แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุกว่า 18 ปี ตาม ป.อ.มาตรา 282 วรรคแรก กับฐานเป็นเจ้าของกิจการผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี ตาม พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503มาตรา 9 เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นทั้งเจ้าของกิจการร้านอาหารอันเป็นสถานการค้าประเวณีและเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงด้วย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เพราะตาม พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณีฯมาตรา 4 คำว่า จัดให้มีผู้ทำการค้าประเวณีไว้เพื่อการนั้นด้วย ก็หมายถึงการเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงตาม ป.อ.มาตรา 282วรรคแรก ทั้งการตั้งสถานการค้าประเวณีก็เห็นได้ชัดแจ้งว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225
หลังจากจำเลยกระทำความผิดแล้ว ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมป.อ.(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2540 ให้ยกเลิกความในมาตรา 282 เดิม และให้ใช้ความใหม่แทน กับมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539ออกมาใช้บังคับโดย พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ยกเลิก พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณีพ.ศ.2503 แต่ ป.อ.มาตรา 282 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่ระวางโทษเท่าเดิมส่วน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9 และ 11ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษฐานเป็นธุระจัดหาหรือล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีและฐานเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี ระวางโทษสูงกว่าความผิดฐานดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 8 และ 9 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดบังคับแก่คดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 282, 286 พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 8, 9 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 และริบของกลาง ยกเว้นธนบัตรฉบับละ 500 บาท ที่ใช้ในการล่อซื้อบริการ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรก พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 8, 9 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมาย มาตรา 91 ฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุกว่า 18 ปี ให้จำคุก 4 ปี ฐานเป็นเจ้าของกิจการผู้จัดการสถานการค้าประเวณี จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 8 เดือน คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน ริบของกลาง เว้นธนบัตรฉบับละ 500 บาท ที่ใช้ในการล่อซื้อบริการ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานจัดหาผู้กระทำการค้าประเวณีเพื่อผู้อื่นเป็นปกติธุระ ตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 8 และฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิง โดยหญิงนั้นสมัครใจยินยอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรก เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี ให้ยกคำขอให้ริบของกลางในคดีนี้เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุกว่า 18 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรก กับฐานเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี ตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 9 เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นทั้งเจ้าของกิจการร้านอาหารอันเป็นสถานการค้าประเวณีและเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงด้วย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เพราะตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า “สถานการค้าประเวณี หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ที่จัดไว้เพื่อให้บุคคลอื่นทำการค้าประเวณี โดยจัดทำให้มีผู้ทำการค้าประเวณีไว้เพื่อการนั้นด้วย” คำว่า จัดให้มีผู้ทำการค้าประเวณีไว้เพื่อการนั้นด้วย ก็หมายถึงการเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรก นั่นเอง ทั้งการตั้งสถานการค้าประเวณีก็เห็นได้ชัดแจ้งว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นความผิดต่างกรรมนั้นไม่ถูกต้องปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
หลังจากจำเลยกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2540 ให้ยกเลิกความในมาตรา 282 เดิม และให้ใช้ความใหม่แทน กับมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ออกมาใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยกเลิกพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่ระวางโทษเท่าเดิม ส่วนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 และ 11 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษฐานเป็นธุระจัดหาหรือล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีและฐานเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีระวางโทษสูงกว่าความผิดฐานดังกล่าวตามพระราชบัญญัติปราบการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 8 และ 9 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดบังคับแก่คดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุกว่า 18 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรก และความผิดฐานเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี ตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 9 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรก อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.