แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นความผิดตามมาตรา 293,294, ขอให้ลงโทษตามมาตรา 293 เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีการสมคบกันกระทำผิดก็ลงโทษตามมาตรา 293 ไม่ได้ และจะขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 294 โดยอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรค 4 ว่าโจทก์พลั้งเผลออ้างบทมาตราผิดไปก็ไม่ได้ เพราะปรากฎว่าโจทก์ได้อ้างบทมาตราความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 293 มาแล้ว ที่ไม่อ้างมาตรา 294 มานั้นจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 192 วรรค 3 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งอัตราโทษตามมาตรา 294 ก็สูงกว่ามาตรา 293
ย่อยาว
โจทย์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันลักทรัพย์หรือรับของโจรสุกร ๒ ตัวของนายหลุย บุญยิ้มไปขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๙๓,๓๒๑,
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยผู้เดียวเป็นคนร้ายลักสุกรรายนี้ไป ลงโทษจำเลยฐานสมคบกันลักทรัพย์ตามมาตรา ๒๙๓ ไม่ได้ จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๘๘ พิพากษาจำคุก ๔ เดือน
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
อุทธรณ์ของโจทก์อ้างว่าสุกรเป็นสุสัตว์ต้องลงโทษตามมาตรา ๒๙๔ ซึ่งโจทก์อ้างมาตรานี้ตกไป โทษในมาตรา ๒๙๓,๒๙๔, เท่ากัน ศาลลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๙๔ ได้ไม่เกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ ถ้าศาลจะลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๘๘ ก็ขอให้ลงโทษจำเลยสูงขึ้นอีก
ศาลอุทธรณ์คงฟังว่าจำเลยเป็นผูร้ายลักสุกรรายนี้ และความผิดของจำเลยเข้ามาตรา ๒๙๔ วรรคต้นจริง แต่มาตรา ๒๙๔ มีอัตราโทษปรับสูงกว่ามาตรา ๒๙๓ ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๙๔ ไม่ได้ เพราะเกินคำขอของโจทก์ คงลงโทษจำเลย ๔ เดือนตามมาตรา ๒๘๘ ตามศาลชั้นต้นเพราะสุกร ๒ ตัวเป็นลูกสุกรและราคาไม่มากพิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๙๔ ประกอบกันมาตรา ๒๙๓ แต่โจทก์อ้างบทลงโทษผิดไป ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามมาตราที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒ วรรค ๔ จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๙๔ หริอ ๒๙๓
ศาลฎีกาเห็นว่าในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยไม่มีพรรคพวกลักทรัพย์รายนี้ก็ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๙๓ ไม่ได้ จะลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๙๔ ก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตามวรรค ๔ ของมาตรา ๑๙๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามโจทก์อ้าง ดังจะเห็นว่าบทมาตราความผิดฐานลักทรัพย์โจทก์อ้างมาแล้ว แต่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๔ จึงมิได้อ้างมาตรานี้มาขอให้ลงโทษ ดังความที่บัญญัติไว้ในวรรค ๓ ของมาตรา ๑๙๒ ป.วิ.อาญาทั้งอัตราโทษตามมาตรา ๒๙๔ นี้ก็สูงกว่า มาตรา ๒๙๓ พิพากษายืน