แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 29 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 มาตรา 47 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 ข้อ 18 จะบัญญัติไว้ทำนองเดียวกันว่าบรรดาอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ ฯลฯ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำผิดฯ ให้ริบเสียทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษฯ หรือไม่ก็ตามก็มิได้บัญญัติมีข้อความระบุถึง กรณีที่เจ้าของทรัพย์สินมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จะตีความว่าบทบัญญัติดังกล่าว มีความมุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดไม่ได้กรณีต้องตกอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 คือผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงมีสิทธิร้องขออาวุธปืนของกลางคืนได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ศาลจังหวัดหล่มสักพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 6, 16(3)(15)(16), 24,26, 27, 29 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 142 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2515 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 3, 4, 6, 8, 10,16, 40, 47, 47 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 ข้อ 1, 3, 7, 13, 18, 19 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 33 ฯลฯ ลงโทษฐานนำอาวุธเข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยาน จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท ฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครองและมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาทรวมโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกรอไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ฯ ริบปืนของกลางทั้งสองกระบอกกับซากอีเก้ง ซากลิงกังของกลางนอกนั้นคืนเจ้าของ แต่อาวุธปืนลูกซองยาวเดี่ยวขนาด 12 หมายเลขทะเบียน พช.3/13346 หนึ่งกระบอกที่ศาลสั่งริบเป็นของผู้ร้องฯ ผู้ร้องมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยขอให้ศาลสั่งคืนอาวุธปืนดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่าผู้ร้องเป็นบิดาจำเลยน่าจะรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยในการกระทำความผิด และตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 บัญญัติให้ริบบรรดาอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ฯ ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยมิต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว เชื่อว่าอาวุธปืนของกลางเป็นของผู้ร้อง ๆ มิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปใช้กระทำความผิด มีคำสั่งให้คืนอาวุธปืนลูกซองเดี่ยวขนาด 12 หมายเลขทะเบียน พช.3/13346 ให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าอาวุธปืนลูกซองเดี่ยวขนาด 12 หมายเลขทะเบียนพช.3/13346 ของกลาง เป็นของผู้ร้องและผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยนำอาวุธปืนของผู้ร้องไปใช้กระทำความผิด สำหรับปัญหาที่ว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขออาวุธปืนของกลางที่ศาลชั้นต้นสั่งริบคืนได้หรือไม่นั้น เห็นว่า การริบทรัพย์สินเป็นโทษทางอาญาอย่างหนึ่ง บทกฎหมายใดที่บัญญัติให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นต้องตีความโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินของประชาชนซึ่งถือว่าสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ หรือรัฐต้องเคารพต่อกรรมสิทธิ์ของเอชน คดีนี้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 29บัญญัติว่า “บรรดาอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ และยานพาหนะใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด ฯลฯ ให้ริบเสียทั้งสิ้นโดยไม่ต้องคำนึกว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่” และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 และมาตรา 47 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 ข้อ 18 บัญญัติในทำนองเดียวกันว่า “บรรดาอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด ฯลฯ ให้ริบเสียทั้งสิ้นโดยมิต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่” ตามพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวแม้จะบัญญัติให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ด้วยก็ตาม แต่มิได้บัญญัติมีข้อความระบุถึงกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด กรณีจึงตกอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงมีสิทธิร้องขออาวุธปืนของกลางคืนได้
พิพากษากลับ ให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่ผู้ร้องตามคำสั่งศาลชั้นต้น