คำวินิจฉัยที่ 29/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๙/๒๕๔๗

วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดมีนบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดมีนบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลหนึ่งแต่ศาลนั้นไม่รับฟ้อง เพราะเหตุว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
นายแฉล้ม คุปตารักษ์ โดยนางสาวจีระพรรณ รามอินทรา ในฐานะผู้จัดการมรดก ที่ ๑ นางสาวเติมใจ ฉิมภิรมย์ โดยนางสาวจีระพรรณ รามอินทรา ในฐานะผู้จัดการมรดก ที่ ๒ นางสาวจารุณี รามอินทรา ที่ ๓ นางสาวจีระพรรณ รามอินทรา ที่ ๔ ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร ที่ ๑ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ที่ ๒ สำนักงานเขตคลองสามวา ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง ข้อเท็จจริงสรุปได้ความว่า ผู้ฟ้องคดีกับพวกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๗๐ ตำบลสามวาตะวันออก อำเภอมีนบุรี(ปัจจุบันอยู่ในเขตคลองสามวา) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑๓๗ ไร่ ๑ งาน ๑๖ ตารางวา ต่อมาได้มีการสร้างถนนนิมิตรใหม่เป็นถนนลาดยางขนาดกว้าง ๓๐ เมตร ผ่ากลางที่ดินดังกล่าวโดยมีแนวเสาไฟฟ้าเป็นแนวเขตถนน และที่ดินของผู้ฟ้องคดีอยู่ใกล้กับคลองสามจึงได้มีการสร้างสะพานข้ามคลองขนาดกว้างเท่ากับถนนและสูงกว่าพื้นถนนไม่มากนัก โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าของโครงการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้จัดทำและอนุมัติแบบในการก่อสร้าง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับการก่อสร้าง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ผู้ฟ้องคดีได้ขอแบ่งแยกที่ดินเป็นสองแปลงเพื่อให้เป็นไปตามสภาพที่เป็นจริงและเจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกให้แล้ว คือส่วนที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของถนนนิมิตรใหม่ เลขที่ดิน๕๐๕ มีเนื้อที่ ๓๘ ไร่ ๓ งาน ๖๐ ตารางวา และส่วนที่อยู่ด้านทิศตะวันออกของถนนนิมิตรใหม่เลขที่ดิน ๔๙๔ มีเนื้อที่ ๘๙ ไร่ ๒ งาน ๓ ตารางวา แต่เจ้าพนักงานที่ดินยังไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้เพราะเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมคนหนึ่งได้ถึงแก่ความตาย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลแพ่ง
หลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าว ต่อมาอีกประมาณ ๘เดือน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ดำเนินการขยายถนนนิมิตรใหม่และก่อสร้างสะพานข้ามคลองสามใหม่ ตามความกว้างของถนนและมีความสูงกว่าพื้นถนนไม่มากนัก โดยไม่มีทางกลับรถใต้สะพานซึ่งทั้งถนนและสะพานก็อยู่ในเขตถนนที่กำหนดไว้ตามแนวเขตเสาไฟฟ้า โดยมี บริษัทพี.พี.ดี. คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ต่อมา เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ร่วมกันแก้ไขแบบแปลนของสะพานให้มีระดับสูงขึ้นจากระดับของแบบแปลนเดิมเป็นอันมาก เพื่อต้องการให้รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ได้ใช้กลับรถใต้สะพาน ทำให้ความลาดชันของสะพานยาวมากกว่าเดิม ปิดหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีตลอดแปลงทั้งสองด้าน เป็นเหตุให้ทำเลที่ตั้งที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีลักษณะด้อยกว่าที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และมีการทำถนนบริเวณเชิงสะพานทั้งสองข้าง ทำให้ถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามและบริษัท พี.พี.ดี.คอนสตรัคชั่น จำกัด ต่างทราบดีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เคยแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบและไม่เคยขออนุญาตผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด เมื่อผู้ฟ้องคดีทราบเหตุดังกล่าวแล้วได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนิมิตรใหม่ และสอบถามไปยังบริษัทพี.พี.ดี. คอนสตรัคชั่น จำกัด แล้วได้ความว่า ก่อนดำเนินการได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ทราบถึงการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แจ้งให้ดำเนินการไปเลยโดยจะเป็นผู้ติดต่อเจรจากับผู้ฟ้องคดีเอง เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ไปติดต่อกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้รายละเอียด นอกจากนี้ระหว่างการก่อสร้างถนนและสะพานดังกล่าว ได้มีการสร้างถนนเป็นทางชั่วคราวในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองแปลง จำนวนสองเส้น คือ ทางเชื่อม (ทางเบี่ยง)เข้าออกระหว่างถนนนิมิตรใหม่กับถนนทางเข้า-ออกวัดสุทธิสะอาดและทางกลับรถใต้สะพานเส้นหนึ่ง และทางเชื่อม (ทางเบี่ยง) เข้าออกระหว่างถนนนิมิตรใหม่กับถนนเลียบคลองสาม (ที่หลวงริมคลองสาม) และทางกลับรถใต้สะพานอีกเส้นหนึ่ง
ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาและกำหนดคำบังคับดังนี้
๑. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในการสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี รวมเนื้อที่ ๒ ไร่ ๆ ละ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐บาท และค่าเสียหายในกรณีที่ดินของผู้ฟ้องคดีราคาตกเป็นเงินไร่ละ ๒,๘๐๐,๐๐๐ บาท รวม๑๒๖ ไร่ เป็นเงิน ๓๕๒,๘๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งหมดจำนวน ๓๖๒,๘๐๐,๐๐๐บาท
๒. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจัดการรื้อถอนเสาไฟฟ้าออกไปจากที่ดินของผู้ฟ้องคดี
๓. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจัดการปรับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ก่อสร้างเป็นถนนชั่วคราว (ทางเบี่ยง) ทั้งสองเส้น ให้อยู่ในสภาพเดิม
๔. ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามระงับการก่อสร้าง และการใช้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นถนนทางเบี่ยงให้รถยนต์ทุกชนิดสัญจรเข้า-ออก ระหว่างถนนนิมิตรใหม่กับถนนเข้า-ออก วัดสุทธิสะอาด และทางกลับรถใต้สะพานข้ามคลองสาม กับถนนทางเบี่ยงเข้า-ออกระหว่างถนนนิมิตรใหม่กับถนนเลียบคลองสาม (ที่หลวงริมคลองสาม) กับทางกลับรถใต้สะพานข้ามคลองสาม
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขแบบแปลนของสะพานและสร้างถนนรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นการกระทำละเมิดและก่อความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีนั้น ศาลได้พิจารณาถึงการกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเฉพาะใด ๆ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุ จึงไม่ใช่การกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คำฟ้องคดีนี้ไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดในทางปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดในทางแพ่ง จึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๕๙๒/๒๕๔๕
ผู้ฟ้องคดีที่ ๔ (โจทก์) จึงนำคดีไปฟ้อง กรุงเทพมหานคร ที่ ๑ บริษัท พี.พี.ดี.คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่ ๒ เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี โดยมีข้อเท็จจริงและคำขอท้ายคำฟ้องเช่นเดียวกับที่ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า จำเลยไม่ได้ก่อสร้างสะพานข้ามคลองสามรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ แต่ได้ดำเนินการก่อสร้างในแนวเขตทางเดิมซึ่งเป็นทางสาธารณะที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ให้ไว้ เพื่อความสะดวกของประชาชนในการสัญจรและความเจริญของบ้านเมือง ส่วนการก่อสร้างทางเบี่ยงชั่วคราวประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น จัดทำใช้กันเอง การก่อสร้างสะพานและถนนดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์แต่ประการใด
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เนื่องจาก มิได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมคนอื่น นอกจากนี้ จำเลยที่ ๒ ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามคลองสามและขยายถนนนิมิตรใหม่ ตามแบบแปลนที่จำเลยที่ ๑กำหนดเท่านั้น
ศาลจังหวัดมีนบุรีพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นคดีเกี่ยวกับการทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีถนนตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๖ประกอบมาตรา ๘๙(๖) ดังนั้น จำเลยที่ ๑ ซึ่งถูกฟ้องคดีจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีถนนและสะพาน เมื่อจำเลยที่ ๑ ยอมรับว่าจำเลยที่ ๑ ได้ให้จำเลยที่๒ ก่อสร้างสะพานกลับรถใต้สะพานคลองสามเพื่อให้รถยนต์ได้ใช้วิ่งกลับรถใต้สะพานและเข้าออกสู่ถนนทางเข้าวัดสุทธิสะอาดและถนนเลียบคลองสาม และเป็นการก่อสร้างถนนตามแนวเขตทางเดิมตามเขตทางตามประกาศของกรุงเทพมหานคร เรื่องลงทะเบียนทางหลวงเทศบาลซึ่งประกาศไว้เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๙ และยอมรับว่าการแก้ไขแบบแปลนก่อสร้างสะพานข้ามคลองสามให้ระดับสูงขึ้น จากระดับแบบแปลนเดิมอันเนื่องมาจากเป็นความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในชุมชนถนนเลียบคลองสาม หากจำเลยที่ ๑ ไม่แก้ไขแบบแปลนจะทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน การกระทำของจำเลยที่ ๑ กรณีจึงเป็นเรื่องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องมาจากกระทำโดยไม่มีอำนาจ อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่และไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของจำเลยซึ่งเป็นส่วนราชการบริหารส่วนท้องถิ่น อันเกิดจากการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การฟ้องเรียกค่าเสียหายของเอกชนอันเนื่องมาจากการก่อสร้างสะพานข้ามคลองและการปรับปรุงถนนของกรุงเทพมหานคร อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครเป็นจำเลยที่ ๑ ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นนิติบุคคล และมีหน้าที่บำรุงรักษาทางบก ทางน้ำและทางระบายน้ำ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๖ ประกอบมาตรา ๘๙(๖) กรุงเทพมหานครจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๓ อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทในมูลละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครอง อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองนั้น จะต้องเป็นการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง(๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันแก้ไขแบบแปลนของสะพานให้มีระดับสูงขึ้นจากระดับของแบบแปลนเดิม เพื่อต้องการให้รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ได้ใช้กลับรถใต้สะพาน เมื่อทำการก่อสร้างแล้วทำให้ความลาดชันของสะพานยาวมากกว่าเดิม ปิดหน้าที่ดินของโจทก์ตลอดแปลงทั้งสองด้าน เป็นเหตุให้ทำเลที่ตั้งที่ดินของโจทก์มีลักษณะด้อยกว่าที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ระหว่างการก่อสร้างสะพานและถนนดังกล่าว ได้มีการสร้างถนนเป็นทางชั่วคราวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยให้การเพียงว่าการก่อสร้างสะพานและเชิงลาดกระทำโดยชอบ จำเลยมิได้ก่อสร้างถนนชั่วคราว โดยมิได้ให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว อันจะทำให้กลายเป็นประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ฉะนั้น คดีนี้คงมีประเด็นปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การก่อสร้างสะพานข้ามคลองและการปรับปรุงถนนของกรุงเทพมหานคร ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เอกชนหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ซึ่งได้แก่ การจัดทำถนนหนทางสาธารณะเพื่อใช้ในการคมนาคมขนส่ง อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานครการกระทำตามฟ้องจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของจำเลยที่ ๑ เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่เอกชน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการก่อสร้างสะพานข้ามคลองและการปรับปรุงถนน ระหว่าง นางสาวจีระพรรณ รามอินทรา โจทก์กรุงเทพมหานคร ที่ ๑ บริษัท พี.พี.ดี.คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share