คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1942/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 6 และที่ 7 ตอกเสาเข็มในการก่อสร้างภัตตาคาร แต่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 มิได้ปล่อยให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ตอกเสาเข็มไปตามแบบแปลนโดยลำพัง จำเลยที่ 1 ให้ ก. เป็นวิศวกรผู้ควบคุมดูแลการตอกเสาเข็มทั้งหมด ก. จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 เมื่อ ก. เห็นแล้วว่าการตอกเสาเข็มของจำเลยที่ 6 และที่ 7 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่มิได้สั่งห้ามหรือให้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานเพื่อมิให้โจทก์ต้องเสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำด้วย
อายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งหมายความว่าต้องรู้ครบทั้งสองประการ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์พบความเสียหายของรั้วและบ้านของโจทก์กับรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อกลางเดือนมกราคม 2534 จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่าความเสียหายเกิดก่อนเดือนธันวาคม 2533 แต่มิได้ฎีกาโต้เถียงเรื่องที่โจทก์รู้ตัวว่าผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงต้องฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อกลางเดือนมกราคม 2534 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2534 คดีจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 980,148 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 948,181 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดพรพานิชค้าวัสดุ บริษัทกรุงเทพผลิตภัณฑ์คอนกรีตจำกัด นายสมหวัง ธรรมพัฒน์พงศ์ และนายบุญ สุมิตไพบูลย์ เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้เรียกเป็นจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ตามลำดับ
จำเลยที่ 6 ที่ 7 และที่ 9 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 8 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9
จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้วนั้น เห็นว่า อายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มีกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งหมายความว่าต้องรู้ครบทั้งสองประการ คือ รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ตรวจพบความเสียหายของรั้วและบ้านของโจทก์ กับรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือ จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 เมื่อกลางเดือนมกราคม 2534 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 24 ธันวาคม 2534 จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่าความเสียหายจะต้องเกิดขึ้นก่อนเดือนธันวาคม 2533 อันเป็นการโต้เถียงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดก่อนเดือนธันวาคม 2533 แต่จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 มิได้ฎีกาโต้เถียงในเรื่องที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเลย จึงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อกลางเดือนมกราคม 2534 และอายุความย่อมต้องเริ่มนับแต่นั้นแม้โจทก์จะรู้ถึงการละเมิดก่อนเดือนธันวาคม 2533 ดังที่จำเลยที่ 1ที่ 6 และที่ 7 อ้างในฎีกาก็ตาม โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 24 ธันวาคม 2534 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เดือนมกราคม 2534 คดีจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น …
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 6 และที่ 7 รับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์นั้น เห็นว่า ความรับผิดของจำเลยที่ 1ในกรณีนี้ย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ที่บัญญัติว่า “ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง” จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 6 และที่ 7 ตอกเสาเข็มในการก่อสร้างภัตตาคารมังกรหลวงของจำเลยที่ 1 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 มิได้ปล่อยให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ตอกเสาเข็มไปตามแบบแปลนโดยลำพัง แต่จำเลยที่ 1 ให้นายโกวิทย์เป็นวิศวกรผู้ควบคุมดูแลการตอกเสาเข็มทั้งหมด นายโกวิทย์จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่ 6 และที่ 7 เมื่อนายโกวิทย์เห็นแล้วว่าการตอกเสาเข็มของจำเลยที่ 6 และที่ 7 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้วมิได้สั่งห้ามหรือให้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานเพื่อมิให้โจทก์ต้องเสียหาย เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกาเป็นเรื่องที่ผู้รับจ้างทำงานไปเองโดยผู้ว่าจ้างมิได้ควบคุมดูแลการทำงาน ข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share