คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศออกหมายค้นบ้านเลขที่ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเจ้าของบ้านเนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ออกหมายค้นโดยอ้างว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวมีเครื่องมือแพทย์ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมซุกซ่อนอยู่โดยผิดกฎหมาย ขั้นตอนการขอออกหมายค้นดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้การค้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 238 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าพนักงานทำการค้นโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามกฎหมาย อันจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล และศาลได้ออกหมายค้นโดยมีข้อกำหนดไว้ชัดเจนเพื่อค้นหาและตรวจยึดเครื่องมือแพทย์ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นตามวันเวลาดังกล่าวในหมายค้นแล้ว แต่ไม่พบของผิดกฎหมาย กระบวนการในการขอออกหมายค้น การออกหมายค้น รวมทั้งอำนาจในการปฏิบัติตามหมายค้นที่เป็นมาตรการป้องกันการค้นโดยปราศจากเหตุอันสมควรดังกล่าวจึงเสร็จสิ้นยุติไปแล้วการที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อทราบสาเหตุและหลักฐานอันเป็นที่มาในการขอออกหมายค้น จึงไม่เกิดประโยชน์ ถ้าผู้คัดค้านติดใจสงสัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นโดยไม่มีหลักฐานและเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้คัดค้านตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้คัดค้านสามารถฟ้องร้องว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่ง เพื่อเยียวยาความเสียหายได้ ดังนั้น แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะได้นัดไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านไว้แล้ว แต่ต่อมาเห็นว่า การไต่สวนคำร้องดังกล่าวจะไม่เกิดประโยชน์แก่การพิจารณาคดีก็ย่อมมีอำนาจแก้ไขคำสั่งเดิมได้ถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม
ตามคำร้องของผู้คัดค้านที่ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ผู้คัดค้านโต้แย้งว่า ศาลจะนำเอามาตรา 69 และมาตรา 94 ถึง 105 แห่ง ป.วิ.อ.มาใช้บังคับในการออกหมายค้นไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 238 ทั้งที่รูปคดียังไม่มีปัญหาที่ศาลจะใช้บทบัญญัติมาตรา 69 และมาตรา 94 ถึง 105 แห่ง ป.วิ.อ.ดังกล่าวบังคับแก่คดี จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264

Share