คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6186/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์และได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ และเพิ่มวงเงินกู้ 2 ครั้ง รวมเป็นวงเงิน 5,000,000 บาท คิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดตามประเพณีการค้าของธนาคารร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีกำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีเป็นการเดินสะพัดทางบํญชีกันตลอดมาจนสัญญาครบกำหนด จำเลยที่ 1 คงเบิกเงินจากบัญชีต่อไป แต่ไม่ได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชี โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อีกต่อไป จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,095,820.70 บาท รายละเอียดปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์จะส่งศาลให้ชั้นพิจารณา ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ดังนี้ คำฟ้องดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว แม้โจทก์จะไม่มีบัญชีเดินสะพัด (บัญชีกระแสรายวัน) ของจำเลยที่ 1 แนบมาท้ายฟ้อง แต่สัญญาบัญชี-เดินสะพัดรวมอยู่ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี มีรายละเอียดปรากฏอยู่ในบัญชีกระแสรายวันที่โจทก์ไม่ได้แนบบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 มาท้ายฟ้อง จึงไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม
เอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศเกี่ยวกับคำขอเปิดเลตเตอร์ 3 ฉบับ ตั๋วแลกเงิน 6 ฉบับ และทรัสต์รีซีท 6 ฉบับ รวม15 ฉบับ ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศรวม 3 ครั้ง ค่าสินค้าคิดเป็นเงินตราต่างประเทศตามจำนวนที่ระบุในฟ้อง โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าดังกล่าวแก่ผู้ขายในต่างประเทศแล้ว เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์รวม 6 ฉบับเพื่อขอรับเอกสารเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวไปขอออกสินค้าก่อน โดยทำตั๋วแลกเงินสัญญาว่าจะชำระเงินแก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่กำหนดรวม 6 ฉบับ ให้โจทก์ไว้เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีททั้งหกฉบับถึงกำหนดโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระ จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าให้โจทก์บางส่วน คงค้างชำระค่าสินค้าและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน4,551,867.19 บาท โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขที่คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจำนวนเงินค่าสินค้า ชื่อบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ เลขที่ตั๋วแลกเงินพร้อมจำนวนเงินตามตั๋ว และรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามใบแจ้งเรียกเก็บเงินของโจทก์กับจำนวนเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์บางส่วนแล้ว คำฟ้องในส่วนนี้จึงมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ชัดแจ้งแล้ว เอกสารท้ายฟ้องหมายเลขดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานที่โจทก์ส่งประกอบคำบรรยายฟ้องเท่านั้น แม้จะเป็นภาษาต่างประเทศก็ไม่มีผลทำให้คำฟ้องที่มีข้อความชัดแจ้งแล้วกลับกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุม
ข้อความในหนังสือมอบอำนาจเป็นเรื่องโจทก์ตั้ง ป.เป็นตัวแทนของโจทก์ให้มีอำนาจฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่ง คดีอาญา คดีล้มละลายและกิจการทั้งหลายอื่นอันเกี่ยวเนื่องกับคดีดังกล่าวภายในขอบวัตถุประสงค์ของธนาคารโจทก์ต่อศาลทั้งปวง ป.จึงเป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจฟ้องคดีหรือทำกิจการใด ๆ เกี่ยวกับคดีในศาลแทนโจทก์ได้ทุกอย่าง โดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพียงคดีเดียว และหนังสือมอบอำนาจเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการมากกว่าครั้งเดียวจึงปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ถูกต้องตามข้อ 7 (ข) ของบัญชีอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะใช้ตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีในคดีแพ่งได้ทุกคดีหาได้ฝ่าฝืน ป.รัษฎากร มาตรา 118 ไม่ การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงชอบแล้ว
จำเลยที่ 1 ได้ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ 2 ครั้ง ในวงเงิน 5,000,000 บาท โดยสัญญาดังกล่าวมีข้อความในข้อ 2 และ 3 ใจความว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี กำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนดดังกล่าว ก็ยอมให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินที่ค้างชำระเป็นคราว ๆ ไป และให้ถือว่าเป็นต้นเงินที่ผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยในคราวต่อไปตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันปรากฏว่ามีการหักทอนบัญชีและคิดดอกเบี้ยทบต้นกันทุกวันสิ้นเดือน ประกอบกับในบัญชีกระแสรายวันมีแต่รายการที่จำเลยที่ 1สั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีกับรายการคิดดอกเบี้ยเท่านั้น ดังนี้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติต่อกันตามข้อตกลงในลักษณะเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่อกันอันเป็นบัญชีเดินสะพัด โดยมีการถอนเงินและนำเงินเข้าเพื่อหักทอนบัญชีกับคิดดอกเบี้ยทบต้นกันตลอดมา โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามข้อ 3 ของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวข้างต้น
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดตามสัญญาที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยที่ 1 ต้องนำเงินเข้าบัญชีมีการหักทอนบัญชีกันเป็นระยะ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดด้วย เมื่อสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาตามสัญญา สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดไปด้วย ปรากฏว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เมื่อวันที่25 เมษายน 2532 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 5,492,962.01 บาท หลังจากครบกำหนดเวลาตามสัญญาโจทก์ยังคงยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินต่อไป ส่วนจำเลยที่ 1 ก็นำเงินเข้าหักทอนบัญชีต่อมาอีกหลายครั้ง โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1เบิกเงินเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกหรือถอนเงินต่อไป ส่วนจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีอีก ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการสะพัดกันทางบัญชีระหว่างกันต่อไป และโจทก์ได้คิดหักทอนบัญชีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งสิ้นเป็นเงิน6,118,039.86 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นการคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกัน พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่28 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งเป็นวันคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายหลังจากวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 อีก คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นได้ต่อไปเท่านั้น

Share