แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของผู้เสียหายเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเงินและเป็นธุรกิจใหญ่ย่อมจะต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ และใช้ผู้ดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความรู้ความสามารถ มิเช่นนั้นคงจะเกิดความผิดพลาดเป็นความเสียหายร้ายแรงสุดจะประมาณได้ ข้อเท็จจริงมีเหตุผลให้เชื่อถือในเทคโนโลยีเกี่ยวด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย ฟังได้ว่าข้อมูลที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายบันทึกไว้และเรียกออกมาได้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
การที่ไม่มีรายการถอนเงินในสมุดคู่ฝาก แต่กลับมีรายการถอนที่ข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ แสดงให้เห็นในทางตรงกันข้ามกับข้อกล่าวอ้างของจำเลยว่ารายการ 2 แห่งแตกต่างกันเนื่องจากการทุจริต เนื่องจากมีการลักลอบทำรายการถอนเงินอันเป็นเท็จ โดยไม่มีการถอนเงินจริง การลักลอบทำรายการถอนเงินอันเป็นเท็จดังกล่าวนี้ย่อมไม่มีผู้ใดทำเล่นเป็นการสนุก เชื่อได้ว่าผู้กระทำเช่นนี้ กระทำเพื่อเอาเงินของผู้เสียหายโดยทำรายการถอนพรางไว้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงิน 1,100,000 บาท ของผู้เสียหายหายไปจริง
จำเลยเป็นพนักงานเก่าซึ่งทราบระเบียบการทำงานเป็นอย่างดี จำเลยย่อมทราบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ประจำช่องรับจ่ายเงินที่ตนเองนั่ง คือหัวใจในการปฏิบัติงาน เป็นเครื่องที่พึงใช้เฉพาะตัวในวันนั้น ๆ ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นร่วมใช้ ไม่มีเหตุผลให้ควรเชื่อว่าจำเลยเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ขณะจำเลยพักรับประทานอาหาร จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างว่าระหว่างพักรับประทานอาหาร จำเลยไม่ได้ปิดกุญแจลิ้นชักเก็บเงินซึ่งมีเงินเรือนล้านเก็บอยู่ แต่หากจำเลยเปิดกุญแจลิ้นชักเก็บเงินทิ้งไว้ เมื่อผู้ทุจริตจะกระทำการก็จะลักเอาเงินในลิ้นชักเก็บเงินของจำเลยไป โดยไม่ต้องทำรายการลวงใด ๆ ไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือหากจำเลยเปิดกุญแจลิ้นชักเก็บเงิน ผู้อื่นเอาเงินในลิ้นชักเก็บเงินของจำเลยไปไม่ได้ ก็ไม่เห็นประโยชน์ที่ผู้ใดจะมาแอบทำรายการดังกล่าวในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย เพราะจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ตน การที่จะกระทำให้เกิดผล จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ประการ คือลงรายการถอนเงินอันเป็นเท็จและเอาเงินที่อ้างเท็จว่ามีลูกค้ามาถอนนั้นไป คนที่มีความสามารถที่จะกระทำได้เช่นนี้ก็คือจำเลย ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์และเป็นผู้รับผิดชอบในตัวเงิน ทั้งยังมีข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่สนับสนุนความเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด คือการที่จำเลยทำรายการยืมเงินไว้ล่วงหน้า 2 รายการ เป็นความฉลาดของจำเลยในการเตรียมการด้วยเมื่อถึงเวลายืมเงินจริง เงินสดในมือคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวอาจมีไม่พอ ข้อเท็จจริงตามพยานโจทก์มีเหตุผลให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้เอาเงินของผู้เสียหายไป
จำเลยเป็นพนักงานของผู้เสียหาย มีหน้าที่รับจ่ายเงินสดแทนผู้เสียหายจึงมีอำนาจยึดถือเงินสดของผู้เสียหายไว้เพียงชั่วระยะเวลาทำการ ผู้เสียหายหาได้ส่งมอบเงินสดให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยไม่ เมื่อจำเลยเอาเงินสดนั้นไปเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิอันเป็นการทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) และให้จำเลยคืนเงิน 1,100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) วรรคแรก ลงโทษจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,100,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยพิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย ประจำอยู่ที่สาขาสำเพ็ง แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร โดยทำหน้าที่รับและจ่ายเงินที่ลูกค้ามาฝากและถอน ซึ่งผู้เสียหายเรียกตำแหน่งนี้ว่า พนักงานรับจ่ายเงิน สาขาสำเพ็งของผู้เสียหายมีช่องสำหรับลูกค้า มาฝากและถอนเงิน 12 ช่อง โดยพนักงานรับจ่ายเงินจะผลัดเปลี่ยนกันนั่งช่องละ 2 วันวันเกิดเหตุที่อ้างว่าเงินหาย คือวันที่ 30 มีนาคม 2538 จำเลยนั่งที่ช่องหมายเลข 3ช่องฝากถอนเงินแต่ละช่องมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง เป็นอุปกรณ์สำหรับพนักงานรับจ่ายเงินใช้ทำรายการฝากถอน ข้อมูลของลูกค้าจะถูกส่งไปเก็บในเครื่องคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลแม่ข่ายที่สำนักงานใหญ่ พนักงานรับจ่ายเงินมีเลขรหัสและบัตรประจำตัวสำหรับใช้ทำรายการฝากถอนและมีอำนาจรับจ่ายเงินเพียงภายในวงเงินที่ได้รับอำนาจหากมีการฝากถอนเกินอำนาจ จะต้องขออนุมัติจากผู้มีอำนาจสูงกว่า จำเลยใช้เลขรหัสประจำตัว 112067 และมีอำนาจทำรายการฝากถอนได้ครั้งละไม่เกิน 1,000,000 บาท มีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งสมควรวินิจฉัยเป็นแต่ละขั้นตอน ประการแรกสมควรวินิจฉัยว่า ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายเชื่อถือได้เพียงใดในปัญหาข้อนี้โจทก์ไม่ได้นำวิศวกรหรือช่างผู้รับผิดชอบระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายมาสืบเป็นพยาน คงมีเพียงพนักงานซึ่งเป็นฝ่ายการเงิน เป็นพยานยืนยันถึงขั้นตอนการใช้และการอ่านข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ถึงกระนั้นก็ดี เมื่อคำนึงถึงว่าธุรกิจของผู้เสียหายเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน และเป็นธุรกิจใหญ่ ย่อมจะต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ และใช้ผู้ควบคุมดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความรู้ความสามารถ มิเช่นนั้นคงจะเกิดความผิดพลาดเป็นความเสียหายร้ายแรงสุดจะประมาณได้ข้อเท็จจริงมีเหตุผลให้เชื่อถือในเทคโนโลยีเกี่ยวด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายฟังได้ว่าข้อมูลที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายบันทึกไว้และเรียกออกมาได้ เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
สมควรวินิจฉัยเป็นประการต่อไปว่า เงินของผู้เสียหายหายไปจริงหรือไม่ในปัญหาข้อนี้โจทก์มีนางภาวนา หงษ์ประภัศร์ ผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสำเพ็งของผู้เสียหายนางยุพดี มณีสาร เจ้าหน้าที่อำนวยบริการอาวุโส สาขาสำเพ็งของผู้เสียหาย เป็นพยานยืนยันว่า วันที่ 7 เมษายน 2538 ได้ทราบว่า เงินฝากในบัญชีของลูกค้า เลขบัญชี 112-2-13533-6 ขาดหายไป 1,100,000 บาท พยานทั้ง 2 ปากเป็นพนักงานอาวุโสของผู้เสียหาย ไม่มีเหตุอันควรระแวงสงสัยว่า จะแสร้งสร้างเรื่องขึ้นให้เสียหายแก่หน่วยงานที่ตนสังกัด เชื่อได้ว่า เมื่อพนักงานรับจ่ายเงินคนที่เจ้าของบัญชีมาติดต่อเพื่อขอลงรายการรับดอกเบี้ย ตรวจพบความแตกต่างของรายการในสมุดคู่ฝากและในข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เรียกมาได้ ก็ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบถึงความผิดปกติ กระทั่งทราบถึงพยาน และนำไปสู่การค้นหาต้นเหตุที่มาที่จำเลยกล่าวในฎีกาว่าในสมุดคู่ฝากไม่มีรายการถอนเงิน 1,100,000 บาท เป็นทำนองต่อสู้ว่าไม่มีการทุจริตนั้น เห็นว่า การที่ไม่มีรายการถอนเงินในสมุดคู่ฝาก แต่กลับมีรายการถอนที่ข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ แสดงให้เห็นในทางตรงข้ามกับข้อกล่าวอ้างของจำเลยว่า รายการ 2 แห่งแตกต่างกันเนื่องจากการทุจริต เนื่องจากมีการลักลอบทำรายการถอนเงินอันเป็นเท็จโดยไม่มีการถอนเงินจริง รายการถอนเงินจึงไม่ปรากฏในสมุดคู่ฝาก เมื่อตรวจในสมุดคู่ฝากสำเนาสมุดเอกสารหมาย จ.7 หรือสมุดตัวจริงเอกสารหมาย ล.4 หน้า 5 พบว่ามีรายการฝากเงิน 1,100,000 บาท เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2538 โดยยอดเงินคงเหลือ ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากรายการเหนือขึ้นไป ซึ่งบันทึกเมื่อวันที่ 7มีนาคม 2538 แสดงว่าในระหว่าง 2 วันนั้นมีรายการถอนเงิน 1,100,000 บาท ที่ไม่ได้บันทึกในสมุด ครั้นทางธนาคารลงรายการฝากเงิน 1,100,000 บาท กลับคืนให้เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2538 ยอดคงเหลือจึงคงเดิม การลักลอบทำรายการถอนเงินอันเป็นเท็จดังกล่าวนี้ ย่อมไม่มีผู้ใดทำเล่นเป็นการสนุก เชื่อได้ว่าผู้กระทำเช่นนี้กระทำเพื่อเอาเงินของผู้เสียหาย โดยทำรายการถอนพรางไว้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงิน 1,100,000บาท ของผู้เสียหายหายไปจริง
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยเอาเงินจำนวนที่หายของผู้เสียหายไปหรือไม่โจทก์มีพยานเอกสารหมาย จ.1 ประกอบพยานบุคคลยืนยันว่า รายการถอนเงิน1,100,000 บาท อันเป็นรายการลวงเพื่อเอาเงินผู้เสียหายไปในครั้งนี้ กระทำที่ช่องรับจ่ายเงินช่องหมายเลข 3 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 ซึ่งวันนั้นจำเลยเป็นผู้นั่งประจำช่องนี้ จำเลยไม่ปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้นั่งประจำช่องนี้ในวันนั้น และไม่ได้ปฏิเสธว่าเหตุเกิดที่ช่องอื่น แต่จำเลยนำสืบปฏิเสธว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ทำรายการดังกล่าวเนื่องจากขณะนั้นจำเลยพักรับประทานอาหาร และจำเลยกล่าวในฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นช่องทางให้ผู้ทุจริตแอบทำรายการดังกล่าว เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานเก่าซึ่งทราบระเบียบการทำงานเป็นอย่างดี จำเลยย่อมทราบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ประจำช่องรับจ่ายเงินที่ตนเองนั่ง คือหัวใจในการปฏิบัติงานเป็นเครื่องที่พึงใช้เฉพาะตัวในวันนั้น ๆ ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นร่วมใช้ เนื่องจากข้อมูลจะสับสนปนเปกัน ยากแก่การตรวจสอบ ไม่มีเหตุผลให้ควรเชื่อว่าจำเลยเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ขณะจำเลยพักรับประทานอาหาร อีกประการหนึ่งปรากฏในเอกสารหมาย จ.1 ว่า จำเลยผู้ใช้เลขรหัสพนักงาน 112067 ได้ปิดเครื่องหลังจากทำรายการนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามที่มีข้อมูลระบุว่า CLTM/112067 จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างว่า ระหว่างพักรับประทานอาหารจำเลยไม่ได้ปิดกุญแจลิ้นชักเก็บเงินซึ่งมีเงินเรือนล้านเก็บอยู่ แต่หากจำเลยเปิดกุญแจลิ้นชักเก็บเงินทิ้งไว้ เมื่อผู้ทุจริตจะกระทำการ ก็จะลักเอาเงินในลิ้นชักเก็บเงินของจำเลยไปโดยไม่ต้องทำรายการลวงใด ๆ ไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือหากจำเลยเปิดกุญแจลิ้นชักเก็บเงิน ผู้อื่นเอาเงินในลิ้นชักเก็บเงินของจำเลยไปไม่ได้ ก็ไม่เห็นประโยชน์ที่ผู้ใดจะมาแอบทำรายการดังกล่าวในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย เพราะจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ตน การที่จะกระทำให้เกิดผล จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ประการ คือ ลงรายการถอนเงินอันเป็นเท็จ จะเอาเงินที่อ้างเท็จว่ามีลูกค้ามาถอนนั้นไป คนที่มีความสามารถที่จะกระทำได้เช่นนี้ก็คือจำเลย ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์และเป็นผู้รับผิดชอบในตัวเงิน ทั้งยังมีข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่สนับสนุนความเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด คือการทำรายการยืมเงิน 600,000 บาท จากนางสาวระวีวรรณ หัตถกิจจำเริญ และยืมเงิน 500,000 บาทจากนางสาวนฤมล พงศ์วรินทร์ ปรากฏเป็นข้อมูลในช่องหมายเลข 3 ตามเอกสารหมาย จ.1 ว่ายืมเมื่อเวลา 12 นาฬิกา 16 นาที 57 วินาที และ 12 นาฬิกา 17 นาที 4 วินาที แล้วจึงทำรายการอนุมัติให้ถอนเงิน 1,100,000 บาท เมื่อเวลา 12 นาฬิกา 24 นาที 28 วินาที แต่ตามคำเบิกความของนางสาวระวีวรรณและนางสาวนฤมลประกอบใบข้อมูลประจำช่องเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ฟังได้ว่านางสาวระวีวรรณและนางสาวนฤมลให้จำเลยยืมเงินเมื่อเวลา 15 นาฬิกา 10 นาที 48 วินาที และเวลา 14 นาฬิกา 44 นาที 14 วินาที อันเป็นเวลาห่างจากเวลาที่จำเลยทำรายการอนุมัติให้ถอนเงินกว่า 2 ชั่วโมง ข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันเช่นนี้ สนับสนุนให้เห็นว่า ขณะจำเลยทำรายการถอนเงิน 1,100,000 บาท เงินสดในมือจำเลยมีไม่ถึงจำนวนนั้น จำเลยจึงทำรายการยืมเงิน เพื่อให้หลักฐานการจ่ายเงินสอดคล้องกับเงินสดในมือ แต่เนื่องจากจำเลยไม่ได้จ่ายเงินจริง เนื่องจากทำรายการถอนอันเป็นเท็จจำเลยย่อมยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินสดที่ทำรายการยืมในทันทีเพื่อจ่ายให้ลูกค้า แต่ย่อมต้องการเงินสดในภายหลังเพื่อเอาไปเป็นของตน จำเลยจึงเพิ่งยืมเงินจริงในภายหลัง การที่จำเลยทำรายการยืมไว้ล่วงหน้า 2 รายนั้น เป็นความฉลาดของจำเลยในการเตรียมการ ด้วยเมื่อถึงเวลายืมเงินจริง เงินสดในมือคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวอาจมีไม่พอ ที่จำเลยกล่าวในฎีกาว่า ผู้กระทำจะต้องทราบเลขบัญชีและยอดเงินแต่จำเลยไม่ทราบ และไม่เคยทำรายการในสมุดคู่ฝากของลูกค้ารายนี้นั้น เห็นว่า รายการในสมุดคู่ฝากรายการนี้มีมากมาย รายการที่เป็นปัญหาอยู่ที่หน้า 5 จำเลยอาจมีโอกาสเห็นสมุดคู่ฝากเล่มนี้และเคยทำรายการบางรายการมาก่อนก็ได้ ซึ่งหากคิดทุจริตจำเลยย่อมจำเลขบัญชีไว้หรือจดไว้ได้ หรือมิเช่นนั้น จำเลยทราบระบบการใช้เลขบัญชีเป็นอย่างดี จำเลยจึงสามารถที่จะสุ่มเรียกข้อมูลในบัญชีต่าง ๆ ขึ้นมาดู จนกระทั่งพบบัญชีซึ่งมีเงินเพียงพอที่จำเลยจะใช้เป็นฐานอ้างอิงในการกระทำความผิดก็เป็นไปได้ ข้อเท็จจริงตามพยานโจทก์ มีเหตุผลให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้เอาเงินของผู้เสียหายไป พยานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้
มีปัญหาวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง หรือเป็นเพียงความผิดฐานยักยอก เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานของผู้เสียหาย มีหน้าที่รับจ่ายเงินสดแทนผู้เสียหาย จำเลยมีอำนาจยึดถือเงินสดของผู้เสียหายไว้เพียงชั่วระยะเวลาทำการ พฤติการณ์เช่นนี้ เป็นการที่จำเลยยึดถือเงินสดเพื่อผู้เสียหาย ผู้เสียหายหาได้ส่งมอบเงินสดให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยไม่ เมื่อจำเลยเอาเงินสดนั้นไปเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิ อันเป็นการทุจริตจำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน