คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การคิดดอกเบี้ยของเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยอ้างอิงกับประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารก็ตาม แต่การออกเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเป็นหนี้ที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาในการออกเงินทดรองไปก่อน และการกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามสัญญา เป็นการกำหนดเบี้ยปรับอย่างหนึ่งจากการที่ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง หากศาลเห็นว่ากำหนดเบี้ยปรับไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะปรับลดเบี้ยปรับดังกล่าวลงให้เหมาะสมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 29,139,218.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 19,817,656.07 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 12340 ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่ดินโฉนดเลขที่ 18776, 19009, 19073, 19074 และ 26888 ตำบลโชคชัย อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา และที่ดินโฉนดเลขที่ 26375 ตำบลโชคชัย (กระโทก) อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งยึดหรืออายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 5,078,626.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ 11,513,509.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,534,571.13 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และของต้นเงิน 7,978,938.85 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเบี้ยประกันภัย 32,290.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเบี้ยประกันภัย 33,451.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ด้วย หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 12340 ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่ดินโฉนดเลขที่ 18776, 19009, 19073, 19074 และ 26888 ตำบลโชคชัย อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา และที่ดินโฉนดเลขที่ 26375 ตำบลโชคชัย (กระโทก) อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากไม่พอชำระให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้า ให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ให้นำเงินที่ชำระนับตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 รวมเป็นเงิน 831,500.55 บาท กับเงินฝากเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 จำนวน 7,000 บาท ไปหักออกจากต้นเงิน 4,997,214.68 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใดให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับแรก ให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระแก่ธนาคารนับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2538 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 รวมเป็นเงิน 3,789,852.06 บาท ไปหักออกจากต้นเงิน 7,989,035 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระต้นเงินคงเหลือดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับที่สองและฉบับที่สาม ให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระแก่ธนาคาร นับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 รวมเป็นเงิน 323,595.71 บาท ไปหักออกจากต้นเงิน 3,519,995.31 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระต้นเงินคงเหลือดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเบี้ยประกันภัย 65,744.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 พฤษภาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมชำระค่าเบี้ยประกันภัย โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในต้นเงินที่ไม่เกินวงเงิน 18,000,000 บาท จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดในต้นเงินที่ไม่เกินวงเงิน 26,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินทั้งสามฉบับ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายรณชัย ทายาทของจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทน และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกามีคำสั่งตั้งนายรณชัย เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 ผู้มรณะ และอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดได้รับอนุญาตและจดทะเบียนไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขานครราชสีมา ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารในวงเงิน 4,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แบบทบต้นตามประเพณีของธนาคาร โดยหักทอนทางบัญชีทุกเดือน และครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือน หากครบกำหนดและไม่มีการต่ออายุสัญญาให้ถือว่ามีการต่ออายุสัญญาต่อไปอีกคราวละ 6 เดือน ตลอดไป ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเพิ่มวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีอีก 1,000,000 บาท รวมเป็นวงเงินเบิกเงินเกินบัญชี 5,000,000 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำสัญญากู้เงินกับธนาคารอีกรวมสามฉบับ ฉบับแรกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นเงิน 8,000,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินแล้ว 7,989,035 บาท ตกลงชำระคืนให้แล้วเสร็จภายใน 84 เดือน ฉบับที่สอง เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2539 เป็นเงิน 1,000,000 บาท ตกลงชำระคืนให้แล้วเสร็จภายใน 120 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินครบถ้วนแล้ว ฉบับที่สาม เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2540 เป็นเงิน 3,000,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินแล้ว 2,519,995.31 บาท ตกลงชำระคืนให้แล้วเสร็จภายใน 84 เดือน และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคาร (ขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี) เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าทำสัญญาค้ำประกันยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำเลยที่ 3 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวงเงิน 18,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 4 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 26,000,000 บาท และค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ในวงเงิน 22,000,000 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 12340 ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่ดินโฉนดเลขที่ 18776, 19009, 19073, 19074 และ 26888 ตำบลโชคชัย อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา และที่ดินโฉนดเลขที่ 26375 ตำบลโชคชัย (กระโทก) อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ในวงเงิน 18,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองยังต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดอยู่จนครบ นอกจากนั้นยังมีข้อตกลงให้ผู้จำนองต้องทำประกันภัยทรัพย์ที่จำนอง โดยผู้จำนองต้องเป็นผู้เสียค่าเบี้ยประกันภัย และหากผู้รับจำนองเสียค่าเบี้ยประกันภัยไปก่อน ผู้จำนองยินยอมชดใช้คืนให้แก่ผู้รับจำนอง หลังทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดทางบัญชีโดยเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันหลายครั้งหลายหน ครั้งสุดท้ายถอนเงิน 50,000 บาท เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2540 ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารเป็นเงิน 4,997,214.68 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้เบิกถอนเงินจากบัญชีคงมีรายการคิดดอกเบี้ยและการชำระเงินเท่านั้น และหลังจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินกู้ไปจากธนาคารแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้คืนไม่เป็นไปตามสัญญา โดยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับแรกครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ผิดนัดชำระหนี้วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 และชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับที่สองและฉบับที่สามครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2541 ผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 นอกจากนั้น ธนาคารได้ทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 รวมสองครั้งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2542 เป็นเงิน 32,290.50 บาท และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2543 เป็นเงิน 33,451.41 บาท สำหรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ที่กำหนดไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินดังกล่าวในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่มีประกาศของธนาคารให้เรียกเก็บได้ อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 ธนาคารทำสัญญาโอนสินทรัพย์หลายรายการรวมทั้งหนี้สินที่มีต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รวมทั้งหลักประกันให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งการรับโอน พร้อมทั้งทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทราบถึงการโอนทรัพย์แล้ว แต่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า สัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันไม่ปรากฏว่ามีการปิดอากรแสตมป์ ซึ่งโจทก์นำสืบอ้างว่าสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องได้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินแล้วแต่หลักฐานได้สูญหายไป แต่โจทก์มาดำเนินการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องและฝ่ายจำเลยถามค้านเรื่องการเสียอากรแสตมป์ดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าไม่สุจริต สัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นตราสารที่ไม่ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ นั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยทั้งห้าให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ยอดหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้อง และโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งห้าไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้องหรือไม่อาจบังคับได้แต่อย่างใด กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าให้การรับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้เงินโจทก์โดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวตามฟ้อง การวินิจฉัยคดีในการฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่จำต้องอาศัยสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานเพราะรับฟังได้ตามคำรับของจำเลยทั้งห้าแล้ว จึงไม่มีกรณีอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ที่ห้ามรับฟังตราสารที่ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยซึ่งเป็นโมฆะตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงิน เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจหรือไม่ และโจทก์ต้องคืนดอกเบี้ยดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้วงเงินกู้เป็นจำนวนมาก ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสนใจในเรื่องอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นต้นทุนธุรกิจที่สำคัญ จึงเป็นปกติที่ผู้ทำธุรกิจต้องรู้ว่าการกู้ยืมแต่ละครั้งต้องเสียดอกเบี้ยเท่าใด ดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารและธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอย่างไร พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าการชำระดอกเบี้ยแก่ธนาคารเป็นไปตามความสมัครใจโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วคืน นั้น ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยความว่า ธนาคารผู้ให้กู้เงินตามสัญญาเป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และต้องปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารในเรื่องดอกเบี้ย จึงจำเป็นต้องทราบถึงรายละเอียดและหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยจากลูกค้าเป็นอย่างดี ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงผู้ประกอบการค้าขายโดยสภาพและตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏเหตุที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น ลำพังแต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารแล้วธนาคารนำไปจัดการหักชำระหนี้ต่าง ๆ ตามที่ธนาคารคิดคำนวณขึ้นมาเอง ประกอบกับธนาคารเป็นสถาบันการเงินอันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจและเชื่อว่าธนาคารได้คิดดอกเบี้ยโดยถูกต้องแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ธนาคารจึงไม่มีสิทธินำเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระไปหักจากดอกเบี้ยที่ธนาคารไม่มีสิทธิเรียกเก็บได้ จึงต้องนำเงินที่ได้รับชำระทั้งหมดไปชำระต้นเงินนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้โดยละเอียดและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหานี้ซ้ำอีก การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ดอกเบี้ยซึ่งเป็นโมฆะตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจึงไม่ใช่การชำระหนี้ตามอำเภอใจ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับต้องคืนเงินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 โดยนำไปชำระต้นเงินแทน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเมื่อใด และต้องชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราใด โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้เบิกใช้เงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2540 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าธนาคารยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีอีก คงมีเพียงรายการคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีอีกต่อไป และถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป ธนาคารจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคาร ซึ่งนับแต่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงธนาคารได้มีประกาศของธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดหลายช่วงหลายอัตรา ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว นั้น ปรากฏตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ข้อ 1 กำหนดระยะเวลาตามสัญญา 12 เดือน และข้อ 4 ระบุว่า เมื่อถึงกำหนด 12 เดือน ตามข้อ 1 และไม่มีการต่ออายุการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานหนังสือกำหนดเวลากันใหม่ ผู้เบิกเงินเกินบัญชีและธนาคารตกลงกันให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญานี้ต่ออีกคราวละ 6 เดือน ตลอดไป จากข้อสัญญาดังกล่าวเมื่อพิจารณาประกอบกับใบแจ้งยอดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันแล้วจะเห็นได้ว่าเมื่อครบกำหนดเวลา 12 เดือน ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงเดินสะพัดทางบัญชีกับธนาคารต่อมาอีก จึงถือว่าธนาคารตกลงให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาต่อไปอีกคราวละ 6 เดือน และปรากฏตามเอกสารอีกว่าจำเลยที่ 1 เบิกใช้เงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2540 โดยจำเลยที่ 1 ค้างชำระเป็นเงิน 4,997,214.68 บาท เกือบเต็มวงเงิน 5,000,0000 บาท ตามสัญญาแล้ว หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เบิกใช้เงินจากบัญชีอีก คงมีเพียงรายการคิดดอกเบี้ยและรายการที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเดินสะพัดทางบัญชี และไม่ปรากฏว่าธนาคารยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีต่อไปอีก พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่าทั้งธนาคารและจำเลยที่ 1 ต่างมีเจตนาที่จะไม่เดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไป จึงต้องถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงในวันหักทอนบัญชีในเดือนที่จำเลยที่ 1 เบิกเงินไปจากบัญชีครั้งสุดท้าย คือ วันที่ 31 ธันวาคม 2540 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ในกำหนดเวลาดังกล่าว จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาในปัญหาส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราใด นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ากำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ที่ธนาคารมีสิทธิจะคิดจากจำเลยที่ 1 ได้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ของสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ตกเป็นโมฆะมาแต่ต้น ธนาคารจึงไม่อาจนำข้อสัญญาในเรื่องอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมาใช้บังคับได้ แต่เมื่อเป็นหนี้เงินธนาคารจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาในปัญหาส่วนนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า ธนาคารคิดดอกเบี้ยของเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ทดรองจ่ายแทนจำเลยที่ 1 ได้ตั้งแต่เมื่อใดและเพียงใด โจทก์ฎีกาว่า ข้อตกลงในเรื่องการออกเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ข้อ 3 และข้อ 8 ระบุให้ธนาคารมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด ซึ่งธนาคารออกเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2542 และวันที่ 27 มิถุนายน 2543 ถือได้ว่าวันที่ธนาคารออกเงินทดรองดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระและเป็นวันผิดนัด ธนาคารจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ได้นับแต่วันที่ได้ออกเงินทดรองจ่ายไป ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในส่วนนี้อัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ได้ออกเงินทดรองดังกล่าวมานั้นจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว นั้น ปรากฏตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนอง ในข้อที่ 3 และข้อที่ 8 กำหนดว่า หากผู้รับจำนองต้องเสียเบี้ยประกันภัยไปเท่าใด ผู้จำนองยินยอมชดใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคาร (ขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี) เห็นว่า แม้การคิดดอกเบี้ยของเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามสัญญาดังกล่าวจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยอ้างอิงกับประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารก็ตาม แต่การออกเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเป็นหนี้ที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาในการออกเงินทดรองไปก่อน และการกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามสัญญา เป็นการกำหนดเบี้ยปรับอย่างหนึ่งจากการที่ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง หากศาลเห็นว่ากำหนดเบี้ยปรับไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะปรับลดเบี้ยปรับดังกล่าวลงให้เหมาะสมได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง และเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของธนาคารเจ้าหนี้ทุกอย่างแล้ว เห็นควรกำหนดให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยของเงินที่ได้ทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวไปในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ธนาคารจึงคิดดอกเบี้ยของเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ได้ออกเงินทดรองดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 และต้องชำระดอกเบี้ยระหว่างที่ผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในการชำระหนี้ดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยไว้ จึงให้นำเงิน (ดอกเบี้ย) ที่ธนาคารนำไปรวมเป็นต้นเงินตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 รวมเป็นเงิน 912,911.93 บาท ไปหักออกจากต้นเงิน 5,078,626.06 บาท ซึ่งเป็นยอดคงเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 เมื่อเหลือต้นเงินเท่าใดให้ชำระพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 แต่ปรากฏตามเอกสารอีกว่า หลังจากวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 1 ยังได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารในวันที่ 5 มกราคม 2541 เป็นเงิน 7,000 บาท และวันที่ 21 พฤศจิกายน 2543 เป็นเงิน 6,206 บาท ดังนั้นจึงให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระในแต่ละวันดังกล่าวไปหักยอดหนี้ตามวันที่มีการชำระโดยให้นำไปหักชำระดอกเบี้ยก่อน หากมีเงินเหลือจึงนำไปหักชำระต้นเงินด้วย นอกจากนี้ในส่วนสัญญากู้เงินฉบับที่สองและที่สามซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าธนาคารไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัด ให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระไปชำระต้นเงินตามสัญญาแต่ละฉบับ สำหรับสัญญากู้เงินฉบับที่สอง ที่นำไปชำระตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 8 เมษายน 2541 รวมเป็นเงิน 250,895.71 บาท ไปหักจากต้นเงินกู้ 1,000,000 บาท แต่ปรากฏตามอีกว่า ยังมีรายการฝากเงินด้วยการโอนเงินก่อนผิดนัดอีก 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 เป็นเงิน 468.85 บาท วันที่ 15 ธันวาคม 2540 เป็นเงิน 5,000 บาท วันที่ 19 ธันวาคม 2540 เป็นเงิน 2,700 บาท และวันที่ 25 ธันวาคม 2540 เป็นเงิน 1,200 บาท รวมเป็นเงิน 9,368.85 บาท ซึ่งยังไม่ได้นำไปหักจากต้นเงิน ส่วนสัญญากู้เงินฉบับที่สาม ที่นำไปชำระตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 8 เมษายน 2541 รวมเป็นเงิน 72,700 บาท ไปหักจากต้นเงินกู้ 2,519,995.31 บาท แต่ปรากฏตามเอกสารอีกว่า มีรายการฝากเงินเข้าบัญชีด้วยการโอนเงินก่อนผิดนัดรวม 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 เป็นเงิน 309.54 บาท วันที่ 15 ธันวาคม 2540 เป็นเงิน 10,000 บาท และวันที่ 25 ธันวาคม 2540 เป็นเงิน 2,950 บาท รวมเป็นเงิน 13,259.54 บาท ซึ่งยังไม่ได้นำไปหักจากต้นเงินอีกเช่นกัน ดังนั้น ต้นเงินกู้ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวก่อนคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยจึงยังไม่ถูกต้อง เห็นควรให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระและยังไม่ได้นำไปหักจากต้นเงินไปหักจากต้นเงินตามสัญญากู้เงินแต่ละฉบับเสียด้วย คงเหลือเท่าใดจึงเป็นต้นเงินที่นำมาคำนวณดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ปัญหาดังกล่าวมาข้างต้นแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ให้นำเงินที่ธนาคารไปรวมเป็นต้นเงินตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 รวมเป็นเงิน 912,911.93 บาท ไปหักจากต้นเงิน 5,078,626.06 บาท เหลือต้นเงินจำนวนเท่าใดให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้ธนาคารในวันที่ 5 มกราคม 2541 จำนวน 7,000 บาท และในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2543 จำนวน 6,206 บาท ในแต่ละวันดังกล่าวไปหักชำระดอกเบี้ยก่อน หากมีเงินเหลือจึงนำไปหักชำระต้นเงิน ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับที่สอง ให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้โดยนำฝากเข้าบัญชีอีก 9,368.85 บาท รวมเข้ากับเงิน 250,895.71 บาท ที่ต้องนำไปหักจากต้นเงินรวมเป็นเงิน 260,264.56 บาท แล้วนำไปหักจากต้นเงิน 1,000,000 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระต้นเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับที่สาม ให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้โดยการโอนเงินฝากเข้าบัญชีอีก 72,700 บาท รวมเข้ากับเงิน 13,259.54 บาท ที่ต้องนำไปหักจากต้นเงินรวมเป็นเงิน 85,959.54 บาท แล้วนำไปหักจากต้นเงิน 2,519,995.31 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระต้นเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเบี้ยประกันภัย 32,290.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับชำระค่าเบี้ยประกันภัย 33,451.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share