คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7255/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งเจ็ด มิใช่หนี้ร่วมที่จำเลยทั้งเจ็ดต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ หากแต่เป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดต่อโจทก์ มูลความแห่งคดีที่จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาจึงเป็นการชำระหนี้ที่อาจแบ่งแยกจากกันได้ หาได้เกี่ยวข้องกันไม่ ดังนี้ โจทก์จะเสนอคำฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดรวมมาในคดีเดียวกันมิได้
การที่ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7ไว้พิจารณาโดยขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 150 ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้องจำเลยดังกล่าวอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับคำฟ้องจำเลยดังกล่าวได้ตามป.วิ.พ.มาตรา 27 ประกอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153และเมื่อความปรากฏต่อศาลชั้นต้นก่อนศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องเป็นไม่รับคำฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6และที่ 7 ถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจยอมรับคดีสำหรับจำเลยดังกล่าวซึ่งอยู่นอกเขตศาลชั้นต้นไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 14 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาเมื่อนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่ ๑ ต้องชำระจำนวน๑,๖๒๖,๐๘๔ บาท จำเลยที่ ๒ ชำระจำนวน ๑๒๓,๓๙๗.๓๐ บาท จำเลยที่ ๓ชำระจำนวน ๑๙๒,๑๖๒.๘๙ บาท จำเลยที่ ๔ ชำระจำนวน ๙๒,๐๖๑.๖๑ บาทจำเลยที่ ๕ ชำระจำนวน ๗๔,๗๕๖.๓๘ บาท จำเลยที่ ๖ ชำระจำนวน๘๑,๔๒๔.๔๕ บาท และจำเลยที่ ๗ ชำระจำนวน ๙๐,๙๔๕.๘๖ บาท ตามลำดับศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งเจ็ดเพื่อนำมาชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์ได้พยายามสืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งเจ็ดแล้ว แต่จำเลยทั้งเจ็ดไม่มีทรัพย์สินใดอันจะพึงยึดมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้จำเลยแต่ละคนเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่าคนละ ๕๐,๐๐๐ บาท และเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน ถือได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งเจ็ดเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นปรากฏข้อเท็จจริงตามคำร้องของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๔ว่า จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๖ และจำเลยที่ ๗ ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น โดยจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๖ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จำเลยที่ ๔ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรสาคร และจำเลยที่ ๗ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งใหม่ว่า ไม่รับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๖ และจำเลยที่ ๗ ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๖ และจำเลยที่ ๗ ออกจากสารบบความโจทก์ทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๘
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๑จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๖ และจำเลยที่ ๗
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้รับฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๖ และจำเลยที่ ๗ และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องจำเลยดังกล่าวและจำหน่ายคดีจากสารบบความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โจทก์ฎีกาว่า มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยเป็นหนี้ร่วมที่จำเลยทั้งเจ็ดต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดต่อศาลชั้นต้นที่จำเลยที่ ๓ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓มาตรา ๑๕๓ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๔ (๕) นั้น เห็นว่า มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งเจ็ด หาใช่หนี้ร่วมที่จำเลยทั้งเจ็ดต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์แต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดต่อโจทก์ มูลความแห่งคดีที่จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาจึงเป็นการชำระหนี้ที่อาจแบ่งแยกจากกันได้ หาได้เกี่ยวข้องกันไม่โจทก์จะเสนอคำฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดรวมมาในคดีเดียวกันมิได้ กรณีจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๐ ซึ่งบัญญัติว่า “การยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลาย ให้ยื่นต่อศาลซึ่งลูกหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตหรือประกอบธุรกิจอยู่ในเขต ไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอ หรือภายในกำหนดเวลา ๑ ปี ก่อนนั้น” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๖ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จำเลยที่ ๔ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรสาคร และจำเลยที่ ๗ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ศาลชั้นต้นจึงมิใช่ศาลที่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๖และจำเลยที่ ๗ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตหรือประกอบธุรกิจอยู่ในเขตขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๔ ที่ ๖ และที่ ๗ไว้พิจารณาย่อมขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้องจำเลยดังกล่าวอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับคำฟ้องจำเลยดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓มาตรา ๑๕๓ และเมื่อความปรากฏต่อศาลชั้นต้นก่อนศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์เช่นนี้การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องเป็นไม่รับคำฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ที่ ๔ ที่ ๖ และที่ ๗ จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจยอมรับคดีสำหรับจำเลยดังกล่าวซึ่งอยู่นอกเขตศาลชั้นต้นไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา ๑๔ (๕) คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share