แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์ที่ 1 เป็นคนต่างด้าว ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตร จึงถูกถอนสัญชาติไทยด้วย และไม่ยอมออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 4 ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิเรื่องสัญชาติของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 แล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5จึงมีอำนาจฟ้อง บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 นั้นจะต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นมีบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยขณะที่เกิดนั้นโจทก์ที่ 1 ผู้เป็นมารดาเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทยด้วย แม้ภายหลังโจทก์ที่ 1 ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ก็หาเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องถูกถอนสัญชาติไทยไปด้วยไม่ การจะออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ใดนั้นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องพิจารณาว่าผู้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน มีหลักเกณฑ์ครบถ้วนตามกฎหมายเสียก่อนศาลจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 4 ได้
ย่อยาว
คดีสำนวนแรกศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ที่ 5 โจทก์ที่ 5 จึงฟ้องเป็นสำนวนหลัง และคดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสี่ในสำนวนแรกเป็นโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4 และให้เรียกโจทก์ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 5 โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เกิดในราชอาณาจักรไทย เป็นบุตรของนายวัน ล้วนคัด และนางเดียว ล้วนคัดซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวน และมีใบประจำตัวต่างด้าว โจทก์ที่ 1 จึงเป็นคนสัญชาติไทย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 ไม่ปรากฏบิดา เกิดในราชอาณาจักรไทย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5จึงเป็นคนสัญชาติไทย โจทก์ที่ 5 เป็นผู้เยาว์มีโจทก์ที่ 1 มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นนายอำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ และเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ บัตรประจำตัวประชาชน จำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการกองบัตรประจำตัวประชาชน กรมการปกครองเป็นเจ้าพนักงานออกบัตรตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน และจำเลยที่ 3 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ บัตรประจำตัวประชาชน และพระราชบัญญัติสัญชาติเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 โจทก์ที่ 4 ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จัดการถ่ายรูปโจทก์ที่ 4 และออกใบรับคำขอมีบัตรหรือเปลี่ยนแปลงบัตรประจำตัวประชาชน (บัตรเหลือง) ให้แก่โจทก์ที่ 4 ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2526 จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวนและเป็นคนญวนอพยพ ไม่อาจมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ และได้ขอบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และใบรับคำขอมีบัตรหรือเปลี่ยนแปลงบัตรประจำตัวประชาชนที่ออกให้แก่โจทก์ที่ 4คืน แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 4 และเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2528 โจทก์ที่ 5 ได้แสดงตนเพื่อยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนจำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าว เป็นคนญวนอพยพ ไม่ยอมให้ โจทก์ทำคำร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำการตามหน้าที่ราชการ จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งถือได้ว่าจำเลยทั้งสามคนร่วมกันโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้าว่าเป็นคนต่างด้าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะต้องเสียสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นคนสัญชาติไทยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันออกบัตรประจำตัวประชาชนแก่โจทก์ที่ 4 ที่ 5 จำเลยทั้งสามทั้งสองสำนวนให้การว่าเมื่อปี พ.ศ. 2460 บิดาโจทก์ที่ 1 เป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติญวนสัญชาติญวน และเป็นผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับอนุญาต ให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว ส่วนมารดาโจทก์ที่ 1 เป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติญวนสัญชาติญวน ถือหนังสือเดินทางประเทศฝรั่งเศส พ้นกำหนดเวลาจะต้องเดินทางกลับประเทศฝรั่งเศส มารดาโจทก์ที่ 1 ไม่ได้เดินทางออกจากราชอาณาจักรไทย โดยหลบซ่อนตัวอยู่เป็นการเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2480 บิดามารดาโจทก์ที่ 1 ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ โดยถือใบประจำตัวคนต่างด้าว โจทก์ที่ 1 เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อปี พ.ศ. 2474 ก่อนบิดามารดาโจทก์ที่ 1 ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย จึงไม่ได้สัญชาติไทยด้วยการเกิดในราชอาณาจักรไทย กรณีของโจทก์ที่ 1 จึงต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่13 ธันวาคม 2515 และบิดาโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวน เชื้อชาติญวน มิได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 1 แม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 จะเกิดในราชอาณาจักรไทยและได้สัญชาติไทยด้วยการเกิดในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติไทยพ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) เมื่อโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาไม่ได้เป็นคนสัญชาติไทยและไม่ได้สัญชาติไทยด้วยการเกิดในราชอาณาจักรไทยเนื่องจากถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 2ถึงที่ 5 จึงมีมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดมารดาเป็นผู้ที่ถูกถอนสัญชาติ ได้รับการผ่อนผันอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวโดยปริยายโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 จึงต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามโจทก์ที่ 1 ด้วยจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไม่ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ใดก็ได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับบัตรประจำตัวประชาชนตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนพ.ศ. 2526 พฤติการณ์ของโจทก์มีข้อพิรุธเกี่ยวด้วยสัญชาติ จำเลยทั้งสามจึงต้องตรวจสอบหลักฐานให้แน่ชัดก่อนว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ และมีสิทธิที่จะยังไม่ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 1 ไม่เคยเรียกบัตรประจำตัวประชาชนโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 คืน จำเลยทั้งสามไม่ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการทำให้โจทก์ทั้งห้าถูกถอนสัญชาติไทยไม่ได้ออกคำสั่งให้ถอนสัญชาติไทยของโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าจะถูกถอนสัญชาติไทยหรือไม่ เป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 เมื่อโจทก์ทั้งห้ามีลักษณะและคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว โจทก์ทั้งห้าย่อมถูกถอนสัญชาติไทยตามกฎหมาย โจทก์ทั้งห้าจึงไม่อาจถือบัตรประจำตัวประชาชนได้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ต้องคืนบัตรประจำตัวประชาชนแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่เคยเรียกบัตรประจำตัวประชาชนคืนจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และโจทก์ที่ 5ไม่เคยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติหน้าที่ภายในกรอบอำนาจตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับโจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุคคลสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 4 ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เสียด้วย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาโจทก์ที่ 5 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีด้วยตนเองศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1เกิดในราชอาณาจักรไทย แต่บิดามารดาเป็นคนต่างด้าว เชื้อชาติญวนสัญชาติญวน และเดิมเป็นคนสัญชาติไทย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2515โจทก์ที่ 1 ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนปี พ.ศ. 2515 โดยไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ทางราชการได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ เมื่อโจทก์ที่ 4 ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จำเลยที่ 1 ออกใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 4 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนคืนจากโจทก์ที่ 4 และไม่ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 4 โดยอ้างว่าเป็นคนต่างด้าวถูกถอนสัญชาติไทยโดยผลแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ที่ 1 มารดาโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นคนต่างด้าวถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 จึงถูกถอนสัญชาติไทยด้วยตามบทบัญญัติดังกล่าว และไม่ยอมออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 4 ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิเรื่องสัญชาติของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 แล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 จึงมีอำนาจฟ้องฎีกาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ฟังขึ้น
ในปัญหาที่ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เกิดในราชอาณาจักรไทยจึงเป็นคนสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3)มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 มารดาโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 จะต้องถูกถอนสัญชาติไทยด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่13 ธันวาคม 2515 บัญญัติว่า ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวหรือ
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
เห็นว่า การที่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวนั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นมีบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้โจทก์ที่ 1 มารดาโจทก์ที่ 2ถึงที่ 5 เกิดในราชอาณาจักรไทย แต่บิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มารดาโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508มาตรา 7(3) และขณะโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เกิด มารดาโจทก์ที่ 2ถึงที่ 5 ยังเป็นคนสัญชาติไทยอยู่ มิใช่คนต่างด้าว โจทก์ที่ 2ถึงที่ 5 เกิดในราชอาณาจักรไทย จึงเป็นบุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทย จึงเป็นบุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทย แม้มารดาโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 จะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ในภายหลังก็ตามก็หาเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ฟังขึ้น ส่วนการที่โจทก์ที่ 4 ขอให้จำเลยทั้งสามออกบัตรประจำตัวประชาชนแก่โจทก์ที่ 4 นั้น เห็นว่าการจะออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ใดนั้น เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2508 จะต้องพิจารณาว่าผู้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน มีหลักเกณฑ์อื่นครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน ศาลจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสามออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 4 ได้”
พิพากษากลับว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นคนสัญชาติไทย