คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 923/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับพิจารณา
ลำเหมืองชลประทานซึ่งเป็นที่สาธารณะเมื่อบุคคลใดได้รัอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้ขุดบุคคลนั้นย่อมมีสิทธิในลำเหมืองที่ตนขุดดีกว่าบุคคลอื่น ๆ

ย่อยาว

โจทย์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิและทำประโยชน์ในเนื่อที่นาจำนวน ๑๓๗ ไร่ซึ่งอยู่ระหว่างห้วยแม่เฮิมและห้วยคำ ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โจทก์ได้ขออนุญาตต่อคณะกรมการอำเภอสูงเม่นขุดเหมืองฝายจากลำห้วยแม่เฮิมลงสู่ที่โจทก์ คณะกรมการอำเภอได้อนุญาตแล้ว จำเลยได้ขุดดินถมลำเหมืองอักษรหมาย ก.สีแดงในแผนที่ท้ายฟ้อง โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยให้ค่าเสียหาย ๔,๐๐๐ บาท และรื้อลอกลำเหมืองให้อยู่ในสภาพเดิม หรือชดใช้ค่ารื้อ ๔๐๐ บาทต่อมาโจทก์ขอสอบฟ้องเฉพาะนายคำ ศาลอนุญาต ส่วนนายสาน นายบังมา นายปี๋ นายจู ขาดนัดยื่นคำให้การ
ต่อมานายคำ นายบุญนายชัด นายตัน ร้องสอดขอเข้าเป็จำเลยต่อสู้คดีกับโจทก์ ศาลสั่งอนุญาต จำเลยต่อสู้หลายประการและตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่ไซ่ผู้เสียหาย
ในการพิจารณาโจทก์จำเลยรับข้อเท็จจริงกันว่า เดิมเหมืองรายพิพาทอักษร ก. โจทก์ได้รับอนุญาตให้ขุดขึ้นได้ตามคำอนุญาตของคณะกรมการอำเภอสูงเม่น ซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กาลชลประทานราษฎร ต่อมามีผู้ร้องต่อจังหวัดขอให้ระงับ คณะกรมการจังหวัดสั่งให้ประชุมราษฎรออกเสียงตาม พ.ร.บ.การชลประทานราษฎร พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๒๒ ราษฎรข้างมากไม่ยอมให้ขุดเหมืองหมาย ก. ทางอำเภอจึงสั่งห้ามโจทก์ดำเนินการขุดต่อไป ต่อมานายยศโจทก์ได้ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวต่อศาลจังหวัดแพร่ ๆ มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ว่าการที่คณะกรมการจังหวัดสั่งให้คณะกรมการอำเภอปฏิบัติไปตาม พ.ร.บ.การชลประทาน พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๒๒ นั้นไม่ชอบ เพราะเหมืองฝ่ายรายพิพาทนี้เป็นการชลประทานหรือเหมืองฝ่ายส่วนบุคคล อำเภอและจังหวัดไม่มีอำนาจ คำสั่งจึงไม่มีผลบังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ครั้นต่อมาวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๙๔ ฝ่ายจำเลยได้เข้าถมเหมืองพิพาทหมายอักษรร ก. โจทก์จึงฟ้องส่วนเรื่องค่าเสียหาย ๔,๐๐๐ บาท และค่าขุดลอกเหมือง ๔๐๐ บาท โจทก์ขอถอนไปเพื่อศาลจะได้ชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่ได้โต้งเถียงกัน
ศาลจังหวัดแพร่วินิจฉัยว่า เหมืองฝายหมายอักษร ก.เป็นเหมืองชลประทานส่วนบุคคล ตาม พ.ร.บ.การชลประทานราษฎรมาตรา ๔ และคณะกรมการอำเภอได้สั่งอนุญาตให้โจทก์กับพวกขุดเหมืองรายนี้ได้ตามมาตรา ๗ แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิในเหมืองรายพิพาท การที่ทางจังหวัดสั่งให้ระงับการขุดเหมืองโดยอาศัยเสียงข้างมากตามมาตรา ๒๒ (ก) นั้น ศาลได้เคยวินิจฉัยไว้จนถึงที่สุดแล้วว่าเป็นโมฆะ เมื่อคำสั่งของจังหวัดอำเภอเป็นโมฆะแล้วคำสั่งที่อนุญาตให้ขุดเหมืองลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๔๙๑ ก็ยังคงสมบูรณ์อยู่ตามเดิม สิทธิ+โจทก์ยังคงมีอยู่ พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาคัดค้านว่าเหมืองที่โจทก์ขุดล้ำเข้ามาในลำเหมืองแม่เฮิม ซึ่งเป็นเหมืองชลประทานส่วนราษฎร ฉะนั้นจะเรียกว่าเหมืองของโจทก์เป็นชลประทานส่วนบุคคลไม่ได้ควรต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานส่วนราษฎร ที่ที่โจทก์ขุดเป็นที่สาธารณะ โจทก์ขุดเข้ามาในลำเหมืองแม่เฮิมแม้โจทก์จะได้รับอนุญาตแต่เดิม ต่อมาทางอำเภอก็มีคำสั่งห้ามไม่ให้โจทก์ขุดแล้ว เมื่อการขุดของโจทก์ทำให้จำเลยเสียหายจำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันรักษรสิทธิของจำเลยไว้ได้ เมื่อโจทก์กระทำการโดยมิชอบ และจำเลยเข้าขัดขวาง โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่าที่จำเลยยกขึ้นกล่าวในฎีกาของตนว่าเหมืองหมาย ก. ขุดล้ำเข้ามาในลำเหมืองแม่เฮิม ซึ่งเป็นเหมืองชลประทานส่วนราษฎรจึงควรใช้กฎหมายว่าด้วยการชลประทานส่วนราษฎรบังคับแก่ลำเหมืองที่โจทก์ขุดด้วยนั้น เห็นว่าจำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นใหม่เกี่ยวกับสภาพแห่งลำเหมืองรายพิพาทนี้ ซึ่งไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้นจึงไม่รับพิจารณา คดีต้องฟังว่าลำเหมืองรายพิพาทเป็นการชลประทานส่วนบุคคล ดั่งที่ศาลล่างทั้งสองไว้วินิจฉัยมาแล้ว นอกจากนี้ศาลจังหวัดแพร่ยังได้วินิจฉัยเป็นยุติธรรมมาแล้วในคดีแดงที่ ๕๓/๒๔๙๓ ว่าคำสั่งของคณะกรมการอำเภอที่ให้โจทก์ระงับการขุดเหมืองนั้นเป็นโมฆะ คำสั่งให้โจทก์ระบังการขุดเหมืองนั้นไม่มีผลและคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขุดเหมืองแต่เดิมนั้นยังคงให้ได้ตาม พ.ร.บ.การชลประทานราษฎร พ.ศ.๒๔๘๒ บุคคลอาจขุดเหมืองชลประทานส่วนบุคคลเพื่อระบายน้ำเข้าในที่ของตนซึ่งมีเนื้อที่ไม่เกิน ๒๐๐ ไร่เช่นในกรณีของโจทก์นี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานด้วยซ้ำอนึ่งแม้โจทก์จะขุดในที่สาธารณณะ เมื่อปรากฎว่าได้ขุดโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานซึ่งคำสั่งนั้นยังใช้ได้อยู่ดังกล่าวข้างต้น โจทก์ก็มีสิทธิในลำเหมืองที่ตนขุดดีเท่าบุคคลอื่น ๆ ถ้าจำเลยถือว่าตนเสียหาย ก็ต้องว่ากล่าวร้องฟ้องโจทก์ตามกฎหมายหรือร้องเรียนระงับความเสียหายของคนตามมาตรา ๕,๖,๙, และ ๑๐ ของ พ.ร.บ.การชลประทานราษฎร พ.ศ.๒๔๘๒ หาใช่จะใช้อำนาจเข้าถมลำเหมืองที่โจทก์ขุดเสียเองดังนี้ได้ไม่
พิพากษายืน

Share