แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อเกลือจากจำเลย ชำระเงินแล้วแต่ยังไม่ได้รับเกลือไป จำเลยทำผิดสัญญาโดยเอาเกลือส่วนหนึ่งไปขายให้แก่ทางราชการทหาร โจทก์กล่าวในฟ้องว่า “โจทก์ยินยอมไม่ว่ากล่าวในจำนวนเกลือที่จำเลยขายให้แก่ทางราชการทหาร แต่จะขอรับเงินเท่าที่จำเลยขายให้แก่ทางราชการทหาร” ดังนี้ถือว่า โจทก์ติดใจจะเอาค่าเสียหายแก่จำเลย โดยถือเอาราคาที่จำเลยขายให้แก่ทางราชการทหาร เป็นราคาที่จะคำนวณค่าเสียหายให้แก่โจทก์
โจทก์จำเลยมีสัญญาต่อกันค่าปรับที่โจทก์ต้องเสียให้แก่บุคคลภายนอก เนื่องจากจำเลยทำผิดสัญญาต่อโจทก์ เป็นกรณีเกิดจากพฤตติการณ์พิเศษ โจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยทราบว่า โจทก์จะไปทำสัญญากับบุคคลภายนอก จำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าปรับนั้น
การคำนวณค่าเสียหายในกรณีมีการทำผิดสัญญานั้น ไม่ใช่ถือเอาจำนวนค่าเสียหายที่ผู้ทำผิดสัญญาได้คาดหรืออยู่ในฐานะจะคาดได้ในเวลาทำสัญญาอย่างอื่น หากเป็นค่าเสียหายในขณะผิดสัญญา ซึ่งผู้กระทำผิดสัญญาย่อมคาดได้หรืออยู่ในฐานะจะคาดได้ ว่าการที่ตนกระทำผิดจะเป็นผลให้เกิดการเสียหายแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอย่างใดแล้ว ก็ต้องรับผิดในค่าเสียหายนั้นตามมาตรา 222
ดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดผลกำไร ศาลเห็นสมควรจะให้คิดตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จก็ได้
ย่อยาว
ความว่า นายสมพรทิพย์ รัตนวราหะ สมุห์บัญชีบริษัทจำเลย ซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่ให้กระทำการแทนผู้จัดการตามข้อบังคับ ได้ตกลงขายเกลือให้โจทก์ ๒๗ เกวียน เป็นเงิน ๔๗๒๕ บาท โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยเสร็จแล้ว นายสมพรทิพย์ได้สัญญากับโจทก์ว่า โจทก์จะไปขนเกลือเมื่อใดก็ได้ โจทก์ได้ขนเกลือไปแล้ว ๔ เกวียน ๕๕ ถัง โจทก์ได้บอกนายสมพรทิพย์ว่า โจทก์จะมาขนเกลือที่เหลือในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ และจะไปทำสัญญาขายเกลือให้แก่ผู้มีชื่อที่จังหวัดสุโขทัย นายสมพรทิพย์ก็ตกลง ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๘๘ โจทก์ได้ทำสัญญาขายเหลือให้แก่นายประเทือง วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ โจทก์ไปขนเกลือจากจำเลย นายสมพรทิพย์บอกว่า ได้เอาเกลือของโจทก์ไปแบ่งขายให้ทางราชการทหารไป ๑๐ เกวียน ๔๓ ถัง ราคาเกวียนละ ๓๐๐ บาท ยังเหลืออีก ๑๒ เกวียน ๒ ถัง ก็ไม่มีจ่ายให้ เพราะได้จ่ายให้บุคคลอื่นหมดแล้ว โจทก์ยินยอมไม่ว่ากล่าวในจำนวนเกลือที่ขายให้แก่ทางราชการทหาร แต่จะขอรับเงินเท่าที่จำเลยขายให้แก่ทางราชการทหารกับขอขนเกลือที่ยังเหลือ ๑๒ เกวียน ๒ ถัง นายสมพรทิพย์ไม่ยอม โจทก์จึงฟ้อง
๑. ให้จำเลยคืนเงินราคาเกลือ ๑๒ เกวียน ๒ ถัง ราคาเกวียนละ ๑๗๕ บาท และดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี นับแต่ ๘ มกราคม ๒๔๘๘.
๒. ให้ชำระเงินค่าเกลือที่ขายแก่ทางราชการทหารเกวียนละ ๓๐๐ บาท และดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘
๓. ใช้เงินค่าปรับที่โจทก์ชำระให้แก่นายประเทือง ๑๕๐๐ บาท ราคาเกลือในจังหวัดสุโขทัยในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ เกวียนละ ๗๕๐ บาท โจทก์ได้กำไรเกวียนละ ๓๗๕ บาท (หักค่าจ้างล้อแล้ว) ในจำนวนเกลือ ๑๒ เกวียน ๒ ถัง ค่าจ้างล้อ ค่ารถยนต์โดยสาร และค่าป่วยการ รวมทั้งสินทุกรายการในข้อนี้เป็นเงิน ๘๓๖๗ บาท ๕๐ สตางค์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเกลือที่โจทก์ยังไม่ได้รับ ๒๒ เกวียน ๔๕ ถัง เป็นเงิน ๓๙๒๘ บาท ๗๕ สตางค์ กับดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ เป็นต้นไป และใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดกำไรอันควร จะได้ในการขายเกลือ ๑๕๐๒ บาท ๕๐ สตางค์ และดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าเกลือที่จำเลยเอาไปขายให้แก่ทางราชการทหาร เพราะเกลือยังเป็นของจำเลย ค่าปรับที่ต้องเสียให้แก่นายประเทืองก็เกิดจากพฤตติการณ์พิเศษ โจทก์บอกจำเลยแต่เพียงว่าจะนำไปขายที่จังหวัดสุโขทัย ไม่ได้บอกว่าไปทำสัญญากับใคร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบ แต่จะต้องคิดผลกำไรตามราคาเกลือในจังหวัดสุโขทัยที่โจทก์ขาดไปให้แก่โจทก์ และเมื่อโจทก์ได้ผลอันคำนวณจากกำไรเช่นนี้แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างเกวียน ค่าโดยสารรถยนต์ ค่าที่พัก และค่าป่วยการใด ๆ อีก เพราะก่อนที่จะมีผลกำไร ต้องคิดหักค่าเหล่านี้ออกแล้ว พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าขาดผลกำไรในจำนวนเกลือ ๑๒ เกวียน ๒ ถัง เป็นเงิน ๔๕๐๗ บาท ๕๐ สตางค์ ให้แก่โจทก์ นอกนั้นยืน
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า (๑) ฟ้องของโจทก์กล่าวว่า “โจทก์ยินยอมไม่ว่ากล่าวในจำนวนเกลือที่จำเลยขายให้แก่ทางราชการทหาร แต่จะขอรับเงินเท่าที่จำเลยขายให้แก่ทางราชการทหาร” ไม่ได้หมายความว่า โจทก์จะไม่ติดใจจะว่ากล่าวเอากับจำเลย สำหรับจำนวนเกลือที่ขายให้แก่ทางราชการทหาร ข้อที่โจทก์ขอรับเงิน แสดงว่า โจทก์ติดใจจะเอาค่าเสียหายจากจำเลย ซึ่งโจทก์ขอค่าเสียหายจากจำเลยเท่ากับราคาที่จำเลยขายให้แก่ทางราชการทหาร ทั้งนี้ ถือเอาราคาที่จำเลยขายให้แก่ทางราชการทหารเป็นราคาที่จะคำนวณค่าเสียหายให้แก่โจทก์ และโจทก์ฟ้องเช่นนี้ได้ แม้กรรมสิทธิในเกลือยังไม่ผ่านมายังโจทก์ก็ตาม ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
๒. ค่าปรับที่โจทก์ต้องเสียให้แก่นายประเทือง ๑๕๐๐ บาท ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์บอกแก่จำเลยเพียงว่า จะเอาไปขายที่จังหวัดสุโขทัยเช่นนี้ จะให้จำเลยเข้าใจไปว่า โจทก์จะต้องไปทำสัญญาขายให้ใครล่วงหน้านั้นยังไม่ได้ เพราะโจทก์อาจส่งเกลือไปจังหวัดสุโขทัยไปหาผู้ซื้อในภายหลังก็ได้ ศาลล่างไม่ให้ค่าเสียหายข้อนี้ชอบแล้ว
๓. ในข้อที่ขอค่าล้อ ๒๓๑๐ บาท ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าเสียหายที่ศาลจะให้แก่โจทก์นี้ คือผลกำไรที่โจทก์จะได้รับ แต่ไม่ได้รับเพราะจำเลยผิดสัญญาที่จะเป็นผลกำไร ก็ต้องเป็นจำนวนเงินที่หักค่าใช้จ่ายออกแล้ว ค่าล้อเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง ถ้าหากจำเลยส่งมอบเกลือให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์จะเอาไปขาย โจทก์ก็ต้องเสียค่าล้อเช่นเดียวกัน เหตุผลข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น.
๔. โจทก์ขอให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงิน ๔๕๐๗ บาท ๕๐ สตางค์ ที่ศาลอุทธรณ์แก้ให้นั้น สำหรับข้อเสียหายในการขาดกำไรนี้ ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ให้โจทก์เป็นจำนวน ๑๕๐๒ บาท ๕๐ สตางค์ กับดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ๑/๒ นับแต่วันฟ้อง จนชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์แก้จำนวนค่าเสียหายนี้เป็น ๔๕๐๗ บาท ๕๐ สตางค์ นอกนั้นยืน ศาลฎีกาจะพิพากษาให้เป็นที่ปราศจากความสงสัยต่อไป
๕. จำเลยฎีกาว่า การคำนวนค่าเสียหาย ควรคิดราคาเกลือในจังหวัดพิษณุโลก ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์จำเลยทำสัญญากันที่จังหวัดพิษณุโลก และในเมื่อทำสัญญาไม่มีอะไรแสดงว่า ทั้งสองฝ่ายรู้หรือควรจะรู้ว่าโจทก์จะเอาเกลือไปขายจังหวัดสุโขทัย แต่เมื่อตอนโจทก์จะมารับเกลือที่ค้างอันเป็นเหตุให้ฟ้องกันนี้ โจทก์บอกจำเลยในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๘ ว่า โจทก์นำเกลือที่ขนนี้ไปขายที่จังหวัดสุโขทัย และตกลงจะมาขนในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ ครั้นวันนัด โจทก์มาขอรับ จำเลยไม่มีเกลือให้ ก็ต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาโดยรู้อยู่แล้วว่า การทำผิดสัญญาก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่โจทก์ โดยต้องขาดกำไร คิดตามราคมเกลือในจังหวัดสุโขทัย จึงชอบที่จะเอาราคาเกลือในจังหวัดสุโขทัยเป็นมาตราฐานในการคำนวณค่าเสียหาย กรณีต้องด้วย ป.พ.พ.มาตรา ๒๒๒ กล่าวคือ เมื่อได้มีการผิดสัญญา โดยขณะผิดสัญญา คู่สัญญาผู้กระทำผิดสัญญาย่อมคาดหมายได้หรืออยู่ในฐานคาดได้ว่าการที่ตนกระทำผิด จะเป็นผลให้เกิดการเสียหายขึ้นแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอย่างใดแล้ว ก็ต้องรับผิดในค่าเสียหายนั้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายคือ ราคาเกลือ ๑๐ เกวียน ๔๓ ถัง ราคาเกวียนละ ๓๐๐ บาท และดอกเบี้ยในจำนวนเงินนี้ ในอัตราร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดผลกำไร ในอัตราร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะใช้เสร็จ นอกนั้นยืนตาม