คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7257/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือแต่งตั้งเอกสารหมาย จ.6 เป็นหนังสือที่มีข้อความชัดแจ้งว่าบริษัทในเครือกลุ่มจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้โจทก์เป็นกรรมการบริษัท ส. ซึ่งเป็นบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่โดยการร่วมลงทุนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มิใช่หนังสือที่จำเลยที่ 1 ตกลงรับโจทก์เข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าเข้าเกี่ยวข้องอย่างไรกับโจทก์ในลักษณะการว่าจ้าง การที่ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ จึงไม่ขัดกับเอกสารดังกล่าว และเป็นการวินิจฉัยคดีชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2537 จำเลยทั้งสองตกลงว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโดยให้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในเดือนมกราคม 2538 และต่อมาเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2538 จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย 4,151,588.57 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีสำหรับต้นเงินค่าจ้างค้างจ่าย 250,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินเพิ่มอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของค่าจ้างค้างจ่าย 250,000 บาท ทุกระยะ7 วัน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในยอดเงินอื่น นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยว่าจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.6 เป็นหนังสือที่บริษัทในเครือกลุ่มบริษัทสยาม ที วี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้ว่าจ้างให้โจทก์เป็นกรรมการของบริษัทสยามแอพพลายด์ซิสเท็มส์เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่โดยการร่วมลงทุนระหว่างตัวโจทก์กับจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ให้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ว่าจ้างและไม่มีลายมือชื่อผู้ทำการแทนจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.6 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาตกลงร่วมลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ทกับจำเลยที่ 1 และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์ เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นสัญญาร่วมลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ทมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เอกสารหมาย จ.6 เป็นหนังสือที่มีข้อความชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์ให้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าบริษัทในเครือกลุ่มบริษัทสยาม ที วี แอนด์คอมมิว-นิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์เป็นกรรมการของบริษัทสยามแอพพลายด์ซิสเท็มส์เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์ เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ขัดกับเอกสารหมาย จ.6 จึงเป็นการวินิจฉัยคดีโดยมิชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้นคือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” แต่ตามหนังสือแต่งตั้งเอกสารหมาย จ.6 เป็นหนังสือที่มีข้อความชัดว่าบริษัทในเครือกลุ่มจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้โจทก์เป็นกรรมการบริษัทสยามแอพพลายด์ซิสเท็มส์เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่โดยการ่วมลงทุนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงมิใช่หนังสือที่จำเลยที่ 1 ตกลงรับโจทก์เข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ตามเอกสารหมาย จ.6 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เข้าเกี่ยวข้องอย่างไรกับโจทก์ในลักษณะการว่าจ้าง เช่นนี้ ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ จึงไม่ขัดกับเอกสารหมาย จ.6 และเป็นการวินิจฉัยคดีชอบแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเงินทดรองจ่ายจากจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้

พิพากษายืน

Share