คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4237/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 อาวัลเช็คพิพาทโดยการลงลายมือชื่อและประทับตราชื่อธนาคารจำเลยที่ 2 ด้านหลังเช็ค เป็นการกระทำเกินอำนาจของตัวแทน แต่ในทางปฏิบัติจำเลยที่ 2 ไม่เคยอาวัลเช็คให้ลูกค้าโดยวิธีดังกล่าวมาก่อน ที่โจทก์เข้าใจว่าเป็นการอาวัลแทนจำเลยที่ 2 เป็นความเชื่ออันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 4ที่ 5 หาใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าทางปฏิบัติของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์มีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอาวัลเช็คนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของจำเลยที่ 4 ที่ 5 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 822 ประกอบด้วย มาตรา 921,940 และ 989

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากเลขที่ 813 ไว้กับธนาคารจำเลยที่ 2 สาขานครพนม ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการจำเลยที่ 4 เป็นสมุห์บัญชีจำเลยที่ 5 เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชี และจำเลยที่ 6 เป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคาร จำเลยที่ 6 นำเช็คธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขานครพนม 4 ฉบับ สั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือจำนวนเงินรวม 250,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 4 ที่ 5 หรือจำเลยที่ 6 ลงชื่อสลักหลังพร้อมประทับตราของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขานครพนมเป็นอาวัลมาแลกเอาเงินสดไปจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินที่ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขานครพนมแต่ธนาคารตามเช็คได้ปฎิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้เงินตามเช็คทั้ง 4 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 250,000 บาทและดอกเบี้ยเป็นเงิน 26,912 บาท
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องของโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ให้ยกฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 6
จำเลยที่ 1 ให้การว่า มีผู้ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ไปซื้อเช็คจากจำเลยที่ 2 แล้วปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ลงในเช็คตามฟ้องนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คตามฟ้อง จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ที่ 5 ไม่ได้เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ภายใต้ข้อบังคับเงื่อนไขแห่งหนังสือมอบอำนาจเท่านั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 อาวัลตั๋วเงิน การสลักหลังเช็คตามฟ้องของจำเลยที่ 4 ที่ 5 กระทำไปในฐานะส่วนตัว โดยจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอม โจทก์รับแลกเช็คเนื่องจากมีความเชื่อถือเป็นส่วนตัวกับจำเลยที่ 4 ที่ 5 โดยได้ติดต่อทำการนอกสำนักงานของจำเลยที่ 2เช็คตามฟ้องมิใช่เป็นการอาวัลเพราะไม่มีข้อความว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามกฎหมายได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นสมุห์บัญชีจำเลยที่ 5 เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีของจำเลยที่ 2 สาขานครพนมจำเลยที่ 1 นำเช็คตามฟ้องมา ขอให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ลงชื่ออาวัลเพื่อเข้าบัญชีให้ทันวันสั่งจ่าย จำเลยที่ 4 ที่ 5 เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของธนาคาร จำเลยที่ 2 สาขานครพนม จึงลงชื่อรับอาวัลและประทับตราธนาคารในฐานะส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2และตราประทับไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 หากโจทก์บังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ หรือไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ยอมรับชำระหนี้จนครบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน50,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ และร่วมกันชำระเงิน 200,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาท
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ยุติว่าการที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 อาวัลเช็คพิพาทเป็นการเกินอำนาจของตัวแทนคงมีปัญหาต่อไปว่าทางปฏิบัติของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์มีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอาวัลเช็คนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนคือจำเลยที่ 4 ที่ 5 หรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีนายสุชาติสกุลคลานุวัฒน์ รักษาการตำแหน่งสมุห์บัญชีธนาคารจำเลยที่ 2สาขานครพนม และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 2สาขานครพนม เบิกความเป็นใจความว่า ตามทางปฏิบัติการอาวัลเช็คให้แก่ลูกค้านั้น ลูกค้าจะต้องมาติดต่อกับธนาคารโดยยื่นคำขอให้ธนาคารอาวัลเช็คให้ และจะต้องเสนอหลักประกันต่อธนาคารด้วย เมื่อธนาคารสาขาได้รับคำขอแล้วก็จะส่งเรื่องไปยังธนาคารสำนักงานใหญ่พิจารณาอนุมัติ เมื่อธนาคารสำนักงานใหญ่อนุมัติแล้วธนาคารสาขาจะดำเนินการประทับข้อความว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” ด้วยตรายางตามลักษณะเอกสารหมาย ล.20 ลงในเช็คให้ผู้จัดการธนาคารสาขากับสมุห์บัญชีลงลายมือชื่อกำกับไว้ โจทก์ไม่มีพยานนำสืบให้เห็นว่าทางปฏิบัติของธนาคารจำเลยที่ 2 สาขานครพนม เคยทำการอาวัลเช็คให้ลูกค้าด้วยวิธีให้จำเลยที่ 4 หรือจำเลยที่ 5 คนใดคนหนึ่งหรือร่วมกันลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คและประทับตราที่มีข้อความว่า ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขานครพนม มาก่อนอันเป็นมูลเหตุให้โจทก์เชื่อว่าการอาวัลเช็คอยู่ในขอบอำนาจของจำเลยที่ 4 ที่ 5โจทก์คงนำสืบได้ความเพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ในการลงลายมือชื่อและประทับตราซึ่งมีข้อความว่า ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขานครพนม ลงด้านหลังเช็คพิพาททำให้โจทก์เข้าใจว่าเป็นการอาวัลแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นความเชื่ออันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 4 ที่ 5 หาใช่ความเชื่ออันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าทางปฏิบัติของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์มีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอาวัลเช็คนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของจำเลยที่ 4 ที่ 5 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ประกอบด้วยมาตรา 921, 940 และ 989 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างฟังข้อเท็จจริงไว้ไม่ตรงข้อเท็จจริงที่ศาลฎีการับฟังในคดีนี้ จึงนำข้อกฎหมายมาปรับกับคดีนี้เพื่อให้จำเลยที่ 2รับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ ฎีกาของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share