คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 54/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 พาเอาไปเสียซึ่งรองเท้าของกลางที่จำเลยที่ 1 ลักเอามาซุกซ่อนไว้ข้างโกดังเก็บสินค้าในโรงงานของผู้เสียหายแล้วนำไปเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 เพื่อแบ่งปันกันในภายหลัง ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการรับของโจร ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 โดยไม่ปรับบทมาตรา 83 มานั้น ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 เสียใหม่ให้ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ทั้งเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาแก้ไขปรับบทตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย
คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมา แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์รองเท้าของกลางด้วย ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างในเวลากลางคืนตามลำพัง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) และ มาตรา 83 อีก ปัญหาข้อนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้ยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 พ้นจากความผิดตามบทมาตราดังกล่าวได้ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357, 83 และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 817/2540 ศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (11), 83 จำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7), 83 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ (ที่ถูกต้องปรับบทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาด้วย) คงจำคุกคนละ 1 ปี 1 เดือน 15 วัน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม (ที่ถูกต้องปรับบทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาด้วย) คงจำคุก 1 ปี ให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 817/2540 หมายเลขแดงที่ 3402/2540 ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน คำให้การชั้นจับกุมและคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม (ที่ถูกต้องปรับบทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาด้วย) คงจำคุกคนละ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 1 ลักทรัพย์รองเท้าของกลางซึ่งเป็นของบริษัทเจ แอนด์ ดี เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เสียหาย นายจ้างของจำเลยที่ 1 ไป และจำเลยที่ 2 รับของโจรโดยช่วยเอาไปเสียซึ่งรองเท้าดังกล่าวจากที่ซ่อนข้างโกดังเก็บสินค้าของผู้เสียหายไปมอบให้จำเลยที่ 3 นำไปเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานรับของโจรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวคงมีข้อต้องพิจารณาแต่เพียงว่าขณะที่จำเลยที่ 3 นำรองเท้าดังกล่าวไปเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 3 รู้หรือไม่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เห็นว่า ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 พาเอาไปเสียซึ่งรองเท้าของกลางที่จำเลยที่ 1 ลักเอามาซุกซ่อนไว้ข้างโกดังเก็บสินค้าในโรงงานของผู้เสียหายแล้วนำไปเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 เพื่อแบ่งปันกันในภายหลัง ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการรับของโจรตามที่โจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่า จำเลยที่ 3 รับของโจรรองเท้าของกลางต่อจากจำเลยที่ 2 มิใช่ตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 รับของโจรแต่แรก และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก โดยไม่ปรับบทมาตรา 83 มานั้น ไม่ถูกต้อง จึงเห็นสมควรแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 เสียใหม่ให้ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ทั้งเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาแก้ไขปรับบทตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย
อนึ่ง สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 นั้น แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมา แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์รองเท้าของกลางด้วย จึงเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างในเวลากลางคืนตามลำพัง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) และมาตรา 83 อีก ปัญหาข้อนี้แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมิได้ยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 พ้นจากความผิดตามบทมาตราดังกล่าวได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (11) วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 แต่กำหนดโทษสำหรับจำเลยทั้งสามให้คงเดิม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share