คำวินิจฉัยที่ 32/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๒/๒๕๔๗

วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗

เรื่อง อำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่งธนบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องและศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็น มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นายโอภาส บัวแย้ม ที่ ๑ นางวันเพ็ญ นาคทอง ที่ ๒ นางสายหยุด บัวแย้ม ที่๓ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมทางหลวง ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นหมายเลขดำที่๕๔๕/๒๕๔๖ สรุปได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๖๕ ตำบลศาลาธรรมสพน์ (บางระมาด)อำเภอทวีวัฒนา (ตลิ่งชัน) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๙๔ ตารางวา เป็นของนายผ่อน บัวแย้มได้ถูกผู้ถูกฟ้องคดีเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษสายพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน-บางบัวทอง ตอนพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน พ.ศ. ๒๕๒๓และนายผ่อน บัวแย้ม ได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้ว คงเหลือเนื้อที่จากการเวนคืน ๑ ไร่ ๑ งาน๓๕ตารางวา ซึ่งที่ดินดังกล่าวได้โอนมาเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๓๙ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการขยายถนนเพิ่มเติม และเมื่อวันที่๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ยื่นขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม จึงได้ทราบว่าเขตทางหลวงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม จำนวน ๙๓ ตารางวา จึงขอให้งดการรังวัดไว้ก่อนและได้มีหนังสือลงวันที่๗ตุลาคม ๒๕๔๕ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวนดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉยผู้ฟ้องคดีทั้งสาม จึงต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินค่าทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม จำนวน ๙๓ ตารางวา ในราคาตารางวาละ ๒๕,๐๐๐ บาท เป็นเงิน๒,๓๒๕,๐๐๐ บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ก่อสร้างถนนอยู่ในเขตที่ดินที่เวนคืนดังกล่าว มิได้รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามแต่ประการใด และยื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจศาลว่า คดีนี้มีประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดิน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งได้แก่ ศาลแพ่งธนบุรี
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้เวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงสายพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน-บางบัวทอง ตอนพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน พ.ศ. ๒๕๒๓ และได้จ่ายค่าที่ดินให้แล้ว ต่อมาได้ดำเนินการขยายถนนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามเกินกว่าเนื้อที่เวนคืน จำนวน ๙๓ ตารางวา โดยไม่จ่ายค่าทดแทนในส่วนที่รุกล้ำดังกล่าว จึงขอให้ศาลมีคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินค่าทดแทน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า ได้สร้างถนนในเขตที่ดินที่ถูกเวนคืน และผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนใด ๆ อีก คดีมีประเด็นหลักเป็นเรื่องที่คู่กรณีโต้แย้งกันว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามมีเนื้อที่อยู่ในแนวเขตเวนคืนจำนวนเท่าใด และผู้ถูกฟ้องคดีได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามครบถ้วนถูกต้องตามเนื้อที่ซึ่งถูกเวนคืนหรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ ๒๕๔๒ จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งธนบุรีพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีพิพาทตามฟ้องเป็นคดีที่กล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีนี้จึงเป็นคดีละเมิดในทางแพ่ง มิใช่เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ข้อพิพาทตามคำฟ้องจึงเป็นข้อพิพาททางแพ่ง มิใช่ข้อพิพาททางปกครอง จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองขยายถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเอกชน อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า กรมทางหลวง ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสามนี้ สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินที่เหลือจากการถูกเวนคืนไปสร้างทางหลวงพิเศษ สายพระประแดงฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ต่อมา พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๓๙ ผู้ถูกฟ้องคดีทำการขยายถนนดังกล่าว รุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม จำนวนเนื้อที่ ๙๓ ตารางวา ขอให้จ่ายค่าทดแทน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การก่อสร้างถนนดังกล่าวได้สร้างอยู่ในแนวเขตที่เคยเวนคืนไว้แล้วไม่ได้รุกล้ำ คดีนี้จึงมิใช่เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการเวนคืนเพราะข้อเท็จจริงตามคำฟ้องนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้างว่าที่ดินดังกล่าว เคยถูกเวนคืนไปแล้วบางส่วน และเจ้าของที่ดินได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้วต่อมาที่ดินส่วนที่เหลือได้โอนมาเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม และมีการขยายถนนรุกล้ำที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือนี้ ซึ่งศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องชดใช้ค่าที่ดินหรือไม่เพียงใด ดังนั้น จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีขอให้ชดใช้ค่าที่ดิน ระหว่าง นายโอภาส บัวแย้ม ที่ ๑นางวันเพ็ญ นาคทอง ที่ ๒ นางสายหยุด บัวแย้ม ที่ ๓ ผู้ฟ้องคดี กรมทางหลวง ผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแพ่งธนบุรี

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share