปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวตลอดมา ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่พิพาทหรือไม่… เห็นว่า แม้ที่พิพาทมีชื่อของจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 2 ตกลงยอมแบ่งที่พิพาทให้เป็นของผู้ร้องตามข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2513 ผู้ร้องได้ครอบครองตลอดมา โดยจำเลยที่ 2 ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่พิพาทเลย การที่จำเลยที่ 2 นำที่พิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินซึ่งได้มาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 ยอมแบ่งที่พิพาทให้เป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียวแล้ว เห็นได้ชัดว่าการขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาทของจำเลยที่ 2 มิได้กระทำไปในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองอยู่ด้วยแล้วพยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานที่ว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นยันแก่โจทก์เจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษาผู้นำยึดได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาทผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้ปล่อยที่พิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศษลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ