แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องแต่ได้ความว่าโจทก์เป็นภริยาของ ต. จำเลยยกที่พิพาทให้ ต.ไม่ได้ยกให้โจทก์ด้วยหลังจากต. ตายโจทก์ครอบครองที่พิพาทตลอดมา โดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ครอบครอง อย่างเจ้าของโดยเปลี่ยนลักษณะการยึดถือ ถือว่าโจทก์ครอบครอง แทนทายาทของ ต. โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาทและไม่มี อำนาจฟ้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2520 หรือ 2521 โจทก์แต่งงานกับนายต้าหรอด ผิวดำ บุตรของจำเลยโดยมิได้จดทะเบียนสมรส จำเลยยกที่ดินของจำเลยตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1301 หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ให้โจทก์และนายต้าหรอดบางส่วนจำนวนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ โดยมิได้จดทะเบียนโอน โจทก์และนายต้าหรอดเข้าครอบครองทำประโยชน์นับแต่จำเลยยกให้ โดยปลูกยางพาราพันธุ์ดีเต็มเนื้อที่ และสามารถตัดกรีดได้ตั้งแต่ปี 2527กลางปี 2529 นายต้าหรอดถึงแก่กรรม โจทก์คงยึดถือครอบครองตลอดมา วันที่ 16 พฤษภาคม 2531 จำเลยห้ามปรามขัดขวางมิให้โจทก์และบริวารตัดกรีดยางพารา แล้วจำเลยและบริวารเข้าตัดกรีดยางพาราของโจทก์เอาเป็นประโยชน์ของตน ทำให้โจทก์เสียหายเพราะโจทก์ไม่สามารถตัดกรีดน้ำยางซึ่งเคยตัดกรีดได้วันละประมาณ 13 ถึง 17กิโลกรัม โจทก์ขอเรียกร้องวันละ 15 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 25บาท คิดเป็นค่าเสียหายวันละ 375 บาทนับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2531ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 103 วัน เป็นเงิน 38,625 บาท ขอให้พิพากษาว่าที่ดินบางส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้างตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1301หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เนื้อที่10 ไร่ เป็นที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องและให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินเป็นชื่อของโจทก์ตามส่วนที่มีสิทธิ กับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 38,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และค่าเสียหายวันละ 375 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารหยุดตัดกรีดยางในที่ดินดังกล่าว
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินบางส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามน.ส.3 ก. เลขที่ 1301 หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอคลองท่อมจังหวัดกระบี่ จำนวน 10 ไร่ อาณาเขตทิศเหนือจดที่ดินของจำเลยส่วนที่เหลือตาม น.ส.3 ก. ดังกล่าวทิศใต้จดที่ดินของนายยาดี ลูกเหล็มทิศตะวันออกจดควน และทิศตะวันตกจดที่ดินนายสมศักดิ์ โสภณสุขสถิตย์เป็นที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 11,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 100 บาท ทุกวัน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะหยุดตัดกรีดยางในที่ดินของโจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์และนายต้าหรอดบุตรของจำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาเมื่อประมาณปี 2520 หรือ ปี 2521 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรด้วยกัน 3 คน นายต้าหรอดถึงแก่กรรมเมื่อปี 2529และโจทก์มีสามีใหม่เมื่อปี 2530 ทางราชการออกเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.1 เมื่อปี 2522 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์เบิกความว่าจำเลยยกที่ดินพิพาทให้โจทก์และนายต้าหรอดเป็นการกองทุนกันระหว่างบิดามารดาของโจทก์กับนายต้าหรอดเพื่อจะให้เป็นทุนรอนในการทำมาหากินนั้น คงมีแต่โจทก์เพียงปากเดียวเบิกความลอย ๆ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนนอกจากนี้นายยาดี ลูกเหล็มพยานโจทก์ก็เบิกความว่า จำเลยบอกว่ายกที่ดินพิพาทให้นายต้าหรอดไปแล้ว ไม่ได้พูดว่ายกที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วย ซึ่งตรงกับที่จำเลยให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอคลองท่อม ตามเอกสารหมาย จ.6 ว่า จำเลยให้ที่ดินพิพาทแก่บุตรทั้งสามของจำเลยปลูกสวนยางพารา และจำเลยจะแบ่งปันให้ในภายหลัง เฉพาะนายต้าหรอดให้ประมาณ 10 ไร่ จำเลยให้ถ้อยคำเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2531 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะมาฟ้องเป็นคดีนี้ จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและคำเบิกความของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยยกที่ดินพิพาทให้แก่นายต้าหรอดไม่ได้ยกให้โจทก์ด้วย และตามฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าภายหลังนายต้าหรอดถึงแก่กรรม โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แต่ตลอดเวลาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ครอบครองอย่างเจ้าของโดยเปลี่ยนลักษณะการยึดถือแจ้งไปยังจำเลยแล้วแต่ประการใด ดังนั้น โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทนานเท่าใด ก็ถือว่าถือแทนทายาทของนายต้าหรอดโจทก์ไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้”
พิพากษายืน.