แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ขออนุญาตศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 เป็นการขัดต่อกฎหมาย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และให้จ่ายค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างโดยไม่มีอำนาจ โจทก์จึงไม่ใช่กรรมการลูกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดกรณีร้ายแรง ดังนั้นประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาต่อไปว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายและทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด เมื่อศาลแรงงานภาค 1 รับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลแรงงานภาค 1 ชอบที่จะยกฟ้องเพื่อให้โจทก์กับจำเลยไปดำเนินการต่อไปดังเช่นลูกจ้างทั่วไป การที่ศาลแรงงานภาค 1 ได้วินิจฉัยถึงการกระทำของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายตามฟ้องก็เป็นการพิจารณาพิพากษาเกินเลยไปกว่าประเด็นแห่งคดี แม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์มิใช่ความผิดกรณีที่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 และเมื่อโจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้าง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ส่วนโจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินภายหลังเลิกจ้างหรือไม่เพียงใด เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการว่ากล่าวกันต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามตำแหน่งที่โจทก์ได้ปฏิบัติงานอยู่เดิมและให้จ่ายค่าเสียหาย 97,000 บาท ในระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่โจทก์กลับเข้าทำงานตามปกติ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ 18 ล้อ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,075 บาท เงินรางวัลประจำเดือน เดือนละ 16,000 บาท ค่าเที่ยว เดือนละ 8,000 บาท โดยทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2556 ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2557 สหภาพแรงงานลินฟ้อกซ์มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยว่าโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างของจำเลยที่ศูนย์ปฏิบัติงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้ววินิจฉัยว่า การแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 45 โจทก์จึงไม่ใช่กรรมการลูกจ้างของจำเลย โจทก์ประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง เข้าเงื่อนไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายใด ๆ
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์มิใช่ความผิดกรณีที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามตำแหน่งที่โจทก์ปฏิบัติงานอยู่และให้จ่ายค่าเสียหาย หรือหากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยซึ่งแม้โจทก์จะไม่ได้ขอมา แต่ศาลแรงงานภาค 1 ก็สามารถสั่งเกินคำขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เพื่อความเป็นธรรมโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ได้นั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องอาศัยเหตุที่โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ขออนุญาตศาลแรงงานก่อนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 เป็นการขัดต่อกฎหมายและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามตำแหน่งเดิม และให้จ่ายค่าเสียหายระหว่างที่ถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่โจทก์กลับเข้าทำงาน โดยจำเลยให้การว่า สหภาพแรงงานลินฟ้อกซ์แต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ โจทก์จึงไม่ใช่กรรมการลูกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานก่อน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำความผิดเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง จากข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ และข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาต่อไปว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานภาค 1 รับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 1 ในเรื่องดังกล่าว ข้อเท็จจริงต้องยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 1 ว่า โจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน เมื่อโจทก์มิใช่กรรมการลูกจ้างตามข้ออ้างที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ศาลแรงงานภาค 1 ก็ชอบที่จะยกฟ้องเพื่อให้โจทก์กับจำเลยไปดำเนินการกันต่อไปดังเช่นลูกจ้างทั่วไป แม้ศาลแรงงานภาค 1 จะได้วินิจฉัยถึงการกระทำของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์กระทำการโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง เข้าเงื่อนไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 10 ข้อ 4.3 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายตามฟ้อง ก็เป็นการพิจารณาพิพากษาเกินเลยไปกว่าประเด็นแห่งคดี แม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยมาก็เป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และเมื่อโจทก์มิใช่กรรมการลูกจ้าง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานก่อน ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 สำหรับที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินภายหลังเลิกจ้างหรือไม่เพียงใด เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการว่ากล่าวกันต่อไป ที่ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน